อีกแค่ 2 วันก็จะหมดเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ก่อนอื่นขอใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับ “โบนัสก้อนโต” ที่เพื่อนๆ น่าจะได้รับกันเป็นรางวัลแห่งความทุ่มเท แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากโบนัสจะเป็นเป้าหมายของมนุษย์เงินเดือนแล้ว ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็น ‘เครื่องมือ’ ทรงประสิทธิภาพต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง และมีไว้คอย ‘ซื้อใจพนักงาน’ ให้ทำงานกับบริษัทไปนานๆ โดยเฉพาะป้องกันการดึงตัวพนักงานจากคู่แข่งทางธุรกิจ รวมถึงสามารถเปลี่ยนคนที่หมดใจ ให้มีไฟขึ้นมาอีกครั้ง และกลยุทธ์นี้มีชื่อเรียกในภาษาสากลว่า Retention Bonus
คนที่มีแผน ‘ย้ายงาน’ เตรียมไว้ก่อนแล้วอาจกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องคิดหนักเป็นพิเศษ
เมื่อต้องเลือกระหว่างอยู่ต่อเพื่อรับโบนัสเป็นเงินก้อนใหญ่กับยอมทิ้งเงินก้อนโต แล้วไปหางานใหม่ที่ตรงใจมากขึ้น
ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนยังคิดไม่ตกกันในทุกๆ ปีและยังหาคำตอบสุดท้ายให้ตัวเองกันไม่ได้สักที
Reeracoen Thailand ได้นำปัจจัยที่ต้องพิจารณามาเป็นแนวทางสำหรับประกอบการตัดสินใจดังนี้
เริ่มกันที่แนวคิดว่าทำไมเราควรอยู่รับโบนัสก่อนค่อยย้ายงาน
1) เป็นสิทธิที่พึงได้รับ
ในเมื่อเราตั้งใจทำงานอย่างหนักมาตลอดปีก็ควรอยู่รอรับรางวัลที่หวังไว้ให้กระชุ่มกระชวยใจก่อน
แล้วหลังจากนั้นจะหางานใหม่ก็คงยังไม่สายเกินไปแถมถ้าทำผลงานได้ดีก็มีโอกาสขึ้นเงินเดือนเช่นกัน
2) ปักหลักทำงานที่เดียวนานๆ ยิ่งมีแต่ได้กับได้
องค์กรต่างๆ มักจะมีกลยุทธ์รักษาพนักงานหลายวิธี เช่น การเสนอ Retention Bonus อย่างสม่ำเสมอ
หรือบางทีอาจให้สิทธิลาพักร้อนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะมอบให้แก่พนักงานอาวุโสที่มีชั่วโมงการทำงานสูงๆ
เป็นการตอบแทนต่อความภักดีที่มอบให้บริษัท ทำให้เราได้รับสิทธิพิเศษที่อาจจะหาไม่ได้จากที่อื่น
3) เงินก้อนใหญ่ สามารถนำมาใช้เป็นทุนตั้งต้น
แม้ความถี่ในการจ่ายจะสู้แบบฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ แต่ด้วยจำนวนตัวเลขก้อนใหญ่ที่ได้รับทันที
ก็สามารถทำให้เรามีเงินทุนไว้หมุนเวียนได้คล่องกว่า ไม่ว่าจะลงทุน หรือเอาไปใช้ต่อยอดทำธุรกิจส่วนตัว
4) เป็นสัญญาณที่แสดงถึงความมีคุณค่า
ตามกฎหมายแล้วโบนัสไม่ใช่สิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องจ่าย หรือแม้แต่ในบริษัทที่มีนโยบายที่อาจจะแจกทุกคน
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ใน ‘อัตราที่เท่ากัน’ ดังนั้นหากเราเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนพิเศษนี้
ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเรามีคุณค่ามากพอในองค์กรและมีแนวโน้มที่จะได้โอกาสเติบโตต่อไป
ในอีกมุมหนึ่ง กับสาเหตุที่ทำไมบางคนยอมตัดใจทิ้งโบนัส
1) ความรู้สึก “ผูกมัด” จากการโบนัสก้อนใหญ่
Retention Bonus มักจะจ่ายให้กับพนักงานในฐานะ ‘ผลตอบแทน’ ของผลงานและความขยัน
แต่รางวัลก้อนโต ก็มาพร้อมกับความคาดหวังชิ้นใหญ่ขององค์กรด้วยเช่นกัน
ซึ่งจิตใต้สำนึกจะบอกให้เราทำผลงานให้ดีเป็นการตอบแทน
รวมถึงบางองค์กรอาจมีเงื่อนไขสำหรับพนักงานที่รับโบนัสจะไม่สามารถย้ายงานได้ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
ทำให้เมื่อมีโอกาสงานใหม่ติดต่อเข้ามาในช่วงเวลานั้นๆ เราก็จะมีพันธะผูกมัดและพลาดโอกาสดังกล่าวทันที
ดังนั้นจึงควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตอบตกลง
2) จำนวนเต็มดูเยอะ แต่หักภาษีแล้วคุ้มจริงไหม
โดยทั่วไปโบนัสจะคำนวนมาจาก ‘ผลงาน’ ที่ผ่านมา
ยิ่งสร้างคุณค่าให้องค์กรได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้โบนัสมากขึ้น เช่น เงินเดือน 1-3 เดือน
หรือบางอุตสาหกรรมอาจว่ากันที่ ‘ครึ่งปี’ ซึ่งก็คือเงินจำนวนหลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสนสบายๆ
นับเป็นตัวเลขที่หรูหรา ล่อใจให้ตอบรับได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนของการ ‘หักภาษี’
ด้วยสัดส่วนตามขั้นบันไดที่คำนวนออกมาแล้วอาจทำให้บางคนต้องเสียดายไม่น้อย
3) ถ้าอนาคตบริษัทจ่ายไม่ไหว จะทำอย่างไร?
เป้าหมายหลักของ Retention Bonus คือการซื้อใจ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือ
ยิ่งเวลาผ่านไป มูลค่าของตัวเราก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามฐานเงินเดือน
และวันหนึ่งหากองค์กรจ่ายไม่ไหว ไม่สามารถรั้งไว้ได้อีกต่อไป
วันนั้นเราก็จำเป็นต้องเสี่ยงออกไปหางานใหม่อยู่ดี แถมไม่มีอะไรการันตีว่าจะมีบริษัทไหนที่ ‘สู้ราคาไหว’
แล้วจุดหมายปลายทางของสถานีถัดไปจะเป็นอย่างไร
4) บางอย่างอาจมีค่ามากกว่าเงิน
แม้ว่าเงินเป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกคำตอบของชีวิตการทำงาน
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นกรณีคนรอบตัวที่แม้จะได้เงินดีแค่ไหน ก็ทำงานแบบไม่มีความสุข
เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ตัวเองให้คุณค่า
ในโลกใบนี้ เงินอาจซื้อได้ทุกอย่างที่มีป้ายราคาติดไว้ แต่สำหรับบางคนสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่านั้นคือคำว่า ‘แพชชัน’ ที่สุดท้ายแล้วจะมีเงินมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถซื้อได้อย่าง “ความสุขในการทำงาน” และคุณค่าที่เราสร้าง เพราะโอกาสและเวลา คือสองสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับ
แล้วสำหรับคุณอะไรสำคัญกว่ากัน?
ฝากโปรไฟล์ไว้กับ Reeracoen Recruitment
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
สำรวจ 4 Personality ของคนทำงานในการสัมภาษณ์
กฎสามข้อของการโชว์ “ทักษะการทำงานเป็นทีม” ในการสัมภาษณ์งาน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenThailand #ReeracoenRecruitment #Bonus #Career #Retention