สังเกตอย่างไรว่าควรจ้างผู้สมัครคนไหน
6 สัญญาณเมื่อเจอแคนดิเดทที่ใช่
ในกระบวนการคัดเลือกพนักงานเรามักจะสังเกตเห็น “คนที่ไม่ใช่” จากหลายองค์ประกอบซึ่งทำให้ตัดสินใจได้เร็วว่าพวกเขายังไม่เหมาะกับองค์กร เช่น ลักษณะนิสัย สไตล์การทำงาน เป้าหมาย การวางตัว แต่ในการค้นหา “คนที่ใช่” มักจะต้องอาศัยรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านั้นและเพื่อการทำงานที่แม่นยำ รวมถึงประหยัดเวลาในหน้าที่อื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายคัดกรองจะต้องมีสายตาที่เฉียบคมมากพอจนสามารถมองออกได้ว่าใครควรผ่านเข้ามา และใครควรถูกปัดตกไป
บริษัทจัดหางาน Reeracoen Thailand มี 6 ข้อสังเกตที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคนกลุ่มนี้อาจเป็นแคนดิเดทที่ใช่ ซึ่งจะมีอะไรบ้าง มาติดตามไปพร้อมกันได้เลย
สัญญาณที่ 1: รู้จักเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
กลุ่มผู้สมัครที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวโดยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งที่สมัครไว้ล่วงหน้า มักจะมีแนวโน้มที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดีกว่า รวมถึงมีความเข้าใจในความคาดหวังที่มีต่อการทำงานที่ถูกต้อง เพราะการที่พนักงานจะประสบความสำเร็จในที่ทำงานแบบยืนยาวไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีแค่ไหน แต่ควรเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ “ส่วนหนึ่ง” ขององค์กร
ดังนั้น หากผู้สมัครแสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจทำความรู้จักกับองค์กรจริงๆ ทั้งในแง่ของหน้าที่การทำงาน ค่านิยม วัฒนธรรม และเป้าหมายของบริษัทก็ค่อนข้างมีแนวโน้มว่าจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้เป็นอย่างดี
สัญญาณที่ 2: รู้สึกถึง “พลังงาน” เชิงบวก
สิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาที่ผู้สมัครบอกเล่าก็คือ “วิธีการพูด” ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ข้อสังเกตคือความกระตือรือร้นในภาษากาย เช่น เวลาถามถึงงานก่อนหน้านี้ แล้วพวกเขามีความภูมิใจที่ได้บอกเล่า หรือสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นในน้ำเสียงเวลาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าพวกเขารักในงานของตัวเอง
สัญญาณที่ 3: มีความตรงไปตรงมา
ในการคัดเลือกพนักงานเราก็มักจะมองหาตัวเลือกที่ “สมบูรณ์แบบ” แต่ความจริงก็คือแทบทุกคนล้วนมีข้อบกพร่องในแบบของตัวเองกันทั้งนั้น ถ้าหากผู้สมัครกล้าเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเองแม้จะเป็นข้อเสียก็หมายถึงพวกเขาต้องการให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้จักกับตัวตนที่แท้จริง ไม่ต้องการใส่หน้ากากหรือสวมบทบาทเป็นคนอื่นเพื่อให้ได้งาน ซึ่งจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาหลังเริ่มงานสำหรับองค์กรด้วยเช่นกัน
สามารถสังเกตได้ด้วยคำถามสัมภาษณ์งานที่เจาะจงถึงจุดอ่อน หรือประสบการณ์ความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้นในการทำงาน
สัญญาณที่ 4: สื่อสารกระชับ ชัดเจน รวดเร็ว
ส่วนที่ใช้เวลามากที่สุดอย่างหนึ่งในกระบวนการรับสมัครงานก็คือการติดต่อสื่อสาร ประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่การคัดกรอง นัดสัมภาษณ์ ไปจนถึงต่อรองออฟเฟอร์ก่อนเริ่มงาน ซึ่งจะกินเวลามากขึ้นหากผู้สมัครตอบกลับช้า ติดต่อยาก
โดยสาเหตุที่ผู้สมัครตอบกลับช้าเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล อาจเป็นเพราะช่วงนั้นกำลังงานยุ่งเลยไม่ค่อยมีเวลาหรือแม้แต่อยากรอพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทอื่นก่อน ดังนั้นผู้สมัครที่สามารถตอบกลับได้อย่างรวดเร็วในระหว่างขั้นตอนต่างๆ จึงหมายถึงการให้เกียรติ และแสดงออกว่าอยากเข้ามาร่วมงานจริงๆ
สัญญาณที่ 5: การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างลื่นไหล
การสัมภาษณ์งานที่ดีไม่ได้วัดกันที่ผู้สมัครตอบคำถามได้มากแค่ไหน แต่ควรเป็นความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่เคลียร์ข้อสงสัยของทั้งสองฝ่าย ถ้าองค์กรเป็นฝ่ายถามข้อมูลจากผู้สมัครเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการตั้งคำถามหรือแสดงความอยากรู้เพิ่มเติมเลยอาจหมายความว่าพวกเขาไม่ได้มีใจจะมาร่วมงานด้วยมากนัก
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อการสัมภาษณ์งานมีคุณภาพก็คือความสบายใจ เหมือนคนสองคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่าการสอบสวน หากผู้สมัครมีการตระเตรียมคำถามมาเป็นอย่างดีเพื่อทำความรู้จักเพิ่มเติมกับเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในองค์กร และให้ความรู้สึกเหมือนทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะเข้ากันได้ก็หมายถึงสัญญาณที่ดีและองค์กรก็ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือ
สัญญาณที่ 6: สามารถส่งมอบไอเดียให้กันได้
ความสำเร็จและประสบการณ์ของผู้สมัครจากอดีตอาจยังการันตีไม่ได้ว่าพวกเขาจะสำเร็จกับองค์กร เพราะในที่ทำงานแต่ละแห่งมีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างกันตั้งแต่เครื่องมือ โจทย์ในการทำงาน ตลอดจนอุปสรรคต่างๆ เพราะฉะนั้นการจะตัดสินว่าผู้สมัครคนไหนเหมาะจะเข้ามาทำงานหรือไม่ต้องอาศัยการตั้งโจทย์แล้ววิเคราะห์จากมุมมอง แนวคิด และการวางแผน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นแนวทางว่าจะนำเอาความสามารถที่มีมาใช้ได้อย่างไรบ้าง