การสรรหาพนักงานในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีต ทั้งในมุมมองของการแข่งขันระหว่างองค์กรและความท้าทายที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก มีตำแหน่งงานมากมายที่ยังอยู่ในสถานะ “ว่าง” เนื่องจากยังไม่ประสบความสำเร็จในการสรรหาบุคลากร ส่งผลให้วิธีการแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป หลายองค์กรจึงต้องวางแผนมองหากระบวนการสรรหาพนักงานด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและสร้างแรงดึงดูดได้มากขึ้น
Reeracoen Thailand ได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนาสุด Exclusive ในงาน CHRO & HR Director Forum กับหัวข้อ Future of Recruitment ที่จัดขึ้นโดย HREX.Asia ซึ่งมีทีมวิทยากรมากประสบการณ์ถึง 6 ท่าน มาแบ่งปันความคิดเห็น ตลอดจนวิธีพัฒนากระบวนการสรรหาพนักงาน มีทั้งกลยุทธ์ และเครื่องมือที่สำคัญต่อการปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ดังนี้
1) คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ CPO จาก Siam Commercial Bank (SCB)
กล่าวว่ารูปแบบธุรกิจของธนาคารในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่ต้องเน้นการจ้างพนักงานจำนวนเยอะๆ เพื่อรองรับการขยายสาขาทำให้บางครั้งการพิจารณาคุณสมบัติอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเป็น Digital Transformation แบบปัจจุบันที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในธุรกิจธนาคารหลายด้าน ทำให้สามารถลดจำนวนการจ้างงานได้มากกว่าครึ่ง
กลยุทธ์สำคัญคือการสรรหาที่ “เฉพาะเจาะจง” มากขึ้นด้วยการเข้าไปจับกลุ่มคนที่มีศักยภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น เจาะเข้าไปยังสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม พยายามสร้างความผูกพันธ์กับองค์กรตั้งแต่อายุยังน้อยและให้การสนับสนุนคนที่มีความสนใจในงานด้านนี้อย่างจริงจัง
นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อเป็น Top of mind เมื่อคนกลุ่มนี้พร้อมเข้าสู่ตลาดงานหลังจากสำเร็จการศึกษา ยังได้เรื่องของการบอกต่อระหว่างรุ่นพี่ สู่รุ่นน้องซึ่งสร้างความมั่นคงให้องค์กรในแง่ของทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน
2) คุณเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ Chief Executive Officer จาก BASE Playhouse
ได้แบ่งปันความคิดเห็นในมุมมองของบริษัท Start-up ที่มีพนักงานราว 60 คน และข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า คนทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบันซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนโลกในอนาคตมักจะให้ความสำคัญกับ Impact จากการทำงาน ต้องการที่จะเห็นผลลัพธ์ และคุณค่าของสิ่งที่ทำ อยากรู้ว่าตัวเองสำคัญอย่างไร สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง
ดังนั้นองค์กรที่จะเป็นเป้าหมายจึงต้องมีลักษณะแนวคิดในทางเดียวกัน คือกล้าคิดนอกกรอบ มองหาแนวทางใหม่ สร้างนวัตกรรมที่ท้าทายกรอบเดิมๆ ในขณะที่มีความเข้าใจวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของโลกในปัจจุบัน ทั้งรูปแบบการทำงานที่ควรมีความยืดหยุ่น มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
สำหรับตัวคุณเมธวินเองมองว่ากระบวนการสรรหาพนักงานในปัจจุบันควรลองคิดใหม่ โดยใช้โมเดลรูปแบบ Skill-Based Hiring ที่แม้เทคโนโลยีต่างๆ กำลังมาและทักษะเชิง Technical เป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่สิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ Soft skills คนทำงานยุคนี้ต้องหลักการคิดวิเคราะห์ที่ดี (Cognitive Thinking) รู้จักใช้ข้อมูลเชิงลึกขับเคลื่อนการทำงานให้เข้ากับโลกยุคใหม่
3) คุณณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร Chief Business Resources
ด้าน Human Resources บริษัทสยามพิวรรธน์
มองว่าปัญหาสำคัญขององค์กรก็คือการแข่งขันเพื่อ “แย่งชิงคนเก่ง” โดยเฉพาะเมื่อ “สเปค” ของกลุ่มเป้าหมายตรงกันกับบริษัทใหญ่ กลยุทธ์จึงเป็นการสร้างความแตกต่างด้าน “ความคิด” โดยปลูกฝังความเชื่อเรื่องการปฏิวัติตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในกรณีของคุณณัฐวุฒิพบว่า คนมักจะรู้จักสินค้าอย่าง Siam Paragon มากกว่าชื่อบริษัทที่เป็นต้นสังกัดอย่าง “สยามพิวรรธน์” ทำให้ 2-3 ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการสร้าง Branding องค์กรให้แข็งแรง สร้างความรู้สึกร่วมว่าการทำงานกับสยามพิวรรธน์จะมอบอะไรให้กับพวกเขา ซึ่งในที่นี้ก็คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในฐานะ Global Destination ในไทย
เป้าหมายสำคัญที่คุณณัฐวุฒิได้ฝากไว้ในงานคือการที่องค์กรขนาดเล็ก ควรทำให้คนรู้จักในฐานะองค์กร ไม่ใช่แค่ด้านสินค้า หรือบริการเพียงอย่างเดียว และต้องมีการออกแบบประสบการณ์ของผู้สมัครที่น่าประทับใจเพราะ People Brand ก็สำคัญไม่แพ้ Corporate Brand
4) คุณบุญชู มัลโฮตรา Country Director จากบริษัท HONO.AI
เล่าให้ฟังว่าการเติบโตของ AI เข้ามาเปลี่ยนวิธีการสรรหาพนักงานไปอย่างชัดเจน เริ่มจากกลยุทธ์ Skill-Based Hiring ที่เมื่อผู้สมัครส่งประวัติเข้ามาแล้วก็จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลือกตำแหน่งงานมากกว่าแค่ 1 อย่าง โดยอิงจากคุณสมบัติ และความเหมาะสมของทักษะที่มีเพื่อส่งเสริมการเติบโตและวาง Career Path ได้ตั้งแต่วันแรก
องค์กรสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดภาระงานของ HR ในองค์กรให้น้อยลง ซึ่ง HONO.AI เองก็มีการใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถจำแนกได้ว่าผู้สมัครแต่ละคนเหมาะกับงานแบบไหน
อะไรคือปัญหาของกระบวนการสรรหาพนักงานในทุกวันนี้
ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาพนักงานคือการออกแบบ “Journey ของผู้สมัคร” เนื่องจากหลายองค์กรมักจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และ “เวิ่นเว้อ” มากที่สุด
ตั้งแต่การจัดตั้งทีมกรรมการผู้สัมภาษณ์ การกำหนดวันนัด จัดเตรียมเอกสารมากมาย กว่าจะปรึกษาหัวหน้า ส่งเรื่องไปถึงผู้บริหาร ก็ใช้เวลาไปกับขั้นตอนเหล่านี้ไม่รู้เท่าไรแล้ว
และเมื่อผู้สมัครเมื่อเจอกับความวุ่นวาย มากพิธี ขั้นตอนเยอะก็อาจสูญเสียความประทับใจแรกที่มีต่อองค์กรไป จึงต้องรวบยอดขั้นตอนให้กระชับ รวดเร็วมากที่สุด ซึ่งเครื่องมือ AI สามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้ค่อนข้างมาก อ้างอิงจากสถิติการใช้งาน HR Solution จาก PMAT ก็จะพบว่ามีการใช้บริการด้าน Recruitment มากถึง 70-80%
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างมากในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของกระบวนการสรรหาพนักงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะในแต่ละองค์กรก็มีความท้าทายและเป้าหมายที่แตกต่างกันและ “ความเป็นมนุษย์” นั้นมีองค์ประกอบในแต่ละมิติที่ละเอียดอ่อนซึ่ง AI หรือเครื่องมือไหนๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้
ฝากโปรไฟล์กับ Reeracoen Thailand พร้อมค้นหางานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม: Reverse Mentoring คืออะไร สำคัญอย่างไรกับองค์กร
#HREX #ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment