Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

กระบวนการ Phone screen ขั้นตอนสำคัญก่อนเข้าสู่การสัมภาษณ์จริง

  • Home
  • General Topic
  • กระบวนการ Phone screen ขั้นตอนสำคัญก่อนเข้าสู่การสัมภาษณ์จริง

Select Category

เรามักจะรู้ตัวว่ากำลังได้รับความสนใจจากบริษัทเมื่อมีใครบางคน “โทรมาคุย” ก่อนนัดสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ โดยเรียกว่ากระบวนการ Phone screen ซึ่งรายละเอียดในการพูดคุยแต่ละครั้งบางทีก็แทบไม่ต่างจากการสัมภาษณ์งาน ทั้งเช็กคุณสมบัติ ให้ตอบคำถามแบบไม่ทันได้เตรียมตัว หลายคนที่เคยผ่านประสบการณ์ลักษณะนี้มาแล้วก็อาจยังไม่เข้าใจและสงสัยว่า “ทำไปเพื่อ” ในเมื่อรอไปสัมภาษณ์ทีเดียวให้จบเลยก็ได้

ในบทความนี้ Reeracoen Thailand จะพาไปทำความเข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องมีการโทรคัดกรองก่อนสัมภาษณ์จริง

และรายละเอียดต่างๆ ในกระบวนการสมัครงานให้มากขึ้น

Phone screen หมายถึงอะไร?

Phone screen ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการสมัครงาน มักจะเป็นรูปแบบของการโทรคุยสั้นๆ เพื่อสอบถามข้อมูล เช่น เหตุผลที่สมัคร (ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายสมัครเข้าไป) เรทเงินเดือนที่คาดหวัง ความพร้อมในการเริ่มงาน ตลอดจนเช็กคุณสมบัติเบื้องต้น และแนะนำรายละเอียดงานคร่าวๆ เพื่อป้องกันการ “เสียเวลา” ของทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้นก่อนดำเนินการนัดสัมภาษณ์งานจริงในขั้นตอนถัดไป

ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ Phone screen มักจะเป็น Recruiter หรือฝ่าย Hiring ของบริษัทหลังจากได้รับใบสมัครเข้ามา โดยเป้าหมายสำคัญคือจำแนกผู้สมัครออกเป็นกลุ่มๆ แล้วคัดเลือกจากกลุ่มคนที่ตรงสเปกหรือมีศักยภาพมากพอ

แตกต่างกับการสัมภาษณ์งานจริงอย่างไร?

อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าการ Phone screen มักจะเป็นการโทรคุย บรีฟรายละเอียด สอบถามข้อมูลสั้นๆ เพื่อจำแนกคนเป็นกลุ่มๆ ให้สะดวกต่อการเลือกคัดกรอง ต่างจากการสัมภาษณ์งานที่เป็นการเจอกันซึ่งหน้า จึงมักจะมีความเข้มข้น กินระยะเวลายาวนาน ต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือการคำถามยากๆ และมีรายละเอียดเชิงลึกที่ต้องพิจารณามากกว่า

นอกจากในแง่ของ “เนื้อหา” คู่สนทนาก็ยังต่างกันด้วย เนื่องจากการ Phone screen มักจะดำเนินการโดย Recruiter ในขณะที่การสัมภาษณ์จริงจะเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจโดยตรงซึ่งก็คือ “หัวหน้างานในอนาคต” ของเรานั่นเอง ดังนั้นเพื่ออนาคตแล้วเราจึงไม่สามารถพลาดได้เด็ดขาด

การเตรียมตัวสำหรับ Phone screen

เมื่อการ Phone screen ถือเป็นด่านแรกก่อนการสัมภาษณ์ และมีไว้เพื่อคัดกรองหาคนที่ตรงสเปกที่บริษัทวางไว้เราจึงเป็น “คนคนนั้น” ที่องค์กรมองหาให้ได้ หากถามถึงสิ่งสำคัญสำหรับการ Phone screen แล้วไม่พูดถึง First Impression ก็คงจะไม่ได้ โดยเฉพาะในแง่ของการสื่อสารระหว่างกัน เนื่องจากเวลาในการคุยจะค่อนข้างสั้นมากๆ จึงควรสรุปประเด็นให้สั้น กระชับ และมี “จุดสนใจ” เพื่อให้เกิดการถามต่อหรือทำความรู้จักเรามากขึ้นนั่นเอง

โดยคำถามส่วนใหญ่มักเน้นที่ประวัติการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งด้วยระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดเราจึงไม่ควรร่ายยาวอธิบายทุกอย่างทั้งหมด ให้เน้นเฉพาะ “ส่วนที่เกี่ยวข้อง” หรือเกิดประโยชน์กับองค์กรเป็นหลัก เช่น ความถนัด จุดแข็ง ผลงานโดดเด่น นอกจากนี้การสัมภาษณ์สั้นๆ ทางโทรศัพท์ทำให้เราอาจแสดงนิสัยหรือบุคลิกไม่ได้ทั้งหมด ซึ่ง Business Manner ที่ดีหรือการใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น จำชื่อผู้สัมภาษณ์หรือรายละเอียดงานได้ ก็ช่วยสร้างความประทับใจให้บริษัทได้ดี

ลำดับถัดมาคือการเตรียมตัว

1) รีวิว Job description เพื่อหาจุดขายให้ตัวเอง

ทำความเข้าใจภาพรวมของหน้าที่ต่างๆ พร้อมตีโจทย์ความต้องการของนายจ้างให้ออกและจับคู่กับประสบการณ์และความสามารถของเรา เพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้คุณเหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานนั้นโดยอย่าลืม “ยกตัวอย่างผลงาน” ที่สอดคล้องให้เห็นภาพมากขึ้น

2) ศึกษาข้อมูลองค์กร

ในขั้นตอนการคัดกรองเบื้องต้นอย่าง Phone screen เราอาจยังไม่จำเป็นต้องรู้ “ทุกเรื่อง” ขององค์กรก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุดเราควรรู้ว่าบริษัทนั้นๆ เป็นธุรกิจแบบไหน และอะไรที่ดึงดูดให้สนใจอยากเข้าไปร่วมงานด้วยซึ่งช่วยให้เราได้ทำการบ้านและตัดสินใจได้อย่างไม่ผิดพลาด

3) เตรียมพร้อมและจริงจังเสมอ

ในการพูดคุยเรามีโอกาสที่จะถูกถามในประเด็นต่างๆ แม้จะไม่จำเป็นต้องตอบในเชิงลึกเหมือนกับสัมภาษณ์จริง ก็ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับคำถามเหล่านั้นเสมอ และที่สำคัญคือรู้จัก “เป็นฝ่ายถาม” ในเรื่องสำคัญด้วย

ทิ้งท้ายกับการสัมภาษณ์ในลักษณะ Phone Interview กับ “บริษัทจัดหางาน” ที่หลายคนอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะมองว่าเป็นเพียงแค่การเก็บข้อมูลผู้สมัครเฉยๆ ต้องอย่าลืมว่า Recruiter คือหนึ่งในวิธีเข้าหาโอกาสงานที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะต้องติดต่อกับบริษัทต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้นนอกเหนือจากจาก CV ที่ดีแล้ว การสัมภาษณ์ผ่าน Phone screen ที่น่าประทับใจ ได้รับข้อมูลต่างๆ ที่ครบถ้วนมากกว่าแค่ใน Resume ก็สามารถช่วยให้ Recruiter แนะนำตัวเราได้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้บริษัทเรียกเราไปสัมภาษณ์มากขึ้นนั่นเอง

ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหาโอกาสใหม่ที่ช่วยให้ความมั่นคงมากขึ้น: คลิก

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:

สัมภาษณ์งานยังไงก็ได้งาน! เพียงเข้าใจ 3 กุญแจสำคัญนี้

5 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการต่อรอง Job offer ก่อนเริ่มงาน

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/46nZX6m

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment

Related Posts