ในชีวิตของเรา เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่านความอึดอัด เมื่ออยากจะทำอะไรสักอย่างแทบขาดใจแต่ก็ทำไม่ได้
หรือไม่อยากทำ แต่ก็ต้องจำใจยอมเพราะ ‘ความเกรงใจ’ มันค้ำคอ
จริงอยู่ที่ความเกรงใจคือข้อดีที่ทุกคนควรจะมี เสมือนอาวุธที่ถ้ารู้จักใช้ก็จะกลายเป็นที่รักในสายตาคนอื่น
แต่ถ้าเราไม่รู้จักควบคุม ปล่อยให้ความเกรงใจชนะทุกอย่าง ก็สามารถกลายเป็นข้อเสียทีหลังได้เช่นกัน
“ไม่กล้าตำหนิเพื่อนเมื่อทำผิด”
“เก็บไอเดียไว้กับตัวเพราะไม่อยากข้ามหน้าข้ามตาใคร”
หลายครั้งที่เราต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้ต่อ ‘ความเกรงใจ’ จนพลาดโอกาสดีๆ ให้กับตัวเอง หรือแม้แต่กับคนรอบข้าง
เพราะถ้าเรากล้าตำหนิเพื่อน เขาอาจปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือถ้าเรากล้าเสนอไอเดีย ผลดีก็จะตกอยู่กับส่วนรวม
แต่เมื่อเราเลือกที่จะปล่อยผ่านเพราะความเกรงใจ สุดท้ายแล้วอาจเป็นเราเองที่ต้องเสียใจ และเสียดายทีหลัง
เพราะไม่สามารถทำในสิ่งที่คิดไว้ได้
เมื่อคุณสมบัติที่ดีอย่างความเกรงใจ ดันกลายเป็นดาบสองคม ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราจะ ‘เลิกเกรงใจ’ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
โดยเฉพาะในการทำงาน ที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่านกันมาบ้างกับการ “เกรงใจจนทำให้งานออกมาไม่ดีอย่างที่หวัง”
หากเราลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
A: “ไอเดียนี้ดีไหม?”
B: (คิดในใจ) “โห ไม่น่าไหวมั้ง”
A: “น้อง B ว่าไง”
B: “อ๋อ ได้อยู่นะพี่”
เมื่อ B เลือกที่จะสนับสนุนไอเดียของ A โดยไม่เต็มใจเพราะ ‘ความเกรงใจ’ ไม่อยากหักหน้าให้รู้สึกแย่
แม้ตัวเองมีไอเดียที่ดีอาจจะดีกว่าแต่ด้วยความเกรงใจเพื่อน รุ่นพี่ หรือแม้แต่หัวหน้า
สุดท้ายงานที่ควรจะดี ก็อาจออกมาไม่ดีอย่างที่คิดและทุกคนก็อาจต้องนั่งผิดหวัง เสียพลังใจกันไปทั้งหมด
โดยเฉพาะ B ที่จะนึกย้อนกลับไปว่าถ้าวันนั้นกล้าเสนอไอเดียออกไป วันนี้ก็คงไม่ต้องมานั่งเสียใจและเสียดายแบบนี้
แต่กลับกัน ถ้า B เลือกที่จะ “เลิกเกรงใจ” นำเสนอไอเดียของตัวเองผ่านทักษะการสื่อสารที่ดี
โดยไม่ทำร้ายจิตใจและความมั่นใจของใคร ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า จนจบแบบ Happy Ending
ปรับความคิด ฝึกเป็นคนเลิกขี้เกรงใจด้วย 3 วิธีง่ายๆ
1) เกรงใจ ≠ เอาใจ
หลายคนมักติดกับดักคำว่าเกรงใจ จนไม่กล้าทำอะไรเลย ซึ่งความเกรงใจ จะใช้ก็ต่อเมื่อตัวเองจะไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน
กับการทำงาน ถ้าเราไม่กล้าแย้งเพราะกลัวตัวเองจะมีปัญหา ก็ย่อมไม่ใช่ความเกรงใจแต่เป็น ‘การเอาใจ’ ซึ่งไม่ถูกต้อง
2) มองถึงผลลัพธ์ยาวๆ มากกว่าการเขี่ยปัญหาออกไปสั้นๆ
“ถ้าวันนั้นกล้าพูดออกไป วันนี้คงไม่ต้องเสียใจแบบนี้”
การต้องเสียใจทีหลังเพราะเสียดายโอกาสที่ผ่านไปแล้วเพราะเลือกที่จะปัดปัญหาออกไปจากตัว เมื่อกระแสน้ำพัดมา
แน่นอนการ ‘ตามน้ำ’ ย่อมง่ายกว่าการสร้างขวางไว้ แต่สุดท้ายกระแสน้ำนั้นอาจพัดไปหาจุดจบที่ทุกคนต้องเสียใจ
ถ้าเลือกได้อีกครั้ง เราก็คงจะทุ่มสุดตัวเพื่อขวางเอาไว้
กับการทำงานก็เช่นกัน เมื่อเรารู้ว่าสามารถเปลี่ยนกระแสน้ำได้ ทำไมเราไม่ลองทุ่มสุดตัวเพื่อเสนอความคิดอีกมุมล่ะ?
3) มองโลกในแง่ดีบ้าง
เรามักกลัวเมื่อจะแสดงความคิดเห็น ‘แย้ง’ กับใครสักคนคิดไปเองว่าถ้าบอกไปเขาจะต้องโกรธและมองเราไม่ดีแน่ๆ
แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะเข้าใจและให้ความร่วมมืออย่างดีก็ได้ ซึ่งเราสามารถลดความเสี่ยงความขัดแย้งได้ด้วยทักษะการสื่อสารที่ดี
เข้าหาด้วยความเป็นมิตร จริงใจ และอธิบายให้เข้าใจตรงกัน
หากทุกวันนี้เรายังไม่สามารถเอาชนะความขี้เกรงใจของตัวเองได้ ก็อยากให้ลองย้อนไปว่าอาวุธที่มีชื่อว่า ‘ความเกรงใจ’ ที่เราถือไว้นี้
เคยทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนรอบข้างไปบ้างไหม
เพราะนอกจากเกรงใจคนอื่นแล้ว เราต้องเกรงใจตัวเองให้เป็นด้วย ให้ความสำคัญกับตัวเองและเป้าหมาย เข้าใจความต้องการของตัวเอง
และอย่างลืมเกรงใจอีกหนึ่งสิ่งสำคัญอย่าง ‘โอกาส’ จะได้ไม่ต้องเสียใจและเสียดายทีหลัง เมื่อมันผ่านไปแล้ว
อยากคอมเมนต์งาน นำการ Brainstorm แต่ไม่รู้จะทำยังไง? ฝึกทักษะ Build-Break-Build “การชื่นชมเพื่อพัฒนา”
ไม่ว่า Feedback งาน หรือการประชุมก็เอาอยู่ ได้งานแถมความสัมพันธ์ราบรื่น อ่านต่อที่: https://bit.ly/3KBrpEo
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
QUIET QUITTING เทรนด์ทำงานประคองตัว เพราะไม่รู้จะเหนื่อยไปทำไม
ย้ายงานใหม่ แต่ทุกข์ใจกว่าเดิม
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment
#ReeracoenThailand
#Psychology #Selfdevelopment #inspiration