วิธีต่อรอง Job Offer เพื่อปรับแพคเกจและอัปฐานเงินเดือนให้ตรงใจ
เมื่อบริษัทส่งอีเมลเสนอ Job Offer มาให้พิจารณาคุณจะตอบรับโดยทันที หรืออ่านอย่างดีเพื่อหาจุดที่สามารถต่อรองผลประโยชน์เพิ่มเติมได้?แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราสามารถทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองแต่การต่อรองเงินเดือนกลับเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าทำ หลายคนยอมตัดใจรับ Job Offer ตามที่บริษัทเสนอเพราะกลัวว่าถ้าขอเพิ่มเติมจากนี้แล้วจะทำให้ตัวเองไม่ได้งาน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Robert Half พบว่านายจ้างส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้สมัครกล้าต่อรองเงินเดือนโดยคิดเป็น 70% จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,500 ซึ่งมีแค่เพียง 43% ของผู้สมัครเท่านั้นที่กล้าต่อรอง ดังนั้นจึงหมายความว่า “เราทำเงินหาย” ไปตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มงานและอาจบอกได้ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนพลาด เนื่องจากถ้าเราวางแผนการเงินไม่ดี ได้เงินเดือนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพหรือภาระที่จำเป็นต้องจ่ายก็สามารถกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในอนาคตได้
และถ้าหากถามว่าเมื่อไรหรือสถานการณ์แบบไหนที่เหมาะสมกับการพยายามต่อรองเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น
- ได้เรท “เริ่มต้น” ต่ำกว่ามาตรฐาน
- ต้องรัดเข็มขัดมากจนไม่มีเหลือเผื่ออนาคต
- ต้องใช้เวลากว่าจะถึงช่วงปรับเงินเดือน
ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในจุดที่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นก็ต้อง “ขอให้เป็น” โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) ทำการบ้านหาข้อมูลล่วงหน้า
ก่อนจะทำอะไรก็ตามเราควรมีการเตรียมตัวให้ดี นอกจากศึกษาฐานเงินเดือนในตลาดเพื่อหาเรท “มาตรฐาน” โดยเทียบจากตำแหน่ง ลักษณะงาน ประสบการณ์ สถานที่ รวมถึงแนวโน้มความต้องการในตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาจะทำให้เรารู้ว่าเงินเดือนที่ควรได้ต้อง “ไม่น้อย” กว่าเท่าไร จากนั้นจึงค่อยนำภาระค่าใช้จ่ายหรือแผนการเงินที่วางไว้มาหาตัวเลขที่เหมาะสมซึ่งต้องแน่ใจว่าปัจจุบันจะไม่ขัดสนและสามารถจัดสรรเผื่อไว้สำหรับอนาคตด้วย
2) แสดงให้เห็นว่าเรา “คู่ควร” กับสิ่งที่ขอ
บริษัทจะตอบรับความต้องการของเราก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าเป็น “การลงทุนที่คุ้มค่า” หากอยากได้ “เงิน” ที่สูงขึ้น บริษัทก็ต้องคาดหวังถึง “งาน” ที่มากขึ้นเช่นกัน ควรแสดงความกระตือรือร้นที่จะผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า เช่น การนำความรู้ประสบการณ์ที่มีมาวางแผนงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กรหรือกำหนดเป้าหมายการทำงานเพิ่มเติมจาก Job Description เดิม
3) อย่าลืมให้เหตุผลของความต้องการ
แต่ละคนล้วนมีเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้ต้องการเงินเดือนที่มากขึ้น ดังนั้นการอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม เช่น ต่อรองเพราะได้น้อยกว่าเรทมาตรฐานนอกจากช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจเรามากขึ้นแล้วยังสามารถนำปัญหาต่างๆ มาพูดคุยต่อยอดหา “ตรงกลาง” ในวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากบางบริษัทอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น โครงสร้างเงินเดือนในบริษัท หรือผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าทำให้ไม่สามารถให้เป็น “เงิน” แต่อาจเปลี่ยนเป็นสวัสดิการอื่นๆ ที่ตอบโจทย์มากขึ้น
4) ถ้าจะขอ “หลายอย่าง” ก็จงขอพร้อมกันทีเดียว
นอกจากเงินเดือนที่ยังไม่ตรงใจในฐานะคนทำงานเราก็ไม่สามารถละเลย “สวัสดิการ” ไปได้โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การทำงานเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบ Hybrid Working ทำให้เราต้องให้ความสำคัญและต่อรองเพื่อส่วนนี้เช่นกัน แต่ในอีกมุมก็กังวลว่าถ้าขอ “หลายอย่าง” ก็อาจจะดูไม่ดี
ศาตราจารย์ Deepak Malhotra จาก Harvard Business School ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Negotiating the Impossible ได้แนะนำเทคนิคในกรณีที่เรามีสิ่งที่อยากได้มากกว่า 1 อย่างอย่าขอแบบ “ทีละนิด” แต่จงขอทั้งหมดให้จบภายในรอบเดียวเพราะอีกฝ่ายอาจมองว่าเรามีแต่ความต้องการที่ “ไม่จบไม่สิ้น” หรือ “ได้คืบจะเอาศอก” ดังนั้นการขอพร้อมกันทีเดียวจึงมีโอกาสที่จะสำเร็จมากกว่า
อย่างที่เราเอ่ยไปตอนต้นว่าการเจรจาต่อรอง Job Offer คือสิ่งที่หลายคนมักจะพลาดไม่ว่าจะด้วยความกลัว เกรงใจ หรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่อย่างไรก็ตามหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนก็ควรพยายามเพื่อสิ่งนั้นให้ถึงที่สุด หรือจะดีกว่าถ้ามีผู้ช่วยอย่าง Recruiter มืออาชีพที่เข้าใจ พร้อมช่วยเจรจาต่อรองผลประโยชน์ก่อนเริ่มงานให้โดยไม่ต้องเหนื่อยเอง
5 ข้อสังเกตเมื่องานใหม่ที่เพิ่งย้ายไปอาจยังไม่ใช่สำหรับเรา
เช็กลิสต์ 8 คำถามที่ต้องตอบตัวเองก่อนตัดสินใจเปลี่ยนสายงาน
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3Z6REtC