Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

4 รูปแบบการสัมภาษณ์งานของผู้สมัคร

Select Category

รู้จัก 4 รูปแบบหลักในการสัมภาษณ์งานของผู้สมัคร

เป้าหมายหลักของการสัมภาษณ์งานจะว่าไปก็คล้ายกับการออกเดต โดยคนสองฝ่ายจะใช้เวลาพูดคุยทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ทั้งด้านทัศนคติ เป้าหมาย ความสนใจ และหาข้อตกลงกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์ก็คือ “ทำอย่างไรให้อีกฝ่ายรู้สึกชอบ” ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องหาวิธีสะกิดให้เป้าหมายติดใจ แต่ละคนก็จะเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างก็เลือกที่จะ “สร้างภาพลักษณ์” ใหม่ขึ้นมา ส่วนบางคนก็อาจจะยึดความเป็น “ตัวของตัวเอง” ตั้งแต่แรกหรือแม้กระทั่งพร้อมปรับตัวทำอะไรก็ได้ขอแค่อีกฝ่ายเลือก

อย่างไรก็ตาม สมการสำคัญของการสัมภาษณ์งานอีกครึ่งหนึ่งนอกจากพยายามทำให้อีกฝ่ายประทับใจ ก็คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ตัวเราเอง” ดังนั้นกุญแจที่จะทำให้เราสัมภาษณ์ได้ดีขึ้นก็คือการรู้จักตัวเองให้มากขึ้นนั่นเอง

แต่บางทีการจะรู้จักตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่แค่นึกก็ทำได้ เราสามารถประหยัดเวลาด้วยการเริ่มรู้จัก “สไตล์การสัมภาษณ์” เพื่อหาจุดเด่น และจุดอ่อนเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งคุณ Anna Papalia, CEO จาก Interviewology ได้กล่าวถึง 4  สไตล์หลักๆ ที่คนมักใช้ในการสัมภาษณ์งานในหนังสือ The New Science of Interviewing อันได้แก่ The Charmer, the challenger, the examiner, the harmonizer ซึ่งแต่ละรูปแบบมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่ต่างกัน Reeracoen Thailand ได้สรุปมาให้แล้วครับ

1) The Charmer

เป้าหมายของ The Charmer คือการเป็น “ดาว” ที่ทุกคนชื่นชอบ

โดยมองเห็นการสัมภาษณ์งานเป็นเวทีให้ตัวเองได้โชว์ของ

และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความประทับใจเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากผู้สัมภาษณ์

นอกจากนี้ พวกเขายังชอบพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง

ลักษณะนิสัยมักจะชอบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับคนรอบข้าง

ทำให้มีโอกาสที่จะเปิดใจรับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกถูกรับฟังด้วยความตั้งใจ

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือความมุ่งมั่นที่อาจจะ “ล้น” จนเกินไปจนถูกตีความผิดไปว่าพยายามใช้พลังงานบวกซื้อใจ

เพื่อกลบจุดด้อยในด้านคุณสมบัติการทำงานของตัวเอง จึงถือเป็นจุดที่ The Charmer ต้องพยายามบาลานซ์ให้ดีขึ้น

2) The Challenger

The Challenger ให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง มองการสัมภาษณ์งานเป็นการสอบถามเรื่องต่างๆ

ซึ่งความคิดของเขาควรถูกรับฟังและได้ความเคารพ รวมถึงกล้าที่จะตั้งคำถามต่อประเด็นสำคัญทั้งหลาย

เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าพวกเขาเอาจริงแค่ไหนกับงานนี้

ด้วยลักษณะพื้นฐานที่หนักแน่น เอาจริงเอาจังก็สามารถทำให้นายจ้างประทับใจได้ไม่ยาก

ยิ่งหากมีเวลาฝึกทักษะการสัมภาษณ์สม่ำเสมอการจะคว้าโอกาสงานก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

อย่างไรก็ตาม แม้การเป็นตัวของตัวเองจะดี แต่ปัญหาคือบางทีพวกเขาอาจยึดติดกับตัวเองจนเกินไป

จนมองว่าการฝึกฝนปรับปรุงวิธีการสัมภาษณ์จะเป็นการ “แสดงละคร” และสูญเสียตัวตนที่แท้จริง

3) The Examiner

มีมุมมองต่อการสัมภาษณ์เป็นเหมือนการ “ทดสอบ” ว่าพวกเขาจะเป็นคำตอบสุดท้ายของโจทย์นั้นๆ หรือไม่

โดยดึงความสามารถที่แท้จริงออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคุณ Papalia อธิบายเพิ่มเติมว่า

รายละเอียดที่มักจะพลาดไปก็คือ “ความเข้ากัน” กับวัฒนธรรมองค์กรซึ่งสำคัญไม่แพ้ทักษะการทำงานเชิงเทคนิค

หากสามารถเรียนรู้วิธีสร้างความประทับใจก็จะช่วยเพิ่มจุดเด่นและเป็นประโยชน์ได้มากขึ้น

4) The Harmonizer

เป็นกลุ่มที่ “พร้อมจะปรับตัว” เพื่อองค์กร

ดังนั้นการสัมภาษณ์จึงเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าไปร่วมทีม

ซึ่งลักษณะการแสดงออกมักจะเป็นฝ่าย “รับฟัง” มากกว่าพูด

และง่ายที่จะเห็นด้วย หรือคล้อยตามในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อ

เพื่อให้นายจ้างรู้สึกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมเช่นกัน

หากมองจากลักษณะคร่าวๆ อาจพบว่าข้อเสียคือไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง

แต่ก็แลกมากับจุดเด่นอย่างความยืดหยุ่นและง่ายๆ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติของ “ทักษะการทำงานเป็นทีม”

ซึ่งไม่ได้ดีต่อแค่ภายในแผนก แต่ยังรวมถึงบรรยากาศในองค์กรด้วย

ดังนั้นทักษะที่จะทำให้กลุ่ม The Harmonizer ไปได้ไกลยิ่งขึ้น

ก็คือความสามารถในการ “ขาย” ความสำเร็จของตัวเองที่จะเป็นหมัดเด็ดไว้ใช้น็อคทุกการสัมภาษณ์นั่นเอง

ทั้ง 4 รูปแบบที่กล่าวมาถือว่ามีคุณค่าและความโดดเด่นในตัวเองซึ่งผู้สมัครสามารถทำความเข้าใจกับแต่สไตล์

และนำไปปรับใช้ให้เข้ากับวิธีการสัมภาษณ์ของตัวเองหรือฝากโปรไฟล์และรับคำแนะนำโดย “มืออาชีพ”

อย่างทีม Recruiter จาก Reeracoen Thailand ที่พร้อมให้ข้อมูล Insight และดูแลตลอดกระบวนการสมัครงาน

แปลและเรียบเรียงจาก: Forbes.com

#ReeracoenThailand #ReeracoenRecruitment #JobInterview

Related Posts