หากกล่าวว่าเด็กแรกเกิด เปรียบเสมือนผ้าขาว 7 วันแรกในการทำงานของพนักงานใหม่ก็เช่นกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาสามารถเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งที่เกิดเหตุการณ์ชนิดที่ว่ามาทำงานวันเดียว “ลาออก” ทั้งนี้อาจเกิดจากหัวหน้า หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลไม่ได้ให้ความใส่ใจ หรือละเลยสิ่งสำคัญไป วันนี้ Reeracoen Thailand จะพาไปดูว่าในช่วงเวลา 7 วันชี้ชะตาพนักงานใหม่ มีอะไรต้องระวังและควรกระทำบ้าง?
ในฐานะหัวหน้า หรือนายจ้าง คุณเคยเจอกรณีเหล่านี้ไหม เช่น
“เข้ามาทำงานได้สัปดาห์เดียว ลาออก!?” “ตอนสัมภาษณ์งานก็ดูโอเค แต่พอมาทำจริงๆ กลับเป็นหนังคนละม้วน”
หรือ “จู่ๆ พนักงานที่เข้ามาใหม่ก็มีทัศนคติต่อบริษัทในแง่ลบ”
หากคุณเคยเจอกับปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาทำงานได้แปปเดียวแล้วก็หายไป หรือทำไปทำมา กลายเป็นว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีกับองค์กร หรือแม้แต่ทำงานออกมาไม่ตรงตามความต้องการ อาจไม่ได้ผิดที่ตัวพนักงานใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นตัวเราเองที่ “ละเลยสิ่งสำคัญ” ในการดูแล ตอบคำถาม ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน
“7 วันแรกคือช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน และต้องให้ความใส่ใจมากที่สุด”
สัปดาห์แรกที่สมาชิกใหม่เข้ามาร่วมทีม เป็นจุดหนึ่งที่หัวหน้าหลายคนเผลอมองข้ามไป โดยที่ไม่รู้ตัวว่าใน 7 วันแรกนี่แหละ ที่มักจะเป็นตัวชี้ชะตาว่าพนักงานจะอยู่หรือจะไป
และนอกจากหัวหน้าที่ควรทำความเข้าใจถึงช่วงเวลา 7 วันแรกนี้ พนักงานใหม่เองก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องระวัง และให้ความร่วมมือกับหัวหน้า
เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิด จนสูญเสียโอกาสดีๆ ที่จะได้ทำงานในองค์กรต่อไป
สาเหตุเป็นเพราะการย้ายงานไปอยู่ในสังคมใหม่ การทำงานแบบใหม่ สภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และบางบริษัทก็ไม่สามารถให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สมาชิกใหม่ปรับตัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นฝั่งภายในองค์กรเองที่ส่งมอบ “พลังงานลบ” เข้าหาพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยนินทาคนอื่น ตำหนิปัญหาต่างๆ ที่องค์กรกำลังหาทางแก้ไขอยู่
นอกจากพลังงานแง่ลบที่พนักงานใหม่ได้รับ ยังมีปัญหาในด้านการทำงาน หากพนักงานใหม่มีคำถาม แต่หัวหน้าไม่สามารถให้คำตอบได้ หรือระบบการสอนงานที่ไม่ชัดเจน ครบถ้วน ปล่อยให้คนมาใหม่เกิดแต่คำถามขึ้นมาในหัว โดยไม่ได้รับคำตอบ ก็เป็นจุดที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ “หนี” ได้ไม่ยากเลย
“รับมือ 7 วันอันตราย และสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าไม่ควรที่จะละเลย”
เมื่อเรารู้แล้วว่าสัปดาห์แรกของพนักงานใหม่ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ชะตาของพวกเขาและองค์กร
มีเรื่องอะไรบ้างที่หัวหน้าควรจะทำ เพื่อป้องกันการสูญเสียชิ้นส่วนสำคัญที่จะมาเติมเต็มองค์กรให้ดีขึ้น
วันนี้ Reeracoen Thailand นำเช็กลิสต์ 5 ขั้นตอนดูแลพนักงานใหม่สำหรับหัวหน้ามาแชร์กันดังนี้ครับ
Step ที่ 1 “เคลียร์ทุกข้อสงสัย”
ไม่แปลกที่พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มงานในช่วงแรก จะมีคำถามมากมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับงาน เพื่อนร่วมทีม ภาพรวมองค์กร วิถีปฏิบัติไปจนถึงวัฒนธรรม ซึ่งคำถามเหล่านี้ อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่อยู่มาก่อน แต่แน่นอนว่าสำหรับคนใหม่ สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างที่เขาต้องเผชิญเมื่อมีการตั้งคำถามขึ้นมา แต่ไม่มีใครให้คำอธิบาย หรือแม้แต่ปล่อยให้พนักงานใหม่หาตอบด้วยตัวเอง อาจจะทำให้เค้ามีมุมมองหรือทัศนคติที่ผิดไปได้ หน้าที่ของหัวหน้าคือการสร้างความเข้าใจ และสร้างมุมมองที่มีต่อองค์กรในด้านต่างๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนให้กับเขา
Step ที่ 2 “สร้างมาตรฐานที่ดีร่วมกันก่อนเริ่มงาน”
แน่นอนว่าช่วงอาทิตย์แรกเป็นช่วงที่มีความสำคัญสำหรับการทำงานของพนักงานใหม่ เพราะเขาจะคอยสังเกตทุกอย่างรอบตัว ซึ่งรวมถึง “มาตรฐานการทำงาน” ที่คนในองค์กรมี เพื่อปรับตัวให้ทำงานร่วมกับทีมได้ และหากปล่อยให้สมาชิกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาร่วมทีมเห็นถึงมาตรฐานหรือพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ดีของคนในทีม ก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเขาลดลงไปด้วยได้
Step ที่ 3 “เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันพลังงานแง่ลบ”
พลังงานในแง่ลบ เป็นอีกหนึ่งตัวอันตรายที่ทำลายภาพลักษณ์ขององค์กร
ซึ่งแม้จะยาก แต่เราสามารถป้องกันได้!
ในช่วงแรกของการทำงาน พนักงานใหม่มักจะมีคำถามกับสิ่งต่างๆ ในองค์กร รวมถึงคำถามต่อปัญหาต่างๆ ที่อาจได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดถึง ซึ่งในฐานะหัวหน้าการให้คำอธิบายกับปัญหาที่เขาได้ยินมา หรือมุมมองในแง่ลบเหล่านี้ จะช่วยให้เขามีความเข้าใจและเพิ่มภูมิคุ้มกันกับพลังงานแง่ลบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีคือการพาสมาชิกใหม่ไปรู้จักกับพนักงานที่ดี มีความคิดในแง่บวก ก็สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้
Step ที่ 4 “อธิบายความคาดหวังและเป้าสำเร็จให้ชัดเจน”
การปล่อยให้พนักงานใหม่ทำงานอย่างเคว้งคว้าง ไม่รู้เป้าหมาย หรือทำงานด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รวมถึงหากขาดตัวชี้วัดหรือเป้าสำเร็จ ก็มีส่วนให้เขาทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การเข้าใจในความคาดหวัง และเป้าหมายชัดเจนที่สามารถวัดผลได้เป็นรูปธรรม จะช่วยให้พนักงานใหม่สามารถวางแผนการทำงานว่าเขาควรจะทำแบบไหน วิธีการใด เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนตามเป้าหมายขององค์กร
Step ที่ 5 “วางแผนการสอนงานอย่างรอบคอบ”
“การสอนงานที่ดี” ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าจะต้องอธิบายงานทั้งหมดภายในวันแรกเท่านั้น เพราะการป้อนข้อมูลที่เยอะเกินไป ทั้งๆ ที่พนักงานใหม่ยังตามไม่ทัน หรือไม่เห็นภาพร่วมกัน จะยิ่งทำให้เขาปรับตัวได้ยาก ดังนั้นการสอนงาน หรือให้แนะนำอาจจะเริ่มจากอธิบายภาพรวมของตัวงาน และค่อยๆ เพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็น ตามลำดับความสำคัญไปทีละจุด เพื่อให้เขาได้ใช้เวลาค่อยๆ ปรับตัว หรือถ้าอยากให้พนักงานใหม่ศึกษางานผ่านการสังเกต ก็ควรจะมีการแนะนำหรือไกด์ไลน์ว่าควรดูจุดไหน ก็จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
สรุปสั้นๆ
สำหรับคนเป็นหัวหน้า เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับพนักงานใหม่
“อย่าปล่อยให้สงสัย ให้เวลาปรับตัว ตั้งเป้าหมายและมาตรฐานที่ชัดเจน
สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ค่อยๆ ให้คำแนะนำ และวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ”
.
.
#ReeraceonRecruitment
#ReeraceonThailand