Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

7 คำทำนายทิศทางโลกการทำงานในปี 2024

  • Home
  • General Topic
  • 7 คำทำนายทิศทางโลกการทำงานในปี 2024

Select Category

เป็นอย่างไรกันบ้างกับชีวิตและการทำงานในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีหลายเหตุการณ์ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงมากมายให้เราต้องเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อไปต่อกับทิศทางใหม่ๆ ของโลก ซึ่งมีคนมากมายที่ก้าวต่อไปได้ด้วยดี แต่ก็อาจมีบางคนที่รับมือไม่ทัน จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางจากสถานการณ์โลกในแต่ละปี

และเป็นเวลากว่า 10 ปีที่คุณ Dan Schawbel ได้เผยแพร่บทความ ความเห็นต่อทิศทางโลกการทำงาน

ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยในปี 2024 นี้มีประเด็นที่น่าสนใจให้ได้ลองพิจารณากันมากมาย

ซึ่ง Reeracoen Thailand ได้สรุปมาให้ในบทความนี้แล้วครับ

อันดับแรกเราอาจต้องพูดถึง “ความผันผวนทางเศรษฐกิจ” ปัญหาเรื่องความลงตัวของรูปแบบการทำงานในองค์กร การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI ที่เริ่มสั่นคลอนความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและยังคงจะส่งต่อมาถึงปี 2024 นี้ด้วย ในขณะเดียวกัน องค์กรจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากกว่าเดิมเพื่อเยียวยาจิตใจพนักงานจากความเครียดและภาวะหมดไฟ ดังนั้นเราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละประเด็นว่าจะมีอะไรบ้าง

1) องค์กรและพนักงานจะร่วมกันสร้างข้อตกลงสำหรับการทำงานแบบ Hybrid

แม้จะเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางถึงผลลัพธ์เชิงบวกจาก Hybrid Working โดยตอบโจทย์คนทำงานในแง่ของความยืดหยุ่น จัดการตัวเองได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพของงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นข่าวจากต่างประเทศที่หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาใช้เวลาทำงานในออฟฟิศมากขึ้นหลังโลกกลับเข้ามาอยู่ในภาวะปกติอีกครั้งจากเหตุการณ์ Covid-19

โดยสาเหตุหลักคือทัศนคติของหัวหน้างานและผู้นำองค์กร ที่มองว่าการทำงานที่บ้านหรือ Hybrid Working ทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมีน้อย ไม่ค่อยสนิทกัน ยิ่งไปกว่านั้นคือมีอาการ Productivity Paranoia จากความกังวลว่าพนักงานจะ “อู้งาน” หากไม่อยู่ในสายตา

แต่ล่าสุดเราอาจได้ข้อสรุปของปัญหานี้กันสักทีเมื่ออ้างอิงผลสำรวจจาก Envoy พบว่าราวๆ 80% ของหัวหน้างานมองว่า การให้กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเป็นหลักคือการตัดสินใจที่ “ผิดพลาด” และหากเข้าใจธรรมชาติของคนทำงานมากกว่านี้ก็จะเลือกวิธีที่ต่างออกไป นอกจากนี้จากผลสำรวจของ Gallup พบว่า 8 ใน 10 ของผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (CHRO) จาก 500 บริษัททั่วโลก “ไม่มีแผน” ปรับลดสวัสดิการด้านความยืดหยุ่นในปี 2024 นี้ สอดคล้องกับความคาดหวังของคนทำงาน 9 ใน 10 ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในปี 2024 นี้มีโอกาสสูงที่หลายบริษัทจะรับฟังคนทำงานมากขึ้นและสร้างข้อตกลงร่วมกันสำหรับรูปแบบการทำงานให้ลงตัวกว่านี้ ซึ่งจำนวนวันเข้าออฟฟิศที่ส่งผลดีต่อทั้งวัฒนธรรมและผลงานจะอยู่ที่ 2 ถึง 3 วันต่อสัปดาห์

2) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น

ช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเป็นที่ร้อนแรงถึงขีดสุดสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาทิ ChatGPT, MidJourney, Bard จนหลายสำนักออกมาวิเคราะห์มากมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บ้างก็มองถึงขั้นเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่อาจเป็น “จุดจบ” ของคนในบางอาชีพ ขณะที่บางส่วนมองว่าสุดท้ายยังไงมนุษย์ก็คือผู้ควบคุมเครื่องมือเหล่านี้ และไม่ใช่เพียง Entry level เท่านั้นที่รู้สึกผลกระทบ อ้างอิงผลสำรวจจาก edX for Business พบว่าคนทำงาน “ทุกระดับ” ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะ C-suite ถึง 49% ที่ระบุว่างานของพวกเขาเกือบทั้งหมดสามารถทำได้ด้วย AI

ความจริงแล้วเทคโนโลยี AI กับการทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการพัฒนาและเริ่มใช้กันมาบ้างแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่การปรากฏตัวของ ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2022 คือจุดเริ่มต้นที่บอกว่าโลกนี้กำลังก้าวเข้าสู่ “เลเวลถัดไป” และเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันมากขึ้น

รายงานจาก McKinsey ระบุว่า AI ที่ใช้ในการทำงานช่วงแรกๆ จะเน้นช่วยเหลือด้านการ “ทุ่นแรง” ให้กับมนุษย์เป็นหลัก แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือเทคโนโลยี Generative AI ที่โดดเด่นด้าน “ความรู้” หรือ “มันสมอง” ในการทำงาน เช่น งานเขียน การสร้างสรรค์รูปภาพ และการเขียนโค้ด ซึ่ง 90 ของผู้นำองค์กรเริ่มคิดที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในองค์กร

AI จึงอาจแพร่หลายและเป็นที่คุ้นเคยกันมากขึ้นในปี 2024 นี้

3) คนทำงานจะยังคง “อมทุกข์” และหมดไฟต่อเนื่อง

หนึ่งในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับโลกการทำงานในปัจจุบันคือการที่คนทำงานจำนวนมากกำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเริ่ม Quiet quitting หลุดจากวงโคจรขององค์กร ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Deloitte พบว่าคนทำงาน 1 ใน 4 มีสุขภาพกายและใจย่ำแย่ลงในปีที่ผ่านมาโดยจะต่อเนื่องไปถึงปี 2024 ด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลของ Business Group on Health ที่องค์กรใหญ่ราว 77% รายงานความต้องการ การช่วยเหลือด้านปัญหาสภาพจิตใจที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว องค์กรจึงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาคนทำงานและเพิ่มการเข้าถึงงานบริการสุขภาพ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมองค์กรที่มีส่วนทำให้พนักงานรู้สึกไม่มีความสุขด้วยเช่นกัน

4) ผลกระทบจากต้นทุนสวัสดิการด้านสุขภาพที่สูงขึ้น

อ้างอิงจาก Mercer ด้วยภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพในปี 2023 ที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อ “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” สำหรับดูแลสุขภาพในปีนี้ให้มีราคาสูงขึ้นจากเดิม ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหา หนึ่งในกลยุทธ์ที่เราจะได้เห็นกันในปี 2024 คือการมุ่งเน้นเพิ่ม “ประสิทธิภาพ” ผลการรักษา ซึ่งหมายความว่าองค์กรอาจมีส่วนต้องรับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้รับบริการที่มี “คุณภาพ” มากขึ้น

นอกจากนี้ตามรายงานยังได้ยกตัวอย่างกลยุทธ์ที่บางองค์กรได้นำมาปรับใช้เพื่อควบคุมต้นทุนด้านสวัสดิการสุขภาพ โดยไม่จำเป็นต้องโยนภาระให้กับพนักงานต้องแบกรับ เช่น โปรแกรมเฉพาะบุคคล ที่สามารถเลือกการดูแลได้ตรงจุดมากขึ้น การเปลี่ยนวิธีพบแพทย์เป็นแบบทางวิดีโอ เป็นต้น

5) กลุ่มสหภาพแรงงานจะยังคงมีอำนาจต่อรองอย่างแข็งแกร่ง

สภาพตลาดแรงงานที่ตึงเครียดและภาวะเงินเฟ้อซึ่งสร้างความเดือดร้อนทางการเงินต่อแรงงานที่ผ่านมา นำไปสู่การเจรจาต่อรองสัญญา ประท้วงหยุดงานหลายเหตุการณ์ รวมถึงแห่ลาออกในหลากอุตสาหกรรมทั่วสหรัฐฯ อ้างอิงสถิติจาก U.S. Bureau of labor statistics (BLS) ตลอดเดือนสิงหาคมมีแรงงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดงานกว่า 3 แสนคนทำให้ 2023 ดูเป็นปีที่กลุ่มแรงงานเคลื่อนไหวมากที่สุดนับตั้งแต่ 2019

และในปี 2024 นี้เราจะได้เห็นแรงกระเพื่อมจากกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะประท้วงหยุดงาน หรือรวมตัวกันลาออกจากงาน เช่น ในพื้นที่โซนตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ที่กลุ่มคนงานคมนาคมได้ส่งสัญญาณเตือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อการใช้ชีวิตของผู้คน โดย Shawn Fain ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์ประกาศว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด

6) ทดลอง 4 – day workweek เหลือทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

แม้ไอเดียเรื่อง 4 – day workweek จะไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้นแต่ในปี 2024 นี้อาจมีโอกาสสูงที่จะได้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหลักของโลกการทำงาน ณ ปัจจุบันคือการที่พนักงานเผชิญกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ซึ่งความเครียดได้ทำให้สุขภาพย่ำแย่และที่สำคัญคือเกิดภาวะ “หมดไฟ” จึงจำเป็นต้องหาทางออกที่ให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

และหนึ่งในนั้นคือวิธี “ลดวันทำงาน” เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีรายงานชิ้นหนึ่งจาก 4 Day Week Global ได้เสนอข้อมูลว่าการลดวันทำงานในสัปดาห์ ทำให้พนักงานเครียดน้อยลง ช่วยปรับปรุงสุขภาพ ลดความเสี่ยงที่จะหมดไฟ แถมยังทำให้แฮปปี้กับงานมากขึ้น โดย 20% ของบริษัทในสหรัฐฯ ใช้รูปแบบการทำงานนี้แล้วส่วนอีก 41% มีแผนที่จะทดลองนำเข้ามาปรับใช้ในองค์กรปีนี้

สิ่งที่น่าจับตามองคือบทบาทของเทคโนโลยี AI ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญต่อการยอมรับนโยบาย 4 – day workweek ในสังคม เพราะ AI คือเครื่องมือที่มีไว้เพิ่มประสิทธิภาพและทำงานเสร็จเร็วขึ้น เช่นเดียวกับความพยายามลดการประชุมหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการ “เสียเวลา” ของพนักงานเพื่อไปเน้นตัวงานให้ดีขึ้น

7) การนำเครื่องมือติดตามการทำงานมาใช้ในองค์กร

เป็นที่คาดว่าภาคธุรกิจ 90% จะกลับมาทำงานในออฟฟิศ (บางส่วน) ภายในสิ้นปีนี้ แม้ในข้อที่ 1 เราจะพูดถึงการทำข้อตกลงระหว่างองค์กรกับพนักงานก็ตาม เนื่องจากยากที่จะสรุปว่าสุดท้ายแล้วเราควรเข้าออฟฟิศกี่วันและทำงานที่บ้านกี่วันถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด บางบริษัทจึงมีมาตรการใช้เครื่องมือ “ติดตาม” สอดส่องพนักงานเพื่อแน่ใจว่าพนักงานจะเข้ามาทำงานในออฟฟิศตามเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะตามจากการเลือกติดตามสอดส่องคนทำงานคือความไม่สบายใจของพนักงาน ซึ่งบางคนอาจเลือกลาออก และเป็นปัญหาที่องค์กรต้องตามแก้ต่อไป

ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหางานใหม่

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม:

อยากได้งาน แต่ไม่มีประสบการณ์? ลองหาโอกาสเพิ่มจาก 6 ลักษณะองค์กรต่อไปนี้

สถิติชี้! นโยบาย Work from home อาจมีผลช่วยเพิ่มรายได้ให้องค์กร
แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/48qz9Em

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:

https://bit.ly/48qTSrs

https://bit.ly/48KKUVR

https://bit.ly/3NUHMyQ

https://bit.ly/3HaMkgz

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment

Related Posts