Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

5 ข้อสังเกตเมื่องานใหม่ที่เพิ่งย้ายไปอาจยังไม่ใช่สำหรับเรา

  • Home
  • General Topic
  • 5 ข้อสังเกตเมื่องานใหม่ที่เพิ่งย้ายไปอาจยังไม่ใช่สำหรับเรา

Select Category

5 ข้อสังเกตเมื่องานใหม่ที่เพิ่งย้ายไปนั้นอาจยังไม่ใช่สำหรับเรา

วันแรกของการทำงานมักให้ความรู้สึกที่น่าตื่นเต้น เราสามารถนำประสบการณ์ในอดีตมาเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมและผู้คนใหม่ๆ หากเราเริ่มต้น “ก้าวแรก” ได้ดีก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จไม่น้อย แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อช่วงเวลาของก้าวแรกที่น่าตื่นเต้นนั้นได้ผ่านพ้นไปและก้าวต่อๆ ไปได้พาเราไปเจอ “อีกหนึ่งมุมมอง” ที่ต่างจากเดิม

กลายเป็นว่างานใหม่ที่คิดว่าใช่ กลับเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด หลังพบว่าความเป็นจริงที่เจอช่างแตกต่างและห่างไกลกับความคาดหวังในตอนแรกซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จาก 5 สัญญาณต่อไปนี้

1. Job Description ไม่ตรงกับความเป็นจริงของหน้างาน

เชื่อหรือไม่ว่า Job Description สามารถบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด ไม่เพียงแต่อธิบายถึงหน้าที่ความรับผิดชอบและความคาดหวังซึ่งบางจุดอาจเป็นความท้าทายที่ “ดึงดูด” ให้เราอยากเข้าไปทำงานและรวมไปถึง “วัฒนธรรมองค์กร” จากลักษณะการสื่อสาร เช่น “ทำงานได้ดีภายใต้แรงกดดัน” ที่หมายถึงการต้องรับมือกับงานเร่งด่วนในแต่ละวัน ดังนั้น Job Description ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจว่าต้องทำอะไรยังทำให้เราสามารถ “วางแผนงาน” จัดลำดับความสำคัญของหน้าที่ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

แต่หากสิ่งที่คิดเกิดไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ต้องทำ เช่น อยากมีการเติบโตของทักษะบริหารจัดการมากขึ้นซึ่ง Job Description ทำให้เกิดความคาดหวังที่อาจจะได้ทำงานเชิง “บริหาร” แต่ในความเป็นจริงนั้นหนักไปทาง “ลงมือทำ” ด้วยตัวเองจนแผนงานต่างๆ รวมถึงความคาดหวัง “ผิดแผน” ไปหมด

เมื่อนำงานที่ต้องทำในแต่ละวัน (Daily Tasks) มาเทียบกับหน้าที่ความรับผิดชอบบน Job Description แล้วพบว่ามันช่าง “ต่างกัน” เสียเหลือเกินนั่นอาจเป็นสัญญาณข้อแรกว่างานนี้ยังไม่ใช่สำหรับเรา

2. ไม่ถูกส่งเสริมให้กล้าลงมือทำเพื่อโอกาสเติบโต

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นในการทำงานคือความสามารถในการเติบโตไปข้างหน้าไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาคุณภาพของงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบ โอกาสที่จะริเริ่มโปรเจกต์ต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือแม้แต่การสร้าง Impact ในทิศทางที่ดีต่อบริษัทซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือหรือการสนับสนุนจากผู้ที่มีอำนาจสูงกว่า

แต่บางครั้งด้วยสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายอาจทำให้องค์กรประสบปัญหาบางอย่างและไม่สามารถให้การสนับสนุนแผนงานของเราได้มากเท่าที่ควร จากปัญหาดังกล่าวลองจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและแรงสนับสนุนหรือเครื่องมือที่จำเป็นต่อการทำงานนั้นๆ แล้วพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาพร้อมเหตุผลของความสำคัญเพื่อหาทางที่มีแนวโน้มจะสามารถเป็นไปได้มากที่สุด

3. ใช้เวลากับการถกเถียงถึงวิธีการ มากกว่ามองภาพรวมความสำเร็จ

แทนที่จะใช้เวลาและความพยายามไปกับ “เป้าหมาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเรากลับติดอยู่กับปัญหาเชิง “วิธีการ” ที่ยิบย่อยเกินไปทั้งๆ ที่ไม่ได้มีผลอะไรต่อความสำเร็จก็ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักเพราะปัญหาเล็กๆ เหล่านี้แม้จะไม่ได้ “แก้ยาก” แต่ก็จะคอยเป็นอุปสรรคที่คอยขัดเราอยู่เสมอจนต้องตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ เช่น “ทำไมเรื่องนี้ถึงยังเป็นปัญหาได้” ไปจนสงสัยในตัวเองว่าเราทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหมดไฟในที่สุด

4. ไม่มีส่วนร่วมการประชุมที่เรา “ควร” จะมี

อย่านิ่งนอนใจหากคุณพลาดการประชุมสำคัญอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่จะขาดโอกาสมีส่วนร่วมพัฒนาวางแผนงานหรือมีสิทธิกำหนดทิศทางการทำงานของตัวเองในอนาคต ยังเป็นสัญญาณที่บอกว่าภาระงานในแต่ละวันอาจมีมากเกินไป เช่น “ไม่สะดวกเข้าประชุม” เพราะติดงานที่ต้องรีบทำก่อนถึงเดดไลน์

และคงไม่ต่างอะไรจาก “หุ่นยนต์” หากชีวิตการทำงานเราได้เพียงก้มหน้าทำตามคำสั่งโดยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือกำหนดทิศทางของตัวเองได้ ดังนั้นหากคุณยังขาด “สมดุล” ระหว่างการคิดวางแผนและการลงมือปฏิบัติงาน ลองพูดคุยกับผู้รับผิดชอบเพื่อหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวเพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. “ความรู้สึกมันฟ้อง”

นอกเหนือจากสิ่งที่สัมผัสได้จากภายนอกลองฟังเสียงจากภายในของตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรกับงานปัจจุบัน เพราะสัญชาติญานหรือความรู้สึกนั้นไม่เคยโกหกเรามีแต่ความคิดที่พยายามหาทางหลอกตัวเอง

บางครั้งการพิจารณาถึงทางเลือกใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตัวเองมากขึ้นอาจดีกว่าการฝืนกลับไป “ปรับ” จนสูญเสียความเป็นตัวเอง เพราะเราทุกคนสมควรที่จะตื่นขึ้นมาแล้วไปทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ เช้า ทางที่ดีสำหรับการป้องกันปัญหาดังกล่าวคืออย่ากลัวที่จะ “ตั้งคำถาม” เพื่อหาข้อมูลก่อนทำการตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน

อ่านบทความ: สัมภาษณ์งานอย่าลืมใช้ 5 คำถามนี้ รู้ได้ทันทีว่าองค์กรไหนควรหนีไป

ฝากโปรไฟล์สมัครงานผ่าน Reeracoen Thailand

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3EcX24M

Related Posts