คุณอยู่ทีมไหนระหว่างทีม A: ชอบก็จะประหยัดทำไม
หรือทีม B: รัดเข็มขัดไว้เผื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน
หากคุณเลือกอยู่ทีม B ขอแสดงความยินดีด้วยในฐานะ “คนส่วนใหญ่” เมื่อผลสำรวจพบคนรุ่นใหม่ (Gen Z) กว่าครึ่งหรือ 56% ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอที่จะใช้จ่ายใน 3 เดือน ซึ่ง 53% เลือก “หั่นรายจ่าย” แล้วหันมาประหยัดเงินให้มากขึ้น สืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงลิ่วจนไม่อาจการันตีความมั่นคงทางการเงินได้
ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย Bank of America ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน และมีอายุในช่วงวัย 18-26 ปี (young adults) โดย 3 ใน 4 ระบุว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน เช่น ทำอาหารเองที่บ้าน ซื้อเสื้อผ้าน้อยลง เพื่อใช้เงินไปกับของที่จำเป็นมากขึ้น
ว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกำลังเจอกับปัญหาทางการเงิน แบบที่ไม่เหมือนอะไรที่คนในยุคก่อนๆ เคยผ่านมา โดยหนึ่งในต้นตอของปัญหาอาจเป็น “ค่าแรง” อ้างอิงรายงานจากเว็บไซต์ Self Financial ระบุว่าบัณฑิต – นักศึกษาจบใหม่ในยุคปัจจุบันกลับสร้างรายได้ได้น้อยกว่าสมัยพ่อแม่ตัวเอง 10% (แน่นอนว่า “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ) ส่งผลให้กว่า 75% ล้มเหลวด้านการเงินในปีที่แล้ว ทั้งขาดเงินเก็บและยิ่งไปกว่าคือต้องหาเงินมา “ใช้หนี้” มากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวกำลังแผ่ขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
ตามรายงานจาก Deloitte ที่คน Gen Z จำนวน 14,500 รายใน 44 ประเทศทั่วโลก พบว่าการใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน” คือปัญหาหลักซึ่งเกือบครึ่งต้องกัดฟันพาตัวเองรับงานเสริมมากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยความสามารถในการปรับตัวทำให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะจัดการได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยพวกเขาแสดงออกถึงความมั่นใจว่าทำได้ใน “ระยะสั้น” แต่กับ “ระยะยาว” นั้นยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดจากผลสำรวจในครั้งนี้คือความสามารถในการสร้าง “ความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียน” ไม่ว่าจะโดยการเก็บออม หรือวางแผนการลงทุนต่างๆ ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ “ไม่ค่อยมั่นใจ” ในเรื่องนี้
จากข้อมูลผลสำรวจที่ชี้ถึงปัญหาด้านการเงินอันเกิดจากค่าใช้จ่าย ค่าแรง รวมถึงค่าครองชีพซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงอนาคตข้างหน้า บางที่นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เราต้องกลับมาคิดทบทวนว่าหากมองจากความจริงที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้แล้วเราจะสามารถมีชีวิตที่มั่นคงหลังเกษียนได้หรือไม่ และสุดท้ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ตกงานกระทันหัน คุณมีเงินสำรองเพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือนแล้วหรือยัง
ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหาโอกาสใหม่ที่ช่วยให้ความมั่นคงมากขึ้น: คลิก
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม:
Skills over school! บริษัทใหญ่เปลี่ยนเกณฑ์ เน้นรับสมัครโดยคัดจาก “ทักษะ” มากกว่าวุฒิศึกษา
5 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการต่อรอง Job offer ก่อนตกลงเริ่มงาน
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/47xpRp1
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment