การประเมินจุดเด่นและภาพรวมของทีมก่อนทำการ ‘ตัดสินใจ’ ในหลายๆ เรื่อง
คือหนึ่งหน้าที่สำคัญของการเป็นผู้นำ ดังนั้นทักษะที่จะช่วยให้เราก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ
คือการเข้าใจ ‘ความเป็นคน’ รวมถึงบริหารกระจายงานในฐานะ ‘ทีม’ ไปพร้อมๆ กับดูแลระหว่างทางสู่เป้าหมาย
สำหรับคนที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมือใหม่ ถ้าไม่นับความดีใจ
สิ่งที่จะรู้สึกได้ตั้งแต่วินาทีแรกคือ ‘ความท้าทาย’ ที่มาพร้อมกับ ‘ความกดดัน’ อาทิ
“เราจะสามารถนำทีมให้บรรลุเป้าหมายได้ไหม”
“ความกดดันจะหนักแค่ไหน”
“ควรวางตัวยังไงให้ได้รับความเคารพ”
ความกดดันจากสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่มีส่วนทำให้ผู้นำมือใหม่มากมาย ‘ผิดพลาด’
จนล้มเหลวก่อนที่จะไปถึงเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในรูปแบบของพฤติกรรม 4 ข้อ อาทิ
1) มั่นใจในตัวเองจนเกินไป
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้นำได้ ดังนั้นเมื่อได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนั้นแล้วบางคนจึงมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
โดยแสดงออกด้วยการใช้ ‘อำนาจ’ ในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ หรือควบคุมดูแลงาน ซึ่งเป็นจุดแรกที่หลายคนมักจะพลาด
จริงอยู่ที่ผู้นำถือเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะได้รับ ‘การยอมรับ’ หรือไม่ ก็ถือเป็นอีกเรื่อง
เพราะการที่ ‘ผู้ตาม’ จะให้การยอมรับ
‘ผู้นำ’ มีหน้าที่ต้องแสดงให้เห็นว่าอะไรที่ทำให้เราก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้
ไม่ใช่ด้วยการ ‘บังคับ’ ให้ทุกคนทำตามจากอำนาจที่ตัวเองมี
สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ ‘อย่ารีบร้อน’ ในช่วงแรกของการทำหน้าที่
เพราะหลายคนมีความตั้งใจที่ดี มุ่งมั่นอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง
จนลืมว่าเมื่อมีการ ‘เปลี่ยน’ ก็ย่อมมีคนที่ต้อง ‘ปรับ’ ซึ่งอาจไม่ถูกใจคนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแบบ ‘ทิ้งระเบิด’ ลองใจเย็นลงและทำความเข้าใจให้มากขึ้น
เริ่มจาก “ทำการบ้านให้หนัก” ศึกษาภาพรวมของทีมให้เข้าใจมากที่สุด ดูว่าอะไรดี-ไม่ดี ส่วนไหนยังต้องพัฒนา
แล้วนำการบ้านที่ทำมา อธิบายให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน เพราะอะไรถึงต้องเปลี่ยน ทำไมถึงต้องทำสิ่งเหล่านี้
ผู้นำนอกจากจะทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญแล้วยังต้องคอยอยู่เคียงข้าง และมีส่วนร่วมกับงานแต่ละส่วน
ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดและปัญหาหน้างาน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่แค่ ‘สั่ง’
แต่ยังพร้อมคอยให้ความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
2) เอาแต่ผลลัพธ์ ไม่สนใจวิธีการ
Peter Drucker ผู้ริเริ่มแนวคิดการบริหารองค์กรยุคใหม่ ได้กล่าวว่า
“ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือการทำสิ่งต่างๆ อย่างถูกสิ่งและประสิทธิผล (Effectiveness) คือการทำในสิ่งที่ควรทำ”
ความแตกต่างของการบริหารกับการเป็นผู้นำ
คือผู้นำมักให้ความสำคัญกับ ‘ประสิทธิผล’ ที่เป็นผลลัพธ์
ขณะที่นักบริหารจะมองถึง ‘ประสิทธิภาพ’ ซึ่งต้องอาศัยทักษะบริหารในหลายมิติ
ทั้งความสัมพันธ์ โอกาส และ ‘หลุมพรางทางความคิด’
“ทำงานให้ไว ขยับให้เร็ว พร้อมคงไว้ซึ่งความไว้ใจ”
สามารถอธิบายถึงความยากในการทำงานของผู้นำที่ต้องสร้างทั้งผลงานและประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน
เพราะผู้นำที่มองถึงแต่ผลลัพธ์ (Effectiveness) โดย “ไม่สนใจวิธีการ” มักมีแนวโน้มที่จะถูกต่อต้าน
และพบกับความล้มเหลวต่อการนำทีมในที่สุด
3) ‘สุดโต่ง’ ในการปฏิบัติมากเกินไป
หลังจากที่เราทำการบ้านและศึกษาว่าองค์กรนี้ทำงานกันแบบไหน
ทั้งอะไรที่เคยทำแล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่ รวมถึง ‘แรงกระตุ้น’ ในการทำงานของทีมคืออะไร
ก็ถึงเวลาแล้วที่เราในฐานะผู้นำหน้าใหม่จะนำวิสัยทัศน์หรือแนวทางการทำงานลงไปผสมผสานให้เกิดความลงตัว
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเมื่อก้าวขึ้นมาแล้วเราไม่สามารถ ‘ทิ้งระเบิด’ ตั้งมาตรฐานหรือเปลี่ยนทุกอย่างได้ตามใจตั้งแต่แรก
เพราะตามหลักจิตวิทยา การจะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งถ้าจะให้ผลดีต้องทำให้เป็นเหมือนกับ ‘คลื่นน้ำ’
เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่กระทบจนเป็นวงกว้าง หยอดความคิดเห็น ให้คำแนะนำทีละน้อยแล้วสังเกตปฏิกริยาตอบโต้จากสมาชิกในทีม
เมื่อส่วนใหญ่เริ่มเห็นด้วยกับแนวทางของเรา จึงค่อยเริ่มลงรายละเอียด
ซึ่งอาจมีบางอย่างที่ต้องยอมปรับให้เหมาะกับภาพรวมบ้างเพื่อให้ทีมเดินไปด้วยกันโดยไม่มีอะไรค้างคาใจ
4) กีดกันคนเห็นต่าง
เมื่อองค์กรหรือทีมมีการเปลี่ยนผู้นำ
แนวทางและวัฒนธรรมการทำงานก็มักจะมีสิทธิถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ซึ่งบางครั้งก็อาจกลายเป็นความผิดพลาดได้เช่นกัน
ด้วยเจตนาที่ดี หลายคนต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการ ‘ผ่าตัด’ ให้ทีมเดินไปในทางที่ดีกว่า
ดังนั้นบางอย่างหรือบางคนที่ ‘ใช่’ ก็มีสิทธิได้ไปต่อ ส่วนอีกกลุ่มซึ่ง ‘ไม่ใช่’ ก็อาจถูกผลักออกไปจากขบวน
แต่เชื่อไหมว่าการตัดสินใจผลักกลุ่มคนเหล่านั้นออกไปจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สร้างปัญหาร้ายแรงตามมาในภายหลัง
เนื่องจากเมื่อองค์กรมีแต่กลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน เชื่อแบบเดียวกันโดยไม่มีคนโต้แย้ง
จะก่อให้เกิดกับดักทางความคิดที่เรียกว่า Groupthink ซึ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นโอกาสของการพัฒนาสิ่งต่างๆ
เพราะทุกคนมองว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว และทุกอย่างในตอนนี้ก็ ‘ดีอยู่แล้ว’
ผู้นำหน้าใหม่ควรเปิดใจรับความต่างของผู้คน ซึ่งนี่แหละคือจุดเด่นของการทำงานเป็นทีม
จะมีประโยชน์อะไรถ้าทุกคนเหมือนกันไปหมด
ผู้นำที่ดีควรรู้จักใช้ทักษะของคนในทีมให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบอกตัวเองเสมอว่าสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม
คือการ ‘รับผิดชอบ’ การเติบโตของทุกคนในฐานะ ‘ผู้นำ’ ที่จะพาทุกคนสำเร็จไปพร้อมๆ กัน
มองหาโอกาสใหม่ๆ กับเส้นทางที่ใช่ในองค์กรที่ชอบ
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment
อ่านบทความเพิ่มเติมที่:
5 คำถามเช็กลิสต์ตอนสัมภาษณ์งาน องค์กรแบบไหนที่ ‘ใช่’ สำหรับเรา
“เหนื่อยน้อยลงเพื่อผลงานที่ดีขึ้น” ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นด้วย Not To Do list
แปลและเรียบเรียงจาก:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment