คุณคิดว่าตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี สื่อสารชัดเจน เข้าใจ ตรงประเด็น
เน้น “เนื้อ” ในทุกๆ การสัมภาษณ์งานที่เคยผ่านมา
หรือบางครั้งก็ดี บางครั้งก็ออกทะเลแล้วแต่ “วัน” ว่าจะออกมาในท่าไหน
เราอาจคิดว่าบางครั้งสาเหตุที่ล้มเหลวเป็นเพราะเรื่องของการเตรียมตัว
ปฏิกริยาท่าทางของผู้สัมภาษณ์ รวมถึงบรรยากาศที่ชวนประหม่าจนทำได้ไม่ดีในการสัมภาษณ์
สิ่งเหล่านี้ก็อาจใช่ในฐานะส่วนหนึ่ง แต่ยังมีอีกส่วนที่เกิดจาก “ทักษะการสื่อสาร”
ซึ่งทำให้เราทั้งเล่าเรื่องได้ไม่ดีโดยเฉพาะเมื่อเจอคำถามยากๆ
ที่ต้องอาศัยรายละเอียดเพื่อความเข้าใจจนทำให้เราเริ่มจะอธิบายแบบออกทะเล
เราสามารถแก้ปัญหาด้วยหลัก S.T.A.R ที่ช่วยกำหนด “โครงสร้างการตอบคำถาม”
ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนที่พูดไม่เก่งสามารถตอบคำถามได้อย่างดีและตรงประเด็นมากที่สุด
โดยหลัก S.T.A.R มาจาก 4 ตัวอักษรได้แก่
S: Situation (สถานการณ์)
T: Task (หน้าที่ที่รับผิดชอบ)
A: Action (ทำวิธีไหน อย่างไร)
R: Result (ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น)
เนื่องจากส่วนมากผู้สัมภาษณ์มักถามถึง “เหตุการณ์” หรือ “สถานการณ์” จากประสบการณ์ของเรา
ดังนั้นการตอบคำถามให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบจึงต้องมีทั้งตัวอย่างสถานการณ์ หน้าที่ความรับผิดชอบ
วิธีที่เราตัดสินใจทำ รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ เช่น เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า
“งานไหนที่คุณทำแล้วภาคภูมิใจมากที่สุด”
เมื่อถูกถามลักษณะนี้เราก็ควรตอบได้ทุกมิติทั้ง งานไหน-ทำอะไร-ทำไม-ผลลัพธ์ที่ได้
ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายได้คำตอบที่ทั้งตรงประเด็น ครบถ้วน และสนใจในผลงานของเรามากขึ้น
นอกจากนี้เมื่อมีข้อมูลมากพอ อีกฝ่ายยังทำการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเราเหมาะกับตำแหน่งงานนี้แค่ไหน
โดย 4 ขั้นตอนต่อไปนี้จะเป็นการนำหลัก S.T.A.R มาปรับใช้ ด้วยตัวอย่างคำถามว่า
“โปรดเล่าถึงความสำเร็จที่ตอนแรกคิดว่ายากเกินตัว”
1) เลือก Situation ที่น่าสนใจ
เราไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่างให้อีกฝ่ายรู้เพียงแต่ต้องนำเสนอ “เรื่องที่น่าสนใจมากที่สุด”
รวมถึงเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ให้ได้มากที่สุด
2) พูดถึง “หน้าที่สำคัญ” ให้ชัด
โดยเฉพาะเมื่อเรามีส่วนสำคัญในโปรเจกต์นั้นๆ ซึ่งคำตอบในข้อนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์มองเห็น
ว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้หรือไม่ ขั้นตอนนี้จะเป็นการอธิบายแบบ “ภาพรวม” ยังไม่ลงลึกถึงรายละเอียดที่ทำจริงๆ
3) เล่าถึงรายละเอียดหน้างาน
เมื่ออีกฝ่ายเข้าใจถึงความต้องการและหน้าที่รับผิดชอบของเราแล้ว
ถึงเวลาเล่าถึงรายละเอียดหน้างานที่เราทำแล้วสามารถ “บรรลุเป้าหมาย” หรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริง
กุญแจสำคัญคือเน้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมีขั้นตอนที่สามารถชี้วัดจับต้องได้
4) ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
จุดนี้ถือได้ว่าสำคัญมากที่สุดในบรรดาทั้งหมด 4 ตัวอักษร
เนื่องจากในมุมมองของผู้สัมภาษณ์อาจไม่ได้สนใจว่า “เราทำอะไร” แต่สนใจอย่างยิ่งว่าทำแล้ว “ได้อะไรกลับมา”
ดังนั้นเราต้องตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงที่เราสร้างซึ่งสำคัญคือต้องชี้วัดได้ และ “ตัวเลข” สำคัญเสมอ
รวมถึงควรอธิบายผลในระยะยาวที่เกิดขึ้นด้วย
เมื่อนำทั้ง 4 ขั้นตอนมารวมกันก็จะได้เป็นโครงสร้างการตอบคำถามดังนี้
“ณ ขณะนั้นบริษัทมีเป้าหมายต้องการ__ในฐานะฝ่าย___จึงมีหน้าที่รับผิดชอบด้าน___ภายในระยะเวลา____
จากโจทย์ที่ได้รับจึงเริ่มจาก___แล้วพบว่ามีทางเลือก___ จึงนำไปปรึกษากับทีมและได้นำโปรเจกต์___ เพื่อ___
โดยผลลัพธ์คือ___ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงเรื่อง___ภายในระยะเวลา___บรรลุเป้าหมาย__%”
4 ขั้นตอนนี้เป็นเพียงแนวทางที่ช่วยให้เราสื่อสารตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็นและไม่ออกทะเล
แต่การจะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจและมองเรา “ดีที่สุด” ยังต้องอาศัยทักษะรวมถึงปัจจัยๆ อื่นๆ พิจารณาควบคู่อีกมาก
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาตัวเองเพิ่มทักษะการสัมภาษณ์งาน เรียนรู้ทริคการสมัครงาน
ก็อย่าลืมติดตามและฝากโปรไฟล์ไว้กับ Reeracoen Recruitment Thailand ด้วยนะครับ
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment
อ่านบทความเพิ่มเติมที่:
ทำไมเมื่อคนเรา “ได้ดี” แล้วมักจะมีนิสัยเปลี่ยนไป
เทคนิคเสริมความมั่นใจก่อนสัมภาษณ์งานฉบับ Introvert
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3N6qBdH
#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand #Recruitment
#Jobinterview #Tips