Hidden Job Market ตำแหน่งงานลับที่ไม่ได้มีไว้สำหรับคนทั่วไป
เคยสังเกตไหมว่าทำไมบางครั้งเมื่อถูกติดต่อเข้ามาแนะนำตำแหน่งงานแล้วพอสนใจอยากลองศึกษาเพิ่มเติมกลับ “ไม่พบข้อมูล” การรับสมัคร หรือแม้แต่อยากได้งานดีๆ ในบริษัทที่มั่นคงก็กลับหาไม่เจอ ไม่ว่าจะหาจากกี่เว็บไซต์ประกาศงานหรือแม้แต่ติดต่อบริษัทเข้าไปโดยตรง ทั้งนี้เพราะงานบางตำแหน่งนั้นเป็นการรับสมัครแบบลับๆ และจะไม่มีประกาศให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ แต่จะเน้นติดต่อเข้าหาเป้าหมายโดยตรงเพื่อไม่ให้คู่แข่งทางธุรกิจรู้ว่าบริษัทกำลังดำเนินการอะไร ซึ่งลักษณะของตำแหน่งงานเช่นนี้เรียกว่า Hidden Job Market โดยบทความนี้ Reeracoen Thailand จะพาไปทำความเข้าใจพร้อมวิธีว่าทำอย่างไรเราจะสามารถเข้าถึงงานเหล่านี้ได้
Hidden Job Market คืออะไร
หมายถึงตำแหน่งงานว่างที่ไม่ได้มีการโปรโมตหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะให้คนทั่วไปได้ยื่นใบสมัครเข้ามา ซึ่งข้อดีคือทั้ง “ประหยัดต้นทุน” และ “รักษาเวลา” เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินซื้อพื้นที่สื่ออย่างเว็บประกาศงานที่ไม่การันตีว่าจะได้ผู้สมัครที่คุณสมบัติตรงความต้องการ และฝ่าย HR ไม่ต้องเสียเวลาสกรีนคนจำนวนมหาศาล รวมถึงเหตุผลอื่นๆ อาทิ
- ปิดเป็นความลับจากพนักงานคนปัจจุบัน
- เป็นตำแหน่งงานใหม่ที่บริษัทยังไม่พร้อมประกาศ
- มีลิสต์รายชื่อผู้สมัครที่คัดเลือกไว้พอสมควรแล้ว
- ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากกับคนจำนวนมาก
นอกเหนือจากเหตุผลด้านกระบวนการที่สะดวกกว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือบริษัทไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลเพราะอาจเสี่ยงถูกคู่แข่งนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจและกลายมาเป็นความเสียหายต่อองค์กรในภายหลัง
ทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานเหล่านี้ได้?
การจะเข้าถึงตำแหน่งงานที่ไม่มีข้อมูลให้เข้าถึงก็จำเป็นต้องอาศัย “คอนเนกชัน” และกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างโอกาสที่แม้แต่ตัวเราเองก็มองไม่เห็น ซึ่ง Reeracoen Thailand ได้สรุปมาให้ดังนี้ครับ
1) ทำ Short list รายชื่อบริษัทและจำกัดกลุ่มเป้าหมาย
กรณีที่ต้องการเข้าถึงงานลักษณะนี้อาจต้องยึดหลักการ “น้อยแต่มาก” (less is more) ด้วยการทำ Short list รายชื่อบริษัทที่อยากทำงานด้วยเพื่อจำกัดการค้นหาให้แคบลงและได้งานที่ตรงโจทย์มากขึ้น
จากนั้นลองนึกว่าใครคือผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจในบริษัทใครที่น่าจะเป็น “ว่าที่หัวหน้างาน” ของเราในอนาคต รวมถึงรายชื่อทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพเพราะวิธีดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงช่องทางติดต่อ เช่น Linkedin ของบุคคลเป้าหมายเหล่านั้นโดยตรง
การมีเป้าหมายความสนใจที่ชัดเจนตั้งแต่แรกช่วยให้เราสามารถสร้างคอนเนกชันที่ “ลึกซึ้ง” มากขึ้น ซึ่งเมื่อโอกาสเข้ามาเราก็มีสิทธิเป็นคนที่บริษัทจะพิจารณาเนื่องจากนายจ้างมักจะมองหาผู้สมัครที่ “มีใจ” หรือก็คือนอกจากคุณสมบัติที่โดดเด่นแล้วยังต้องมีแพชชันในการทำงานที่แรงกล้าด้วย ที่สำคัญคือแม้ว่าบริษัทจะยังไม่มีตำแหน่งว่าง ณ ตอนนี้ แต่ก็ไม่ควรทิ้งคอนเนกชันที่เราได้สร้างไว้ไปเปล่าๆ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตเมื่อมีแผนขยายทีมเพิ่มเติมหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมองหาพนักงานใหม่ เราก็สามารถเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่นายจ้างจะติดต่อมาได้เช่นกัน
2) เข้าร่วมสัมนา ออกงานสังคมในฐานะมืออาชีพ
การเข้าสังคมในฐานะมืออาชีพด้านการทำงานอาจฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัวและกดดันสำหรับบางคน แต่การสร้างคอนเนกชันผ่านเครือข่ายที่แข็งแรง โดยสิ่งสำคัญอย่าลืมหาโอกาสทำตัวเองให้เป็นที่จดจำ นำเสนอจุดเด่นและความเชี่ยวชาญของเราด้วยการขายของที่ “ตรงโจทย์” ขององค์กร ซึ่งอันดับแรกเราควรตอบได้ว่าบริษัทเป้าหมายกำลังต้องการอะไร แล้วเราจะช่วยเหลือได้อย่างไร
ท้ายที่สุดอย่าลืมระบุความต้องการในปัจจุบันรวมถึงอนาคตให้ชัดว่ามีความยินดีอย่างยิ่งหากในอนาคตจะมีโอกาสได้ร่วมงานกัน เพื่อทำให้เมื่อไรที่นายจ้างกำลังต้องการใครสักคนเราจะเป็นคนคนคนนั้นที่บริษัทต้องติดต่อเข้ามาหา
3) เชื่อมต่อกับ Recruiter มืออาชีพ
อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าลักษณะของตลาดงานนี้จะไม่มีการประกาศรับสมัครหรือโปรโมตบนพื้นที่สื่อทั่วไป และด้วยความต้องการมองหาผู้สมัครที่ตอบโจทย์มากที่สุด ทำให้อีกหนึ่งทางเลือกที่หลายบริษัทเลือกใช้ก็คือ Recruitment Agency หรือบริษัทจัดหางานที่ทำหน้าที่แทน HR ภายในองค์กรทั้งการสกรีนผู้สมัคร คัดกรองเบื้องต้นผ่านการสัมภาษณ์ ตรวจสอบคุณสมบัติ เจรจาตกลงความคาดหวังก่อนเริ่มงานและอื่นๆ ตลอดกระบวนการรับสมัครงานตั้งแต่ต้นจนจบ
ดังนั้นผู้สมัครที่มีโปรไฟล์ในฐานข้อมูลของ Recruitment Agency มักจะได้รับการแนะนำตำแหน่งงานในลักษณะนี้มากกว่าตอนยื่นด้วยตัวเอง รวมถึงสำเร็จมากขึ้นด้วยความช่วยเหลือจาก Recruiter มืออาชีพอีกด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมที่:
4 ข้อผิดพลาดบนใบสมัครที่อาจทำให้เราโดน “คัดออก” ตั้งแต่แรก
เหตุผลที่การหางานผ่าน Recruitment Agency มักมีโอกาสสำเร็จมากกว่าสมัครด้วยตัวเอง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: