ในออฟฟิศของคุณมีคนลักษณะนี้อยู่หรือเปล่า? เป็นมิตร ไร้พิษภัย พยายามช่วยเหลือทุกคน เรื่องตัวเองไว้ทีหลัง ขอแค่คนรอบข้างมีความสุข
คนเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า People Pleaser ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นเรื่องดีที่มีใครบางคนเห็นความสำคัญของคนรอบตัวไม่น้อยกว่าตัวเอง
แต่หากไม่ระวัง บางที “ความดี” นี้อาจย้อนกลับมาเป็นภัยในภายหลังได้
Reeracoen Thailand จะมารู้จักกับคนเหล่านี้ และวิธีการรับมือเพื่อป้องกันสารพัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
บทความเรื่อง How to Deal with People-Pleasers Who Go Too Far จากเว็บไซต์ Psychologytoday ได้ระบุถึงปัญหาที่อาจเกิดจาก People Pleaser
ในที่ทำงาน และการใช้ชีวิตหากไม่มีการตั้งโล่ป้องกันที่ดี พร้อมวิธีการรับมือง่ายๆ ที่จะช่วยให้ทั้งงานและความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยกันได้อย่างไม่ติดขัด
สาเหตุที่บุคลิกแบบ People Pleaser อาจสามารถสร้างปัญหาได้ เพราะในบางครั้งการเลือกที่จะ “ยอม” มากเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อการทำงานและความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่เราและเขาอาจจะไม่รู้ตัวด้วย ไม่ว่าจะปัญหาการจัดลำดับความสำคัญ เวลา หรือประสิทธิภาพการทำงาน
ผลเสียจาก People Pleaser
เช่น การที่ People Pleaser รู้ว่านาย A กับนาย B ไม่ถูกกัน และกำลังอยู่ระหว่างการทำผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเขาก็เลือกที่จะช่วยเหลือนาย B จนทำงานสำเร็จ ได้เลื่อนตำแหน่งตามที่คาดหวัง แม้จะรู้ดีว่าการช่วยนาย B จะส่งผลกระทบต่อนาย A โดยตรงในฐานะคู่แข่ง แต่ก็ยอมช่วยเพราะ “ปฏิเสธคนไม่เป็น” และแน่นอนว่าการตัดสินใจนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
ส่วนในด้านการทำงาน ลองนึกภาพว่าคุณได้ทำงานกับ People Pleaser แต่แทนที่จะมาสนใจงานที่ต้องทำ เขากลับเอาเวลาส่วนใหญ่ไปช่วยทำงานคนอื่น ปล่อยให้เรางมอยู่คนเดียว ซึ่งแน่นอนเมื่อ 1 สมอง 2 แขนหายไป ประสิทธิภาพการทำงาน (Work Efficiency) ก็หายไปด้วย งานที่อาจเสร็จได้ใน 1 วัน ก็อาจต้องเลื่อนออกไป กระทบต่ออนาคตในหน้าที่การงานอีก
หรือเมื่อมีการประชุมขอความคิดเห็น ให้เสนอไอเดียต่างๆ ที่มีความจริงจัง เข้มข้น People Pleaser ก็มักจะเป็นคนที่เงียบๆ แต่จะคอย “สนับสนุน” ทุกความเห็น เพราะไม่อยากมีปัญหากับใคร ซึ่งทำให้งานนั้นอาจเสียโอกาสที่จะได้ไอเดียที่ดีที่สุดเพราะมัวแต่เกรงใจ
แม้กระทั่งบางครั้ง People Pleaser อาจทำการ “สัญญา” รับปากอย่างดีว่าจะทำบางสิ่งบางอย่างตามที่ได้รับการร้องขอ หรือถูกมอบหมาย และเมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถส่งมอบงานได้จริง ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่ตัวเองก็เลือกที่จะรับปากไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แม้จะรู้ว่าทำไม่ได้ หรือทำไม่ทันก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นฝ่ายพูดถึงปัญหาจากพฤติกรรมของ People Pleaser ที่แบ่งแยกความสำคัญไม่เป็น ละเลยหน้าที่ของตัวเอง นอกจากเขาอาจจะไม่สนใจ เลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา ยังอาจกลายเป็นตัวเราเองที่เป็นฝ่ายผิดจากการถูก Guilt Trip (ใช้คำพูดให้เรารู้สึกผิด ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายถูก)
เพราะ People Pleaser จะหยิบเหตุผลร้อยแปดมาเพื่อให้เราเห็นใจ และบอกว่าทั้งหมดนี้ทำไปเพราะหวังดี
ในด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ People Pleaser ไม่ชวนให้ปวดหัว สร้างพลังงานบวก ไม่มีปัญหากับใคร แถมยัง “ยอมได้ตลอด” ฟังดูจะเป็น Healthy Relationship ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าการยอมตลอดนี่แหละ คือตัวการฉุดความสัมพันธ์ที่ควรจะ Healthy ให้กลายเป็น Toxic อย่างไม่ทันตั้งตัว เช่น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็เลือกที่จะยอมไว้ก่อน โดยที่ไม่เผชิญหน้าแก้ไขอย่างจริงจัง กลายเป็นว่าปัญหาหนักใจก็ไม่ได้ถูกแก้ไข แถมยังต้องอึดอัดเพิ่มขึ้นเพราะอีกฝ่ายไม่พยายามทำความเข้าใจอีก
และด้วยนิสัย “ยอมคน” ทำให้ People Pleaser อาจไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ กลายเป็นว่า “ทุกคนสำคัญเท่ากัน” ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น!
คงไม่มีใครโอเคเมื่อจู่ๆ ก็มีสถานะสำคัญเท่ากับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรืออื่นๆ
จัดการกับ People Pleaser ด้วยความใจเย็น และเห็นใจ
1) อธิบายปัญหาด้วยเหตุและผลอย่างจริงใจ
ขั้นแรกเมื่อต้องจัดการกับ People Pleaser คือการบอกตรงๆ ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงเหตุและผลให้เขาสามารถคิดตาม
และแสดงให้เห็นผลกระทบจากการกระทำนั้นๆ ให้ได้ เช่น
“รู้สึกว่ายังโฟกัสกับงานตรงนี้น้อย อาจเพราะเอาเวลาไปช่วยส่วนอื่นเยอะไป เวลาที่ได้มาทำงานนี้เลยเหลือไม่มากแล้ว ลองปรับมาทำตรงนี้ก่อนค่อยไปช่วยคนอื่นดีไหม?”
2) กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน
พยายามทำให้ขั้นตอน หรือกระบวนการทำงาน “โปร่งใส” ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อเข้าใจถึงเป้าหมายและวิธีการให้เห็นภาพตรงกัน รวมถึงขีดเส้นผลลัพธ์ของการไม่ทำตามขอบเขตดังกล่าว จะทำให้เราสามารถติดตามกระบวนการทำงานได้ทุกขั้นตอน และเตรียมตัวเผื่อกรณีฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่การเป็นคนอะไรก็ยอม ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะอีกมุมหนึ่งก็แสดงถึงการให้ความสำคัญกับทุกๆ คนรอบตัว สามารถสร้างความสุข กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันด้วย เพียงแต่ต้องรู้จักลำดับความสำคัญ และฝึกที่จะปฏิเสธบ้าง เพราะถ้ายอมทุกเรื่อง จะกลายเป็นตัวเราเองที่สูญเสียตัวตน ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยการพยายามทำให้คนอื่นพึงพอใจ จนไม่รู้ว่าแท้จริงตัวเรานั้นต้องการอะไร
บทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
ทำไมเราต้องจ้างคุณ? 4 เทคนิคง่ายๆ “ขายตัวเอง” ให้ได้งาน
ระวัง TOXIC SUPERSTAR ในที่ทำงาน คนทำงานเก่ง แต่ “ฝีปากแซ่บ” พอๆ กับฝีมือ
แปลและเรียบเรียงจาก:
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
#ReeracoenThailand
#peoplepleaser
#psychology