ถ้าวันนี้คุณกำลังจะรับสมัครพนักงานสักคนโดยต้องเลือกระหว่าง
‘ทัศนคติ’ กับ ‘ความสามารถ’ คำตอบสุดท้ายของคุณจะเป็นใคร?
ถ้าคิดเร็วๆ ก็อาจมองว่าความสามารถต้องมาก่อน เพราะถ้ารับเข้ามาแล้วปรากฎว่าทำงานไม่ได้สุดท้ายก็ต้องลำบากใช้พลังกับเวลามานั่งสอนงานอยู่ดีแต่ในอีกมุม ก็มีคนไม่น้อยที่เลือกทัศนคติเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ หรือเปลี่ยนแปลงยากมากต่างกับทักษะการทำงานที่สามารถฝึกฝนเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม เทียบกันแค่คอนเซปต์กว้างๆ คงยังไม่ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนมากพอ ว่าทัศนคติสำคัญมากเท่า หรืออาจจะมากกว่าความสามารถยังไง
เรามาลองยกตัวอย่างกัน เช่น คนชอบแข่งขัน รักการทำงานคนเดียวก็อาจเป็น Sales ที่ทำยอดให้บริษัทได้เยอะ ถือเป็นฟังก์ชันที่ให้ผลดีกับองค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กลับกัน ถ้าลองจับคนคนนี้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมอื่นอย่างบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม ก็คงไม่เหมาะ เพราะแม้จะทำหน้าที่ตัวเองได้ แต่ก็ไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะส่วนตัวอย่างนิสัยพออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสไตล์ไม่เหมือนกันก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปด้วย
ถัดมาเราลองดูกันด้วยตัวเลขในเชิงสถิติข้อมูลจาก Leadership IQ
ที่ได้สำรวจฝ่ายจัดหาพนักงานทั้งหมด 5,247 คน จาก 312 ธุรกิจเพื่อหาคำตอบว่า
“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเราล้มเหลวในที่ทำงาน”
(หมายเหตุ: ไม่ได้จำกัดแค่เลิกจ้างแต่ยังรวมถึงกลุ่มที่องค์กรจัดอยู่ในหมวด ‘จะไม่รับเข้ามาอีก’)
พบว่าส่วนใหญ่ที่ทำให้คนเราล้มเหลวในที่ทำงานไม่ได้เกิดจากความบกพร่องทางความสามารถ
แต่เป็นเพราะ ‘ทัศนคติ’ ที่เข้ากับองค์กรไม่ได้ โดยจัดเรียงแต่ละสาเหตุทั้งหมด 5 อันดับได้ดังนี้
-
- การเปิดรับฟังและปรับตัวต่อคำแนะนำ (26%)
- ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ (23%)
- แรงขับเคลื่อนส่วนบุคคล (17%)
- ทัศนคติ และสภาวะจิตใจ (15%)
- ทักษะการทำงาน (11%)
มีสัดส่วนมากถึง 89% ที่มาพังด้วยเรื่องทัศนคติ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่แทงสวนความเชื่อเก่าพอสมควร เพราะเดิมทีเรามักจะมองว่าความสำเร็จในที่ทำงานต้องเกิดจาก ‘ผลงานที่ดี’ หรือมีความสามารถโดดเด่นโดยมีปัจจัยอย่างบุคลิกนิสัย และทักษะสังคมเป็นออปชันเสริม แต่ปัจจุบัน อาจต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองกันใหม่ และองค์กรไม่ควรโฟกัสแค่ ‘ความสามารถ’ เพียงอย่างเดียวเพราะยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่สำคัญให้ดูควบคู่กันไป
ความจริงแล้วยังมีอีกหนึ่งชุดข้อมูลที่น่าหยิบมาพูดถึงเมื่อ 82% ของทีม Hiring ระบุว่าพวกเขามักจะรู้ล่วงหน้าว่าผู้สมัครคนไหนบ้างที่มีโอกาสเจอกับปัญหาในอนาคต ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่มีลักษณะนิสัยและการแสดงออกที่ค่อนข้างจะไปในทางเดียวกัน เช่น มีความคิดแง่ลบ เย่อหยิ่ง ดูกระหายอำนาจ ชอบตอบคำถามแบบกว้างๆ ไร้ประสบการณ์เฉพาะตัว รวมถึงมีทัศนคติแบบ ‘สุดโต่ง’ และชอบว่าร้ายที่ทำงานเก่า
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาดำเนินการป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ เนื่องจาก ณ ขณะนั้นให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ มากกว่า ประกอบกับขาดความมั่นใจในสัญชาตญานของตัวเอง ดังนั้นเราคงไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่มีโอกาสล้มเหลวถึงมีสัดส่วนต่างจากคนที่จะสำเร็จแบบหน้ามือ-หลังมือ
เกณฑ์คัดเลือกที่เน้นเฉพาะความสามารถเป็นหลักอาจช่วยให้รู้ว่าเบื้องต้นว่าคนไหนจะทำงานได้ดี
ส่วนคำตอบสุดท้ายว่าใครจะเป็น ‘พนักงานที่ดี’ ก็ขึ้นอยู่กับ Role model ที่องค์กรกำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งก็ต้องมีวิธีการคัดกรองที่เหมาะสมเพื่อได้คนที่ทั้งเก่งงานและมีทัศนคติที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กรด้วย
สำหรับคนทำงาน นอกจากการฝึกทักษะก็อย่าลืมหันมาใส่ใจทัศนคติส่วนตัวของเราเองด้วย เพราะไม่ว่าเราจะมีความสามารถมากมายแค่ไหน แต่ถ้าความคิดติดลบ จนไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมก็ยากที่จะมีพื้นที่ให้ได้แสดงความสามารถ
อ่านบทความ: 9 ทักษะ Interpersonal Skill ที่คนทำงาน ‘ทุกคน’ ควรมีติดตัว
ฝากโปรไฟล์กับ Reeracoen Thailand พร้อมค้นหางานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment