ประเภทงานด้านเทคโนโลยี หรือบางคนอาจเรียกว่า Tech Industry เป็นหนึ่งในสายงานที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันมากๆ เนื่องจากเป็นที่ต้องการสูง และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ และหากพูดถึงอาชีพสาย Tech ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เราก็คงคุ้นกับตำแหน่งงาน Software Engineer, Programmer หรือ Developer แต่รู้หรือไม่ว่าตำแหน่งงานเหล่านี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะหากมองจากรายละเอียดงานก็อาจจะดูคล้ายๆ กัน แต่ทำไมบางตำแหน่งกลับได้เงินฐานเดือนสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ลองไปทำความเข้าใจกันมากขึ้นในแต่ละประเด็นตั้งแต่ลักษณะงาน ความเชี่ยวชาญ และทักษะที่ต้องใช้พร้อมๆ กันได้ในบทความนี้เลยครับ
1) วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer)
วิศวกรซอฟต์แวร์ จำกัดอยู่ในกลุ่มของศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์โดยนำเอาหลักวิศวกรรมและการเขียนโค้ดมาวางแผนสร้างระบบ มีความเข้าใจและรับผิดชอบดูแลโปรเจกต์ใน ‘ภาพรวมทั้งหมด’
ตั้งแต่เลือกภาษาคอมพิวเตอร์ที่เหมาะกับการเขียนโค้ด ตีความวัตถุประสงค์การใช้งานของแอปพลิเคชัน ออกแบบการใช้งาน ทดสอบการทำงาน และวิธีบำรุงรักษาระบบ มีความเข้าใจเชิงลึกถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เครื่องมือบริหารงานเชิงธุรกิจ ระบบปฏิบัติการ ระบบควบคุมเครือข่ายเน็ตเวิร์ก เป็นต้น
กลุ่มสายงาน
ถ้าคุณพบว่าตัวเองสนุกกับการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต รวมถึงชอบพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น อาชีพ Software Engineer อาจเป็นหนึ่งในอาชีพที่เหมาะกับคุณ โดยมีเส้นทางให้เลือก 2 เส้นทางได้แก่
System Engineer มีหน้าที่สร้างระบบคอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์คที่แอปพลิเคชันต่างๆ จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน ตรวจสอบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มต่างๆ ดูแลข้อมูลเอกสารทั้งหลายของระบบไอที สร้างมาตรฐานและข้อบังคับให้สอดคล้องกันภายในเครือข่าย อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ รวมถึงทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละโปรเจกต
Application Developer เนื้องานจะเน้นที่ปลายทางหรือ ‘ลูกค้า’ เป็นหลัก ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งในส่วนของเบื้องหน้า (Frontend) และเบื้องหลัง (Backend) โดยออกแบบซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามาใช้งานด้วย เช่น แอปพลิเคชันสำหรับ iOS, Android, Windows หรือระบบปฏิบัติการอื่นๆ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อกำหนดและปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้เหมาะสม คอยอัปเดตเวอร์ชันซอฟต์แวร์ให้กับผู้ใช้งาน และทำงานร่วมกับทีมฝ่ายผลิตที่เกี่ยวข้อง เช่น Graphic designer ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (Customer service) หรือฝ่ายขายที่ต้องพบปะลูกค้า
ฐานเงินเดือน อ้างอิงจากสำนักงานสถิติการจ้างงานสหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนของ Software Engineer อยู่ที่ 124,000 U$D ต่อปี
2) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Developer)
หากเปรียบแอปพลิกเคชันหรือโปรแกรมเป็นสินค้า Developer ก็คือ ‘ผู้ผลิต’ ที่ไม่จำเป็นต้องลงมือเขียนโค้ดเองทั้งหมด เพราะเป้าหมายการทำงานที่สำคัญที่สุดของ Developer คือโปรแกรมที่ดูแลนั้นต้องสามารถใช้งานได้ตามที่วางแผนไว้ เช่น ฟังก์ต่างๆ ชันทำงานได้ดี ไม่มีช่องโหว่ข้อผิดพลาดในระบบ
ดังนั้นหน้าที่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่แค่การเขียนโค้ดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องช่วยคิด วางแผน ออกแบบ และปรับปรุงร่วมกับทีมอื่นๆ นอกจากความสามารถเชิงเทคนิคแล้วจึงต้องมีทักษะการสื่อสารประกอบกับความรู้เชิงธุรกิจด้วยเช่นกัน
กลุ่มสายงาน
Mobile Developer ออกแบบแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่มีไว้สำหรับทำงานบนอุปกรณ์มือถือ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแทปเลท
Full-Stack Developer มีความเข้าใจทั้งวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริหารงานทั้งในส่วนของ Frontend และ backend ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถช่วยออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน รวมถึงการเขียนโค้ดของระบบเพื่อให้โปรแกรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
UX/UI Developer โฟกัสที่ประสบการณ์ที่ User ได้รับจากการใช้งานหน้าเว็บหรือแอปพลิเคชันต่างๆ จึงมีหน้าที่ออกแบบระบบซอฟต์แวร์ให้สามารถใช้งานได้ง่าย รวมถึงทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อหาแนวทางพัฒนาต่อ
ฐานเงินเดือน อ้างอิงจากสำนักสถิติการจ้างงานสหรัฐฯ (BLS) ค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนอยู่ที่ 110,000 U$D ต่อปี
3) โปรแกรมเมอร์ (Programmer)
โปรแกรมเมอร์มักจะมีขอบเขตงานที่แคบกว่า Developer ลักษณะงานคือการพัฒนาโปรแกรม ‘เฉพาะส่วน’ ทำงานด้วยความชำนาญด้านการเขียนโค้ดเป็นหลัก หรือพูดภาษาง่ายๆ ก็คือฝ่าย ‘ปฏิบัติ’ ที่เอางานมาทำต่อโดยมี Developer เป็นคนออกแบบโครงสร้างขึ้นมาให้ก่อน ดังนั้นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์คือนำเอาชุดคำสั่ง (โค้ด) มาเขียนให้โปรแกรมสามารถทำงานได้จริง รวมถึงทดสอบการทำงานของระบบและระบุข้อผิดพลาดให้โปรแกรมทำงานได้อย่างราบรื่น
กลุ่มสายงาน
Application Programmer ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะด้านให้เกิดผลสำเร็จ เช่น โปรแกรมวิเคราะห์และคำนวนที่ใช้ในสถานบันการเงิน
System Programmer เชี่ยวชาญในซอฟต์แวร์ที่ทำงานสำหรับดูแลรักษาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบฐานข้อมูล ระบบปฏิบัติการ
Game Programmer เขียนโค้ดฟังก์ชันการทำงานของเกมทั้งในรูปแบบเกมคอนโซล เว็บไซต์ หรือชนิดอื่นๆ
ฐานเงินเดือน ค่าเฉลี่ยจากสำนักสถิติการจ้างงานสหรัฐฯ (BLS) อยู่ที่ราว 56,000 U$D ต่อปี
โดยสรุป
แม้ลักษณะงานจะมีความทับซ้อนกันในบางแง่มุม แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘ขอบเขตการมีส่วนร่วม’ ในแต่ขั้นตอน เราจะเห็นว่า Software Engineer รับหน้าที่ดูแลภาพกว้างตั้งแต่ต้นจนจบโดยมี Developer เข้ามามีส่วนร่วมระหว่างทางในด้านการวางระบบ จากนั้น Programmer จึงรับช่วงต่อในการนำไกด์ไลน์หรือโครงสร้างที่วางไว้ไปเขียนคำสั่งโค้ดให้ซอฟต์แวร์เหล่านั้นสามารถทำงานได้
อย่างไรก็ตามในบางบริษัทตำแหน่งงานเหล่านี้อาจถูกเรียกแทนกันได้ ดังนั้นก่อนที่จะสมัครก็อย่าลืมศึกษารายละเอียด Job description ให้ละเอียดจะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดหลังจากที่เริ่มงานไปแล้ว
ต้องบอกว่าอาชีพสาย Tech ที่เราได้หยิบยกมาพูดถึงในบทความนี้กำลังเป็นที่ร้อนแรงในโลกยุคปัจจุบันจริงๆ
สามารถฝากโปรไฟล์กับ Reeracoen Thailand และค้นหาตำแหน่งงานสาย Tech ที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ
แหล่งที่มาข้อมูล:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment #SoftwareEngineer #Developer #Programmer