ปัจจุบัน คนจำนวนมากเริ่มฝึกใช้เครื่องมือ AI ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและการทำงานมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงใช้เป็นตัวช่วยสำหรับสมัครงาน อย่างการให้ Generative AI ช่วยเขียนเรซูเม่, cover letter ที่ทั้งประหยัดเวลาแถมยังได้ความเป๊ะของเนื้อหาอีกด้วย
หากอ้างอิงการทดลองจาก MIT Sloan เราจะพบว่าเรซูเม่ที่สร้างขึ้นจากเครื่องมือ AI มีการใช้หลักภาษาที่ดีกว่า และหากเทียบระหว่างคนที่คุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่าง คนที่ ‘เขียนได้ดีกว่า’ ก็จะดูมีภาษีดีกว่าอีกคนแบบชัดเจน ดังนั้นเครื่องมือ AI จึงอาจมีส่วนสำคัญต่อโอกาสได้งาน
โดยลักษณะเครื่องมือที่ผู้คนนิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ChatGPT รวมถึง LazyApply, SimplifyJobs เพื่อประหยัดเวลาให้กับขั้นตอนการค้นหางานจากช่องทางต่างๆ นอกจากนี้หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะจะทำงานอะไรก็ยังมี Pyjama Jobs และ Talentprise ที่ช่วยจับคู่ “ทักษะ” และแนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมให้
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่านี้อาจให้ความ ‘สะดวก’ ก็จริง แต่ในบางทีก็อาจต้องแลกมาด้วยโอกาสได้งานของตัวเราเองเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่การใช้ AI ช่วยทำเรซูเม่สำหรับส่งสมัครงานซึ่งคุณ Bryan Robinson จาก Forbes ได้ให้เหตุผลจากการสรุปข้อมูลของ Resume Genius ไว้ดังนี้
1) ไม่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นในหลายงาน
เรซูเม่สำเร็จรูปที่สร้างขึ้นจากเครื่องมือ AI มักไม่สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์
โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องอาศัยทักษะนี้เป็นหลักอย่าง สายงานการตลาด การสื่อสาร ศิลปะ
ที่ถือเป็นความละเอียดอ่อนทางความคิดของมนุษย์และเป็นข้อจำกัดที่ AI ยังไม่สามารถทดแทนได้
2) เนื้อหาดี แต่ไม่มีเอกลักษณ์
เครื่องมือ Generative AI สามารถสร้างลิสต์ ‘คุณสมบัติ’ และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับตัวเราได้
อาจได้ความถูกต้องของหลักภาษาที่มีคุณภาพก็จริง แต่อย่างไรก็ตามปัญหาคือมันยังไม่สามารถนำลิสต์เหล่านี้
มาประกอบกันและสะท้อนเรื่องราวของแต่ละคนได้
เนื่องจากเครื่องมือ AI ไม่สามารถคราฟต์เรซูเม่ให้เป็นแบบ ‘เฉพาะตัว’
ไม่ว่าจะประสบการณ์ ความสามารถ หรือทัศนคติที่แต่ละคนโดดเด่นแตกต่างกัน
ทำให้ยังมีข้อด้อยที่ AI ยังไปไม่ถึงอยู่ซึ่งก็คือความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ในการถ่ายทอด
3) ข้อมูลส่วนเกินที่ไม่เกี่ยวข้อง
จากการทดลองสำรวจ พบข้อมูลที่อาจต้องปักธงแดงไว้ตัวใหญ่ๆ
เนื่องจากบ่อยครั้งที่ AI สร้างเรซูเม่โดยมีข้อมูลที่ผิดพลาดออกมาด้วย
สาเหตุเพราะเกิดปัญหาในการรับข้อมูลตั้งต้น จนทำให้ตีความและถ่ายทอดเนื้อหาผิดเพี้ยนไป
ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ ‘ยอมรับได้’ ในมุมของนายจ้าง
ยิ่งกับความประทับใจแรกตั้งแต่ยังไม่เจอหน้ากันยิ่งสำคัญ
และความผิดพลาดในลักษณะนี้สะท้อนถึงความสะเพร่าไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ที่สำคัญ
4) ไม่ได้โชว์ทักษะการสื่อสาร
ในการศึกษาจาก Resume Genius ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากๆ
คือคำถามที่มีต่อ ‘ขอบเขต’ การใช้ AI ของผู้สมัคร
ซึ่งได้ข้อสรุปคือไม่เกี่ยวว่าจะใช้หรือไม่ใช้ AI ช่วยทุ่นแรงเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘วิธีการใช้’
และที่แน่ๆ จากเหตุผลสองข้อที่กล่าวมาข้างต้น
เราจะพบว่าเครื่องมือเหล่านี้ ‘สอบตก’ ในการสะท้อนทักษะการสื่อสารของผู้สมัคร
เราคงรู้กันดีว่าเรซูเม่คือ ‘ใบเบิกทาง’ ของผู้สมัครดังนั้นโอกาสที่จะรุ่ง หรือจะร่วงก็วัดกันตั้งแต่ตรงนี้
โดยปัจจัยที่จะชี้วัดระหว่างคนที่รุ่งกับคนที่ร่วงนับตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์งาน
ก็คือ ความโดดเด่นในด้านต่างๆ ที่มีอยู่บนเรซูเม่ ซึ่งหากนำผู้สมัครสองคนมาเปรียบเทียบกัน
ในแง่ของ Technical skill อาจไม่ต่างกันเท่าไรแต่ส่วนต่อไปที่จะเข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสิน
ก็คือ Soft skill ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ทักษะการสื่อสาร’ ที่นายจ้างสามารถมองเห็นความแตกต่างได้ทันที
ทำให้การใช้เรซูเม่สำเร็จรูปจาก AI จึงไปขัดกับจุดประสงค์ในการคัดเลือกคนเข้าทำงานขององค์กร
ซึ่งต้องการรู้จักกับตัวตนผู้สมัครให้ดีที่สุดในทุกๆ แง่มุม (เท่าที่จะทำได้)
สรุป
เครื่องมือ AI จะช่วย ‘ทุ่นแรง’ และเพิ่มประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อผู้สมัครรู้จังหวะและวิธีการใช้งานที่เหมาะสม
ซึ่งจุดเด่นคือสามารถลัดขั้นตอน ลิสต์เนื้อหาที่น่าสนใจให้เราได้เลือกใช้
แต่จุดด้อยคือไม่สามารถสะท้อนความเป็นตัวเองลงไปได้
ดังนั้น AI อาจจะช่วยเริ่มขึ้นโครงสร้างของตึกได้ก็จริง แต่หากจะทำให้เสร็จสมบูรณ์นั่นคือหน้าที่ของตัวเราเอง
ฝากโปรไฟล์ไว้กับเรา Reeracoen Recruitment
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม:
รู้จักและรับมือ ‘เทคนิค’ การจ้างงานที่นายจ้างมักใช้ดึงดูดผู้สมัคร
แนะนำ 9 คำถามสัมภาษณ์งานสำหรับผู้สมัคร หากไม่อยาก ‘เฟล’ กับงานใหม่
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3OdqDRa
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment