Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

ผลกระทบจาก AI ที่ทำให้สมัครงาน “ง่าย” แต่ได้งาน “ยาก”

  • Home
  • General Topic
  • ผลกระทบจาก AI ที่ทำให้สมัครงาน “ง่าย” แต่ได้งาน “ยาก”

Select Category

ที่ผ่านมาโลกเราได้พูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยี AI กันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ที่มีให้ถกเถียงกันก็คือสรุปแล้วเครื่องมือเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือเปล่า ขอบเขตของคำว่าเทคโนโลยีจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แล้วสุดท้ายการมีเครื่องมือนี้เป็นผลดีกับ “ใคร” กันแน่

แต่ในขณะที่คนมากมายกำลังว้าวุ่นกังวลเรื่องเครื่องจักร vs มนุษย์ คนอีกส่วนหนึ่งก็เริ่มปรับตัว

และใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็น “อาวุธ” เพื่อช่วยเหลือให้ความสะดวกสบายและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ

ซึ่งรวมถึง “การสมัครงาน” โดยตัวอย่างคือคุณ Anshita Verma พนักงานตำแหน่ง Data scientist วัย 26 ปี

ที่เล่าว่าเมื่อ 6 เดือนที่แล้วเธอเคยสมัครงานได้วันละไม่กี่ตำแหน่งเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

แต่ปัจจุบันสามารถส่งได้วันละเป็น 10 ที่ด้วยความช่วยเหลือจาก “เครื่องมือ AI”

ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนได้อย่างมาก เช่น จากเดิมเคยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงทำเอกสารสมัครงานแต่ละที่

ทุกวันนี้เมื่อใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยกลับเหลือเพียงแค่สิบนาที

ลักษณะเครื่องมือที่ผู้คนนิยมใช้ในปัจจุบัน

นอกจาก Generative AI อย่าง ChatGPT ให้ช่วยสร้างเรซูเม่และ Cover letter

ที่แมตช์ความสามารถเข้าและคุณสมบัติสำคัญให้เหมาะสมกับรายละเอียดงาน สำหรับส่วนที่มักจะกินเวลามองหางานใหม่อยู่เสมอ

ก็คือขั้นตอนการทำ Job search ผ่านช่องทางต่างๆ คนจำนวนมากจึงหันมาใช้เครื่องมือ AI ช่วยค้นหางานที่ตรงกับความสนใจ

ซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบัน เช่น LazyApply, SimplifyJobs ทำให้เจองานที่ใช่อย่างรวดเร็วและสมัครเข้าไปพร้อมกันทีเดียวได้ทันที

เพื่อประหยัดเวลาเข้าเว็บหางานและสมัครด้วยตัวเอง

นอกจากนี้หากเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะจะทำงานอะไร ก็ยังมีเครื่องมือ AI อย่าง Pyjama Jobs และ Talentprise

ที่สามารถช่วยเราจับคู่ “ทักษะ” และแนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมให้

มาถึงตรงนี้เราอาจมองว่าเป็นผลดีต่อคนทำงานเต็มๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าการใช้ AI ในลักษณะนี้

อาจไม่ได้เป็นผลดีต่อพวกเราอย่างที่คิดไว้เท่าไรนัก เนื่องจากความสะดวกก่อให้การแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

สุดท้ายจบที่ผู้สมัครต้องดิ้นรนหนักยิ่งกว่าเดิม ความสะดวกสบายแถมมีประสิทธิภาพสูงจากเครื่องมือ AI

ถือเป็นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงวิธีการสมัครงานในปัจจุบันทำให้การสมัครงานง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น

และเมื่อมีผู้เล่นหรือ “คู่แข่ง” ในแต่ละงานมากขึ้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ “การแข่งขัน” ที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

คุณ Karin Kimbrough หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ จาก Linkedin เผยว่า “คนที่ต้องการมองหางานมีความ “กระตือรือร้น” มากกว่าเดิม”

เมื่อมี AI ช่วยคราฟต์เนื้อหาและแนะนำแนวทางที่เหมาะกับแต่ละงาน การสมัครงานจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและมั่นใจยิ่งขึ้น

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเครื่องมือเหล่านี้มีส่วนก็จริง แต่อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือตลาดแรงงานที่เริ่มเงียบลง

ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่กระทบความมั่นคงทางการเงินของผู้คนทำให้ต้องดิ้นรนหาทางรอดผ่านการ “หางานใหม่”

โดยผลสำรวจพบว่าคนทำงานในสหรัฐฯ (U.S.) และสหราชอาณาจักร (U.K.) มีอัตราการสมัครงานในปีนี้มากขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ด้วยความสะดวกสบายจนอาจถึงขั้นใช้คำว่าง่ายทำให้คนใช้การ “หว่านใบสมัคร” ไปยังหลายบริษัทแบบ “จับฉ่าย”

ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ตำแหน่งข้ามสายงานที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเอง

ในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหลายภาคส่วน

อันดับแรกคือภาระงานที่มากขึ้นของ Recruiter / ทีม Hiring ด้วยจำนวนของใบสมัครที่ถูกเข้ามามากเกินไป

จึงเจอปัญหาการรับมือและคัดกรอง “กองเรซูเม่” ที่ล้นทะลักแม้จะมีเครื่องมือ AI ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ได้ส่วนหนึ่งก็ตาม

ประสบการณ์จากคุณ Josh Bersin ได้เล่าว่า เขาเคยลงประกาศรับสมัครงานตำแหน่งหนึ่ง

โดยแค่ 1 ชั่วโมงให้หลังพบว่ามีส่งเข้ามาถึง 300 คนและที่สำคัญคือส่วนใหญ่ 90% ถูกเขียนโดย ChatGPT

แม้ว่าหลายองค์กรที่ใช้งานระบบติดตามและบริหารจัดการผู้สมัคร (ATS) จะมีไว้เพื่อช่วยเหลือด้านคัดกรองบุคลากรโดยเฉพาะอยู่แล้ว

ก็ยังคงได้รับผลกระทบเนื่องจากเรซูเม่ที่สร้างขึ้นผ่านเครื่องมือ AI เหล่านี้

เนื่องจากผู้สมัครมักจะดึง “คีย์เวิร์ด” สำคัญที่สอดคล้องกับงานเข้ามา

เพื่อให้ผ่านการคัดกรองของระบบจนไม่สามารถคัดกรองได้ ดังนั้นความหนักของภาระงานจึงตกไปอยู่ที่ “มนุษย์” เป็นหลัก

ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายรับสมัครเท่านั้น เพราะสำหรับคนที่กำลังต้องการมองหางาน

เครื่องมือเหล่านี้อาจทำให้ใบสมัคร – โปรไฟล์เราดูดีขึ้นก็จริงแต่ก็แลกมากับ “เพดาน” มาตรฐานที่สูงขึ้น

ซึ่งผู้สมัครอาจถูกเรียกเข้าสัมภาษณ์น้อยลงได้เช่นกัน

โดยสรุป AI อาจทำให้ชีวิตเรา “ง่ายขึ้น” ในหลายๆ ด้านก็จริง

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราเองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวตามกระแสเหล่านั้นเช่นกัน

ดังเช่นเครื่องมือช่วยเหลือด้านการสมัครงานที่แม้จะช่วยลัดบางขั้นตอนให้เร็วขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้งานที่ต้องการมาง่ายๆ อยู่ดี

เพราะสุดท้ายแล้วการแข่งขันจะไปตัดสินกันที่ “ตัวเราเอง” ว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองและนำเสนอจุดขายที่มีได้ดีแค่ไหน
ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหางานใหม่ ที่ตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น

อ่านบทความเพิ่มเติม:

6 คำถามไว้คุยกับหัวหน้าระหว่างประเมินผลงานสิ้นปี

รู้จักกลยุทธ์ Quiet Firing เมื่อองค์การใช้ “ความเงียบ” เพื่อให้พนักงานอยากลาออก

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/48qEQ4B

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment

Related Posts