เคยทำงานไปแล้วรู้สึกเหมือนกับตัวเอง “ย่ำอยู่กับที่” ไหม?
ไม่ว่าจะทำงานหนัก รีดเค้นผลงานให้ออกมาดีแค่ไหน เป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนร่วมงานในบริษัทอย่างไร
แต่ก็ยังไม่ได้รับการโปรโมตให้ “เลื่อนขั้น” สักที
เมื่อ “ผลงาน” ที่ทำมาตลอดได้รับการพิสูจน์ แถมไม่เคยมีปัญหาใดๆ ในการประเมินประจำปี รวมถึงได้รับคำชมจากคนรอบตัวอยู่เสมอๆ ดังนั้นถ้ามั่นใจจริงๆ ว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดไปก็แปลว่าต้องมีบางอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึงเกิดขึ้น อย่างเช่นสถานการณ์ Career Blocking เมื่อหัวหน้าคอยเก็บเราให้อยู่ภายใต้ “เงา” ของตัวเองเนื่องจากทำงานดีเกินจนกลัวจะเสียเราไปในอนาคต
โดยทั่วไปเมื่อหัวหน้าเล็งเห็นถึงศักยภาพของเราในฐานะ “แกนหลัก” ที่สำคัญต่อผลงานทีม ณ ปัจจุบัน ก็มักจะให้การสนับสนุน พัฒนาให้เติบโตขึ้นไปเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่กับคนที่มีลักษณะแบบ Career Blocker ซึ่งมีความคิดที่ว่าถ้าขาดคนเก่งไป ทีมอาจจะมีปัญหาจนไม่อยากให้เติบโตหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะเมื่อเดอะแบกจากไป ใครจะทำงาน
สำหรับคนทำงานสิ่งที่ต้องระวังจากการถูกปิดกั้นโอกาสเป็นเวลานานคือความคิดที่ “ด้อยค่าตัวเอง” ว่าทำดีแค่ไหนก็ยังไม่พอ ขาดแรงจูงใจในการทำงานและหมดไฟไปในที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ถือว่าอันตรายต่ออนาคตมากๆ เพราะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ การเติบโต การสร้างคอนเนกชันใหม่ๆ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตการทำงานและการก้าวต่อไปข้างหน้า ซึ่งทำให้คนจำนวนมาก “ไม่มีความสุข” กับที่ทำงาน
เพิ่มเติมจาก Harvard Business Review ที่ได้พูดถึงสถานการณ์ความคับข้องใจของคนทำงานอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจไม่ดี การปลดพนักงานครั้งใหญ่ ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดงานที่ซบเซา และการเข้ามาของ AI จนเกิดเป็นความกังวลถึงความมั่นในอาชีพ ณ ปัจจุบัน โดยตัวเลขอัตราความ “ไม่พึงพอใจ” ต่องานในปี 2023 (อ้างอิง State of the Global Workplace จาก gallup) พุ่งสูงเป็นประวัติกาลเมื่อ 60% ของคนทำงานรู้สึก “ถอดใจ” และ 50% ระบุว่าเผชิญกับความเครียดทุกวันในที่ทำงาน
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องระวังอาจไม่ได้อยู่นอกออฟฟิศเพียงอย่างเดียว
แต่คนใกล้ตัวอย่าง “หัวหน้า” หรือ “เพื่อนร่วมงานบางคน” ก็ไม่ควรละเลยและปล่อยให้สะสมโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
ควรทำอย่างไรหากพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว
หากเราพบว่าตัวเองถึงจุดที่ทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ลำดับถัดมาคือหาทางเลือกเพื่อหนีออกมาจากจุดนั้นไม่ว่าจะเป็นการ “หางานใหม่” หรือ “ลาออก” แต่ถ้ายังรู้สึกว่าตัวเองยังไปต่อได้กับที่แห่งนี้แล้วใจนิ่งพอจะรายงานคนที่มีอำนาจให้มาดูแลปัญหา สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก็คือ “ผลงาน” ที่วัดผลได้ สามารถสร้างอิมแพคให้กับทีมและองค์กรได้จริง
สิ่งสำคัญคือต้องรู้จัก “คุณค่า” ของตัวเอง อันดับแรกต้องตอบให้ได้ว่าจุดเด่นของเราคืออะไร สิ่งไหนที่ไม่มีใครสามารถทำแทนเราได้ เพิ่มเติมด้วยการวางแผนการเติบโตในระยะยาว เมื่อเรามีความต้องการที่จะก้าวหน้ามากขึ้นก็ไม่ควรเป็นอะไรที่มาจากปากเปล่าเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการคิดวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้อีกฝ่ายพิจารณาว่าเราเหมาะสมแล้วจริงๆ หรือยัง และสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการใช้อารมณ์นำเหตุผล กับการ “เคลมผลงาน” ของคนอื่นหรือของส่วนรวมมาเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หากคุยแล้วไม่พบว่าจะมีอะไรดีขึ้นก็คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้ว ว่าสิ่งที่เราเห็นกับการรับรู้ในมุมมองของบริษัทนั้นอาจจะต่างกัน ดังนั้นก็อาจถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เราจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองบ้าง
หนีจากหัวหน้าจอมบล็อค ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น: คลิก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
สำรวจไทป์ความเป็นผู้นำ 6 รูปแบบในที่ทำงาน
สัมภาษณ์งานยังไงก็ได้งาน! เพียงรู้จัก 3 หัวใจสำคัญต่อไปนี้
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3GmravK
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment