Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

8 ข้อดีสุดเหลือเชื่อจากความขี้เกียจ (อย่างพอดี)

  • Home
  • General Topic
  • 8 ข้อดีสุดเหลือเชื่อจากความขี้เกียจ (อย่างพอดี)

Select Category

อยากเจริญต้องขยันหมั่นเพียร ทำงานทุกอย่างให้หนักเพื่อพัฒนาตัวเองเท่านั้นจริงเหรอ

หรือเราจะเป็นคน ‘ขี้เกียจ’ อย่างชาญฉลาด ที่เลือกทำเฉพาะสิ่งสำคัญและมีประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไม่จำเป็น?

“เลือกคนขี้เกียจมาทำงานที่ยาก เพราะเขาจะหาวิธีมาทำมันให้ง่าย”

– Bill Gates

“ความขี้เกียจ” ถูกมองในฐานะตัวแทนของความเฉื่อยชา ไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนาตัวเอง

ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของความขยัน (Productive) ที่มนุษย์เชิดชู ทั้งขี้เกียจตัวเป็นขน ขี้เกียจสันหลังยาว ขี้เกียจแบบนี้ไม่มีวันเจริญ

และอีกสารพัดคำที่เราจะใช้เพื่อตำหนิลักษณะนิสัยดังกล่าว

แต่รู้หรือไม่ว่า “ความขี้เกียจ” เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

และเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงาน หากรู้จักใช้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ขี้เกียจ จนสุดท้ายกลายเป็นคนไม่เอาอะไรเลย

บทความบน Linkedin โดยคุณ Kelly Evagelakos CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท NEON Management

ได้ระบุถึงหลากข้อดีที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นบนความขี้เกียจดังนี้ครับ

1) เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์

คนขี้เกียจจำนวนมากใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตัดขาดตัวเองจากเรื่องต่างๆ ที่ชวนเหนื่อย

เสียพลังงาน ซึ่งหมายความว่าเขาจะมีเวลาในการคิดและทำในสิ่งที่สนใจ ทำให้ได้ไอเดียสดใหม่ออกมาบ่อยครั้ง

2) งานคุณภาพสูง

ด้วยความขี้เกียจทำให้พวกเขาเลือกที่จะทุ่มพลังงานไปที่งานใดงานหนึ่ง มากกว่าการทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน

ซึ่งช่วยให้โฟกัสงานได้ดีขึ้น มีเวลาให้ลงรายละเอียดยิ่งขึ้น ลดข้อผิดพลาดได้มากขึ้น

3) ฟื้นพลังให้ตัวเองเก่ง

เมื่อเหนื่อยล้า หรือว่างจากงาน แทนที่จะไปหาทำเหมือนคนทั่วๆ ไป พวกเขาก็มักจะเลือกใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างจริงๆ จังๆ

ซึ่งทำให้ฟื้นตัวจากความเหนื่อยได้เร็ว เหมือนคนที่พก Power bank ไว้ตลอดเวลา ลดโอกาสที่จะเหนื่อยล้าสะสม จนกลายเป็นคน Burnout

4) กระตุ้นเพื่อนร่วมทีม

หากทีมมีคนที่ดูขี้เกียจ (ที่ทำงานดี) เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ก็จะรู้สึกถูกกระตุ้นให้ขยันมากขึ้น

โดยการคอยเติมจุดนั้น เสริมจุดนี้ ช่วยเหลือกันและกัน เพื่อทำให้ภาพรวมของทีมทำงานได้อย่าง “ไม่ติดขัด”

5) วางแผนและตัดสินใจเฉียบคม

การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองทำให้พวกเขาสามารถคิดต่อยอดสิ่งต่างๆ และทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเองต้องการ รวมถึงวางแผนได้อย่างรอบคอบ

6)  ซื่อสัตย์ จริงใจ ไร้เหลี่ยม

เนื่องจากขี้เกียจหางานใหม่ ก็เลยต้องทำผลงานให้ดีจะได้ไม่ถูกเชิญออก

รวมถึงไม่สนใจที่เล่นเกมจิตวิทยาใส่คนอื่น ตัดสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นใดใด เพราะแค่ทำงานปกติก็เหนื่อยแล้ว

7) รับฟังอย่างดี แถมไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติม

หากองค์กรกำลังมีปัญหาที่กำลังดำเนินการแก้ไขแล้วมีคนยกประเด็นขึ้นมาสุมไฟเพิ่มเติม

ก็คงสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนอื่นๆ ได้ แต่เราสามารถหายกังวลได้ระดับหนึ่ง

เพราะคนขี้เกียจจะไม่ทำอย่างนั้น พวกเขาชอบที่จะอยู่ชิลๆ เงียบๆ ลอยไปกับกระแสน้ำมากกว่าตะเกียกตะกายขึ้นเกาะ

8) ไม่ทำตัว Toxic จ้องจะแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา

ถ้ามีใครสักคนคอย “ขิง” ใส่คนเพื่อนร่วมงานตลอดเวลาหรือทำตัวเก่งไปหมด ใครทำอะไรหน่อย ก็ต้องกระโดดร่วมวงมาแข่ง

ฉันดีกว่า เก่งกว่า เจ๋งกว่า คงทำให้บรรยากาศการทำงานอึดอัดได้ ต่างกับคนขี้เกียจ ที่ไม่มีเวลาและพลังงานมากพอจะไปยุ่งเรื่องคนอื่นขนาดนั้น

ความขี้เกียจสามารถพลิกกลับมาเป็นข้อดีได้หากรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยห้ามใช้ความขี้เกียจเป็นข้ออ้างในการ

“ผัดวันประกันพรุ่ง” จนเวลาที่ควรจะได้ใช้โฟกัสกับงาน หรือสิ่งที่สำคัญนั้นหายไปเปล่าๆ

ใช้เวลาไปกับสิ่งที่จำเป็น อย่าเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ และอย่าลืมความรับผิดชอบ เต็มที่กับสิ่งที่ต้องทำด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม:

Build-Break-Build ทักษะการ “ชื่นชมเพื่อพัฒนา”

3 เครื่องมือบริหารเวลา จัดการงานง่ายๆ ฉบับมือใหม่

แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/3e6A0Df

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

https://bit.ly/3SEq3Mf

https://bit.ly/3M5dJSX

#ReeracoenRecruitment

#ReeracoenThailand

#Selfdevelopment #Inspiration #Psychology #Laziness

Related Posts