Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

สัญญาณจากการทำงานที่บ่งบอกว่าเรากำลังจะไม่ผ่านโปรฯ

  • Home
  • General Topic
  • สัญญาณจากการทำงานที่บ่งบอกว่าเรากำลังจะไม่ผ่านโปรฯ

Select Category

Probation Period หรือช่วงเวลา “ทดลองงาน” ของพนักงานใหม่ซึ่งต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองด้วยผลงานตามข้อตกลงและความคาดหวังที่คุยกันไว้ก่อนเข้ามาเริ่มงาน นอกจากนี้ระหว่างช่วงเวลาทดลองงานนี้อาจมีอุปสรรคซึ่งเกิดจากความ “ใหม่” ที่เรายังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น ระบบการทำงาน ความเข้าใจในรูปแบบของธุรกิจ โดยจะค่อยๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อใช้เวลาเรียนรู้งานไปสักพักจนหลายๆ อย่างจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง รวมถึงงานที่ “เข้ามือ” มากขึ้น

ในทางกลับกันหากเราไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับที่ใหม่และที่สำคัญคือไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังขององค์กรก็มีโอกาสสูงที่เราจะ “ไม่ผ่านโปรฯ” ซึ่งในบทความนี้เราได้รวบรวมสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีสิทธิที่จะไม่ผ่านโปรฯ โดยสังเกตได้จากการทำงานในแต่ละวัน

มีปัญหาในการทำงานเป็นทีม

ทักษะการทำงานเป็น “ทีม” ถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดการผ่านโปรฯ หากเราสามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี ไม่มีปัญหากับใคร เป็นส่วนหนึ่งของทีม มีความเป็นผู้นำ ซื้อใจเพื่อนร่วมงานได้ก็จะเป็นผลดีต่อ “งานโปรเจกต์” ที่ต้องอาศัยแรงจากหลายส่วน

แนวทางการทำงานเข้ากับ “หัวหน้างาน” ไม่ได้

ในฐานะพนักงานใหม่เราอาจเข้ามาพร้อมไอเดียใหม่รวมถึงชุดทักษะประสบการณ์ซึ่งทำให้มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ จนอาจเกิดสถานการณ์ “ขัดขา” กับหัวหน้าในหลายๆ ครั้ง

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งที่บริษัทแอบคาดหวังจากพนักงานใหม่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ “ทุกคน” ต่างต้องใช้เวลาปรับตัวดังนั้นในช่วงแรกอาจต้องใจเย็นและเรียนรู้ภาพรวมให้มากจากนั้นจึงค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองจนเกิดความเชื่อมั่นจากคนรอบข้าง และเมื่อถึงเวลานั้นเราจะรู้ว่าควรดำเนินงานอย่างไรให้ได้ผลดีพร้อมกับสามารถลดความเสี่ยงได้มากที่สุด

เกิดความผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง

โดยทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีใครที่เข้ามาแล้วสามารถเริ่มงานได้ทันทีเพราะหน้าที่และวิธีการทำงานของแต่ละบริษัทก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ในช่วงแรกๆ ทำให้มีโอกาสที่เราจะพบว่าตัวเองทำงานพลาดอยู่บ้าง แต่หากทำงานไปแล้วเกิดความผิดพลาดอย่างต่อเนื่องก็อาจต้องมองถึงสาเหตุที่มักเกิดได้จาก 2 กรณี หนึ่งคือเพราะ “ความไม่เข้าใจงาน” กับสองคือ “ความสะเพร่า” ก็ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและพิสูจน์ตัวเองกลับมาให้ได้

ไม่สามารถจัดการกับหน้าที่ส่วนตัวได้ดีพอ

หากพบว่าตัวเองยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารเวลา เช่น ทำงานไม่ทัน ต้องเร่งเผาก่อนถึงเดดไลน์บ่อยๆ อาจแสดงถึงความไม่เข้าใจงาน ไม่รู้ว่าควรจัดการงานอย่างไรซึ่งไม่ต้องรอให้ถึงช่วงประเมินแล้วค่อยดำเนินการแก้ไข

เราสามารถเข้าหาเชิงรุกด้วยการขอคำแนะนำจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานถึงวิธีดูแล Work flow ที่เหมาะสม รวมถึงใช้เครื่องมือจัด “ลำดับความสำคัญ” อาทิ Isenhower Metrix หรือ To do list เพื่อพัฒนาในส่วนที่ยังบกพร่อง (อ่านบทความต่อได้ ที่นี่)

มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา “การเมือง” ในที่ทำงาน

ในทุกๆ องค์กรที่มีคนจำนวนมากที่มีพื้นฐานความคิดและสินสัยแตกต่างกันก็อาจมีเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งกันจนถึงขั้น “ไม่ชอบ” ที่จะทำงานร่วมกัน ทางที่ดีในฐานะพนักงานใหม่ พยายามวางตัวเป็นกลางและอย่าพาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะต้องร่วมงานกับใครและจะมีปัญหาอะไรตามมาบ้าง

โดยสรุป

ส่วนใหญ่การประเมินพนักงานใหม่ในช่วงทดลองงานจะมี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่บริษัทนำมาพิจารณา ได้แก่

1) ทักษะความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

ชี้วัดจากผลลัพธ์ในการทำงาน ความเข้าใจในเนื้องาน การบริหารเวลา วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอย่างน้อยต้องอยู่ในระดับที่บริษัทคาดหวังไว้ โดยเป็นสิ่งที่เรารู้ได้จากการสัมภาษณ์พูดคุยตกลงก่อนเข้ามาเริ่มงานตั้งแต่ต้น

2) Soft skills และการทำงานเป็นทีม

นอกจากงานที่ทำคนเดียวได้ส่วนใหญ่แทบทุกบริษัทมักจะต้องมีการทำงานโปรเจกต์ซึ่งต้องอาศัยทีมจากหลายๆ ส่วน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถยึด “ตัวเอง” เป็นหลักได้ เราควรแสดงให้เห็นว่าสามารถเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญไปจนถึงสร้างผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้บริษัท

3) ทัศนคติในการทำงาน

เมื่อทักษะโอเค มีความสามารถทำงานเป็นทีมได้อีกหนึ่งปัจจัยสุดท้ายที่บริษัทให้ความสำคัญก็คือ “ทัศนคติ” ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปกติที่การทำงานต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือ Feedback กันบ้างเพื่อชี้ให้เห็นช่องทางและโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปมากขึ้น แต่สำหรับบางคนที่ไม่ยอมรับคำตำหนิและแสดงออกด้วยอารมณ์ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่ผ่านโปรฯ ได้เช่นกัน

สร้างโอกาสให้ตัวเอง หางานผ่านเครือข่าย Recruiter มืออาชีพ

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่:

5 ข้อสังเกตเมื่อเรากำลังไปได้ดีกับหน้าที่การงาน|

ลักษณะของ Dead-End Job ที่ไม่มีโอกาสให้เราได้เติบโต

แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/3QqAbKj

https://bit.ly/3rOGME1

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand

Related Posts