88% ของ HR ที่ทำงานด้านการตัดสินใจจ้างงานเชื่อว่าในปี 2023 นี้ หลากหลายสายงานจะพบกับความท้าทายที่ยากลำบาก ไม่แพ้ปี 2022 หรืออาจถึงขั้น “ยากกว่า” เพราะไม่เพียงแต่ต้องพยายามดึงตัวหัวกะทิเข้าสู่บริษัท ยังรวมถึงคอยป้องกันไม่ให้พนักงานในปัจจุบัน “ลาออก” ด้วย
การลดจำนวนคนลาออกและรั้งให้พนักงานอยู่นานๆ ไม่เพียงทำให้บริษัทดำเนินงานได้แบบต่อเนื่อง แต่ยังลดการใช้ทรัพยากรบุคคล เงิน และเวลาที่ต้องใช้ลงทุนไปกับกระบวนการหาคนมาแทนที่ แถมหลังจากรับเข้ามาแล้วยังต้องใช้เวลาเรียนรู้ สอนงาน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งบางบริษัท บางตำแหน่งงานอาจรอไม่ได้
ดังนั้นหากจะประสบความสำเร็จในการรักษาพนักงาน องค์กรต้องมีความเข้าใจ “ความต้องการ” ของคนทำงานว่ากำลังมองหาอะไร สิ่งไหนที่ดึงดูดใจ ซึ่งจากผลสำรวจจาก jobvite ในช่วงท้ายปี 2022 พบ 8 สาเหตุหลักที่ทำให้คนลาออกจากงานดังนี้
1) ต้องการผลตอบแทนมากขึ้น
พิจารณาจากสถานการณ์ทางการเงินทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจผันผวน เงินเฟ้อพุ่งสูงมาตลอดปี คงไม่แปลกที่หลายคนจะอยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม ทำให้เงินกลายเป็นแรงจูงใจหลักของการหางานใหม่
2) สามารถทำงานทางไกลได้
เราได้เห็นข้อดีมากมายจากรูปแบบ Hybrid Working ที่ไม่จำเป็นต้องทำงานใน “ออฟฟิศ” เพียงอย่างเดียว ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพจิตและผลงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลายบริษัทเริ่มทยอยปรับนโยบายให้คนกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเหมือนเดิม ส่งผลให้การทำงานทางไกลขึ้นแท่นมาเป็นสาเหตุการลาออกอันดับที่ 2
3) แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ
หลายคนพบว่าการทำงานโดย “ย่ำอยู่กับที่” เป็นการกระทำที่ทำร้ายอนาคตทางอ้อม เนื่องจากในขณะที่โลกพัฒนา คนอื่นพัฒนา เราที่ยังคง “เหมือนเดิม” จะกลายเป็นรั้งท้ายในที่สุด ซึ่งความก้าวหน้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แง่มุม “แนวดิ่ง” ก็คือการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ส่วน “แนวขวาง” ได้แก่การย้ายทีมเพื่อเรียนรู้งานอื่นๆ
องค์กรสามารถปรับแบบแผนภายในองค์กรเพื่อรองรับความต้องการในส่วนนี้โดยให้โอกาสพนักงานได้เรียนรู้งานที่สนใจเพื่อพัฒนาทักษะในส่วนที่ขาดหายไป
4) ออกไปหาความท้าทายใหม่ๆ
การพัฒนาของอาชีพการงานไม่ใช่แค่การย้ายตำแหน่ง แต่เป็นการเติบโตขึ้นจากการเรียนรู้หน้าที่ใหม่ๆ โดยมีเวลาและโอกาสมากพอที่จะได้พัฒนาตัวเอง ทั้งในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับและความสนใจส่วนตัว แม้ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ แต่อย่างไรก็ตามองค์กรก็สามารถมอบหมายงานที่สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพคนในให้ได้
5) หนีจากหัวหน้า/สังคมแย่ๆ
คนจำนวนไม่น้อยรักงาน รักเพื่อน รักบริษัทแต่ไม่สามารถทำงานร่วมกับ “หัวหน้า” ได้ ตรงกับผลสำรวจโดย Gallup ที่พบว่า 50% ลาออกเพราะอยากหนีจากหัวหน้างาน แน่นอนว่าองค์กรไม่สามารถคาดหวังว่าในแต่ละแผนก ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะต้องดีเลิศ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรที่จะ “ขัดแย้ง” กันจนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดีๆ หลายคนอยู่ไม่ได้
6) มองหาความหลากหลายมากขึ้น
คนทำงานในปัจจุบันให้ความสำคัญกับความ “แฟร์” ในองค์กรทั้งการปฏิบัติต่อความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา (DEI) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับ สบายใจที่จะทำงาน ทุกคนเท่าเทียมและมีโอกาสก้าวหน้าโดยไม่มีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
7) กลัวว่าจะตกงาน
อย่างที่เราได้เห็นกันในช่วงเริ่มต้นปี 2023 มีข่าวการปลดพนักงานในหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น google, meta, X (twitter) ฯลฯ ทำให้คนทำงานเกิดความรู้สึกเหมือนเดินบนเส้นด้ายที่ตัวเองจะมีโอกาสร่วงลงมาเมื่อไรก็ได้ จึงต้องเริ่มเปลี่ยนหัวเรือ วางแผนหาหลักประกันในรูปแบบของที่ทำงานใหม่ที่มั่นคงกว่าเดิม
8) รักออฟฟิศ อยากเข้าออฟฟิศ
ถึงแม้ว่าการทำงานที่บ้าน (Hybrid working) จะให้ข้อดีหลายด้านแก่คนทำงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกตำแหน่งที่จะสะดวกกับการทำงานทางไกล โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นหัวหน้างานที่พบว่าการกำกับดูแลภาพรวมของทีมที่บ้านเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาทำงานด้วยกันในออฟฟิศ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก 8 เหตุผลที่กล่าวมาเราเชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลที่อยากมองหาเส้นทางใหม่ๆ ในแบบของตัวเอง ซึ่งหากคุณมีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตการทำงานในปีหน้า ก็อย่าลืมฝากโปรไฟล์ไว้กับ Reeracoen Thailand เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยให้ความต้องการของคุณสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
6 stages of career development: ปัจจุบันคุณโตมาเป็นคนทำงานเลเวลไหน?
ระวัง! หัวหน้าจอมบล็อค ขวางไม่ให้โต เก็บลูกน้องไว้ภายใต้เงาตัวเอง
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3R7lo6b
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment