จากการสำรวจโดย Randstad พบว่าสาเหตุที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก หรือเริ่มคิดที่จะลาออกไม่ใช่เพราะต้องการ “หนีออกจากงาน” แต่เป็นเพราะอยากหนีออกจาก “หัวหน้างาน” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากถึง 60% สอดคล้องกับข้อมูลจาก DDI Frontline Leader Project ที่ 57% ของคนทำงานลาออกโดยมีสาเหตุเกิดจากหัวหน้า
ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดจากหัวหน้างานนับเป็นเรื่อง “คลาสสิก” ที่มีมาในทุกยุคทุกสมัย อย่างที่เรามักจะเห็นจากข่าว หรือบนสื่อออนไลน์ที่บรรดาลูกจ้าง พนักงานออกมาระบายความในใจบ่นถึงการทำงานร่วมกับหัวหน้าที่ไม่ค่อยจะน่ารัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะด้วยตำแหน่งและหน้าที่ทำให้คนรอบข้างอย่างลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานไม่กล้าให้ Feedback ข้อเสียของพวกเขาตรงๆ คนที่เป็นหัวหน้าจึงไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหนและง่ายต่อการกลายเป็น “ตัวร้าย” ของหลายๆ คน
ดังนั้นการปฏิบัติตัว และวิธีการดูแลทีมของหัวหน้างานนับว่ามีผลต่อ “คุณภาพชีวิต” ของลูกน้องค่อนข้างมาก
โดย 2023 นับเป็นปีที่ Well-being ในที่ทำงานตกต่ำลงและยังคงส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปี 2024 นี้ด้วย
ในฐานะหัวหน้าที่ต้องมีส่วนดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของลูกทีมแม้จะไม่ค่อยได้รับ Feedback แง่ลบจากคนรอบข้าง ก็สามารถใช้วิธีการสังเกตจากการกระทำของตัวเอง เพราะการตัดสินใจทำบางอย่างที่คิดว่าดีต่องานส่วนรวมอาจกลายเป็นสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับสมาชิกจนมีภาพลักษณ์เป็นตัวร้ายในสายตาของคนอื่นๆ ได้
1) ไม่เห็นลูกน้องเป็น ‘มนุษย์’
ข้อสังเกตง่ายๆ คือการที่มีแต่เรื่องงานอยู่ในสายตาและไม่มีอะไรบนโลกนี้จะสำคัญไปกว่านั้นอีกแล้ว
ไม่ว่าจะเจ็บป่วย เกิดเหตุฉุกเฉิน จำเป็นต้องลาด่วนก็จะไม่ได้รับอนุญาตหาก “งานยังไม่เสร็จ”
ปัจจุบันมีหัวหน้ามากมายที่ล้มเหลวในส่วนนี้เนื่องจากบทบาทหน้าที่ ที่ต้องดูแลงานให้เรียบร้อย
ทำให้บางครั้งลืมไปว่าบางอย่างก็อาจยืดหยุ่นได้และในความเป็นจริงชีวิตของลูกทีมไม่ได้มีแค่งาน
แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่ต้องให้การดูแล เช่น ครอบครัวที่สำคัญยิ่งกว่า
2) ใช้คำพูดบั่นทอนความมั่นใจ
ข้อสังเกตต่อมาคือวิธีการฟีดแบคหรือให้คำแนะนำลูกทีมในแต่ละครั้ง
เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากผู้นำพูดคุยกับลูกทีมคือการส่งต่อ “พลังงาน”
ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสาร คำพูด และวัตถุประสงค์
ยกตัวอย่างกับการคอมเมนต์งาน แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
แต่ในรายละเอียดบางครั้งก็อาจพลาดได้ และบางคนใช้วิธี “ตำหนิ” ให้พยายามมากขึ้น
ซึ่งอาจจะดีในแง่ผลลัพธ์ของงานที่ได้ แต่ก็เป็นดาบสองคมที่แลกมากับความรู้สึกของผู้ฟัง
ในขณะที่บางคนสามารถใช้คำพูดสร้างพลังบวก เช่น เทคนิค Build Break Build
เพื่อชี้ข้อผิดพลาดและมอบกำลังใจให้ลูกน้องเชื่อว่าพวกเขาจะทำได้ดีขึ้น
โดยให้ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ไม่ทำลายความรู้สึกใคร
3) วางตัวเป็นศูนย์กลางของทุกปัญหาในทีม
หัวหน้าหลายคนมักจะเลือกรับจบปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง
อาจเพราะมองว่าทำเองแล้วง่ายกว่า เร็วกว่า เห็นผลชัดกว่า
และกันไม่ให้ภาระตกไปอยู่กับทีมที่น่าจะงานหนักกันอยู่แล้ว
แม้ว่าจุดประสงค์จะเป็นความหวังดีต่อทีม แต่ข้อเสียของการเลือกรับผิดชอบด้วยตัวคนเดียว
คือสมาชิกที่จะการมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาและยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ
จนทำให้หัวหน้ายังไม่กล้าเปิดใจรับฟังความเห็น
ลองเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมมากขึ้นง่ายๆ แค่แชร์ปัญหาและถามความคิดเห็น
ไม่แน่ว่าอาจได้ทางออกที่ดีขึ้นจากหลายไอเดีย แถมความสัมพันธ์ยังกระชับขึ้นด้วย
4) จุกจิกตลอดเวลา
Micromanagement หรือเรียกง่ายๆ ว่าความจุกจิกของหัวหน้า
เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนอยากลาออก
โดยข้อมูลจาก Accountemps พบว่าจากพนักงาน 450 คน
เกือบ 70% บอกว่าพวกเขารู้สึกหมดกำลังใจจะทำงานจากนิสัยความจุกจิกของผู้นำที่มากเกินไป
แม้หน้าที่หัวหน้าขะต้องมั่นใจว่างานราบรื่นและไม่มีปัญหา
โดยเฉพาะกับ Hybrid Working ที่ลูกทีมกระจายทำงานอยุ่บ้าน และไม่ได้อยู่ใกล้
ทำให้ง่ายที่จะเกิดความกังวลเป็นพิเศษ จึงต้องพยายามหาวิธีต่างๆ มาทดแทน
เช่น เช็กงานบ่อยขึ้น คาดหวังให้ลูกทีมตอบสนองได้ทันที ไปจนถึงให้เปิดกล้องตลอดเวลา
ถึงจะทำไปด้วยความหวังดีต่องานก็ตาม แต่การกระทำที่เกิดจากความกังวลเหล่านี้
ไม่เพียงแต่สร้างความกดดัน ยังทำให้พนักงานคิดว่าไม่ได้รับความเชื่อใจอีกด้วย
5) เสียเวลาไปกับการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ความจริงแล้วการประชุมเป็นเครื่องมือที่สำคัญกับ “ทุกคน” เพื่อให้ทีมเข้าใจเป้าหมายตรงกัน
รวมถึงแชร์ข้อมูลหรือหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ อย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม บางประชุมกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม กลายเป็นสาเหตุให้คนในทีมรู้สึก “เหนื่อยใจ”
แทนที่จะได้เอาเวลาไปทำงานอย่างเต็มที่กลับต้องมาอยู่ในประชุมที่กินเวลายาวนาน
แถมไม่ได้ข้อสรุปหรือเนื้อหาสาระสำคัญใดๆ ทำให้หลายบริษัทเริ่มปรับกลยุทธ์การประชุม
เช่น ลดจำนวน หรือจำกัดเวลาสั้นลงให้พนักงานได้มีเวลาไปโฟกัสกับงานอย่างเต็มที่
เราเข้าใจดีว่าไม่มีใครอยากเป็น “ตัวร้าย” สำหรับคนรอบข้าง เพียงแต่บางครั้งด้วยสถานการณ์และหน้าที่ที่บังคับให้ต้องเลือกตัดสินใจทำบางอย่าง และทุกการกระทำย่อมมีคนที่ได้รับผลกระทบถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องค้นหาสไตล์ความเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับตัวเอง และกับทีมให้ได้มากที่สุด
ค้นหาสไตล์ความเป็นผู้นำที่เหมาะกับตัวคุณได้ที่: ได้เวลาสำรวจตัวเอง ผู้นำแบบไหนที่ใช่คุณ?
ฝากโปรไฟล์กับ Reeracoen Thailand พร้อมค้นหางานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ
แปลและเรียบเรียงจาก:
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment