เบื่อไหมกับความรู้สึกแง่ลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างก้าวเดินเข้าห้องสัมภาษณ์งาน ทั้งไม่มั่นใจที่จะตอบ กลัวคำตอบที่พูดออกไปจะฟังดูไม่ดีกังวลว่าความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้เราไม่ถูกเลือก เพราะความมั่นใจถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในทุกๆ เรื่อง กับการสัมภาษณ์งานก็เช่นกัน เมื่อเรามั่นใจในตัวเองมากพอก็จะถ่ายทอดความคิด ความรู้ และประสบการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมดเวลาปวดหัวกับปัญหาความไม่มั่นใจเหล่านี้ Reeracoen Thailand ขอแชร์เทคนิค “แนวทางการตอบคำถาม” ผ่าน 7 อันดับคำถามที่มักพบเจอบ่อยๆ ในการสัมภาษณ์งานเปลี่ยนเรื่องยากให้กลายเป็นง่าย มั่นใจได้มากขึ้นว่าเราจะต้องผ่าน!
1) แนะนำตัวให้ฟังหน่อย
คำถามเริ่มต้นในทุกการสัมภาษณ์ที่ฟังดูเหมือนง่ายแต่นอกจากการทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการและพิจารณาว่าบุคลิกนิสัยเหมาะกับองค์กรหรือไม่ อีกหนึ่งสิ่งที่อีกฝ่ายคาดหวังจะได้รู้อย่างยิ่งคือ “เราสามารถทำอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง”
การมี Self Awareness โดยรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีสามารถทำให้เราเข้าใจจุดเด่น – จุดด้อยที่มีและตอบได้ว่าจะใช้ทักษะต่างๆ ช่วยเหลือองค์กรอย่างไร เพิ่มเติมคือ เราสามารถใช้การตอบคำถามดังกล่าว “ดึงความสนใจ” ให้อีกฝ่ายเกิดความสงสัยเพื่อนำไปสู่การเล่าถึงความน่าสนใจของตัวเองมากขึ้น เช่น โปรเจกต์งานที่เป็นผลงานเด่นในงานที่ผ่านมา
2) เห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
เราอาจบอกได้ว่าการคาดเดาอนาคตเป็นเรื่องที่ยากเสมอเพราะแม้แต่คำถามอย่าง “เที่ยงนี้กินอะไร” เรายังตอบกันไม่ค่อยได้แล้วจะนับประสาอะไรอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า
สาเหตุที่บริษัทมักใช้คำถามนี้เป็นประจำ เนื่องจากต้องการเช็กความสอดคล้องของเป้าหมายในการทำงาน ความคาดหวังในระยะยาวและแพชชันที่มีของผู้สมัคร ซึ่งคงไม่มีบริษัทไหนอยากรับคนที่เข้ามาไม่นานก็พร้อมลาออกทุกเมื่อ คนที่บริษัทมักจะเลือกรับเข้าทำงานจึงเป็นคนที่มีการวางแผนงานในระยะยาว มีความต้องการที่สอดคล้องกับองค์กร และไม่มองว่าการทำงานในบริษัทนี้เป็นแค่ทางผ่าน คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
3) ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่
หลายคนคงสงสัยว่า “ถามทำไม” เพราะถ้าตอบเร็วๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรก็คงมีอยู่ไม่กี่เหตุผล ถ้าไม่ใช่อยากได้เงิน ก็ต้องเป็นอยากได้งาน ซึ่งใครๆ ก็ตอบได้ แต่สิ่งที่ทำให้เราพิเศษไปกว่านั้นคือ “ความมุ่งมั่น” รวมถึงเป้าหมายในการทำงาน
โดยบทความจาก Harvard Business Review ได้แนะนำ 3 ประเด็นที่ควรพูดถึง ได้แก่
✅ ความมุ่งมั่น แพชชั่นที่มีต่อองค์กร
แสดงความหลงใหลต่อเป้าหมายขององค์กรให้รู้ว่าเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ ซึ่งควรอธิบายถึงสาเหตุให้นายจ้างรับฟังด้วย เพราะการที่ตัวพนักงานและองค์กรมีเป้าหมายเดียวกันจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่พาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
✅ การสร้าง “ความสุข” ในการทำงาน
คงไม่ดีสำหรับนายจ้างหากรับคนเข้ามาแล้วทำงานไปวันๆ โดยปราศจากความสุข ดังนั้นในการทำงานนอกจากความสามารถแล้วอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรมองหาคือ “ใจ” ที่จะทำงาน เราจึงต้องทำให้นายจ้างมั่นใจว่าจะได้รับความทุ่มเทและเต็มที่อยู่เสมอ
✅ แบ่งปัน “ภาพความสำเร็จ” ที่อยากให้เกิดขึ้น
ทุกครั้งที่มีการจ้างงานคือการลงทุนของบริษัท แน่นอนว่าสิ่งองค์กรต้องการมองหานอกจากผลงานตามหน้าที่ คือการเติบโตของพนักงานที่จะผลักดันองค์กรไปในก้าวต่อๆ ไปด้วย
ยิ่งเราลงลึกในรายละเอียดของคำตอบได้มากเท่าไรคำพูดของเราจะยิ่งมีน้ำหนักมากเท่านั้น ใจความสำคัญคือชัดเจนกับความต้องการของตัวเองโดยยึดถือความสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรเป็นแกนหลัก คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
4) อะไรคือจุดแข็งที่ดีที่สุดของคุณ
เป็นปกติที่คนเรามักมีความอายที่จะ “อวย” ตัวเองเนื่องจากกลัวว่าทำแล้วจะกลายเป็นคนขี้โม้หรือหลงตัวเอง แต่สำหรับการสัมภาษณ์งานที่ชี้วัดถึงอนาคตเราอาจต้องเก็บความรู้สึกแบบนั้นไว้ก่อน เพราะนี่คือหนึ่งในโอกาสที่คุณจะสามารถทำได้แบบไม่ต้องเขิน ซึ่งคำตอบควรเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่มีการวัดผลหรือยกตัวอย่างได้
5) จุดอ่อนของคุณคืออะไร
ถือเป็นคำถามที่ “สุ่มเสี่ยง” และมีผลต่อมุมมองของนายจ้างเพราะบางครั้งคำตอบที่บอกไปนั้นก็ดันกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่เลือกเราในภายหลัง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ คือเข้าใจว่าข้อเสียที่มีจะต้อง “ไม่กระทบต่อการทำงาน” โดยเฉพาะหน้าที่หลักโดยที่เราควรจะมีแผนการพัฒนาจุดอ่อนเหล่านั้นด้วย
✅ เลี่ยงคำตอบที่อาจดูส่งผลต่อการทำงาน
ใช้วิธีการตอบในเชิงจุดด้อยของทักษะพร้อมแนวทางพัฒนาแก้ไขตามแผนของตัวเอง ซึ่งเทคนิคเล็กๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
คือการเลือก “จุดด้อย” ที่จะนำมาตอบแทนที่จะเลือกตอบในสิ่งที่เราไม่ถนัด อาจเปลี่ยนเป็นงานที่ไม่ค่อยได้ทำหรือทักษะที่อยากพัฒนามากขึ้น เพื่อลดช่องว่างที่ทำให้นายจ้างคิดว่าเราจะทำงานไม่ได้
✅ ทำให้ข้อเสียเป็น “จุดแข็ง”
เมื่อเรามองหาและได้ข้อเสีย (ที่ไม่กระทบต่อหน้าที่หลัก) เช่น สมัครงานตำแหน่ง Sales โดยที่จุดด้อยคือทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล อันดับต่อมาคือทำความเข้าใจว่า “ความยาก” ของมันคืออะไร ทำไมถึงเป็นทักษะสำคัญที่เราต้องการพัฒนา แล้วเรามีการวางแผนกำจัดจุดอ่อนของตัวเองยังไงบ้าง คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
6) ทำไมเราต้องจ้างคุณ
คำถามดังกล่าวมีไว้เพื่อให้เราได้ “ขายตัวเอง” ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างไรและทำไมบริษัทต้องตัดสินใจเลือกรับเราเข้าทำงานหน้าที่ของเราก็คือ “ซื้อใจ” ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าทักษะ ความรู้และประสบการณ์จะทำให้เราเป็น “คนที่ใช่” สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรโดยมีวิธีการวัดผลและยิ่งเราขายได้น่าสนใจเท่าไร โอกาสได้งานก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
7) ทำไมถึงลาออกจากที่เก่า
ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้คุณลาออกจากที่ทำงานเก่าสิ่งที่จะนึกถึงก่อนคงเป็น “ข้อเสีย” มากมายที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะทนอยู่ต่อไปได้
แม้สิ่งที่นำมาตอบอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ไม่ควรนำมาพูดในแง่ลบให้คนอื่นฟังอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสัมภาษณ์งานเพราะจะทำให้อีกฝ่ายมองว่าเราไม่เป็นมืออาชีพ
เราสามารถปรับการสื่อสารด้วยการเปลี่ยนมุมมองโดยนำเรื่องเดียวกันมาพูดถึง โดยเปลี่ยนเป็นแง่บวก ยกตัวอย่างเช่น เหตุผลจริงๆ คือ “เงินเดือนน้อย” เราสามารถให้คำตอบเป็น “ต้องการสร้างรายได้มากขึ้น” โดยไม่ลืมที่จะบอกถึงความคาดหวังจากการทำงานด้วย
เตรียมตัวให้พร้อมและระมัดระวังเรื่องการสื่อสารให้ดี เพราะเมื่อไรก็ตามที่ก้าวขาเข้าห้องสัมภาษณ์งานหลังจากนั้นทุกวินาทีจะมีคนที่จ้องจะตัดสินเราอยู่ทุกเมื่อ การมีความเข้าใจในความหมายของแต่ละคำถามจะทำให้เราสามารถจับหลักสำคัญแล้วนำมาเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองได้ คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
สร้างโอกาสให้ตัวเอง หางานผ่านเครือข่าย Recruiter มืออาชีพ
อ่านบทความด้านเทคนิคการสัมภาษณ์งานเพิ่มเติม:
S.T.A.R เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้กระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่ายไม่ออกทะเล
5 คำถามเช็กลิสต์ขณะสัมภาษณ์งาน องค์กรแบบไหนที่เราควร “หนีไป”
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand