6 ข้อผิดพลาดในการสัมภาษณ์งาน onsite ที่อาจทำให้องค์กรไม่มั่นใจที่จะจ้างคุณ
2024 นับเป็นปีที่โลกการทำงานย้อนกลับสู่วิถีดั้งเดิมในหลายด้าน ไม่เพียงแต่พนักงานจะถูกเรียกกลับเข้าออฟฟิศกันมากขึ้นแล้ว การสัมภาษณ์เองก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากรูปแบบออนไลน์มาเป็นการสัมภาษณ์งาน onsite ที่บริษัทเหมือนที่ผ่านมา
ซึ่งความแตกต่างระหว่างพูดคุยผ่านวิดีโอคอลกับการใช้เวลาสัมภาษณ์ตัวเป็นๆ ในสถานที่จริงก็นับว่าเป็นความท้าทายอีกขั้นสำหรับผู้สมัครเนื่องจากมีปัจจัยให้เราต้องเตรียมตัวมากขึ้น โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์เรามักจะมีเวลาเตรียมจดโน้ต บางคนมีเครื่องมือช่วยหาข้อมูลไว้คอยตอบคำถาม ทำให้ความกังวลส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ “ในจอ” เท่านั้น ถือว่าลดความประหม่าจากปัจจัยอื่นๆ ได้มาก
แต่กรณีสัมภาษณ์งาน onsite เราไม่มีพื้นที่ “นอกจอ” ไว้คอยหาข้อมูลเพิ่มเติมและนอกเหนือจากเนื้อหาที่พูดคุยกันในห้อง ยังมีความกดดันและอุปสรรคอื่นๆ ที่ควบคุมได้ยาก เช่น “การเดินทางมาสัมภาษณ์งาน” เราก็ต้องทำการบ้านศึกษาเส้นทางเพิ่มเติมเพื่อพาตัวเองมาบริษัทได้ถูกที่และตรงเวลา แถมยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บริษัทอาจพิจารณา อาทิ การแต่งกาย ความน่าประทับใจ ไหวพริบและบุคลิกภาพในสถานการณ์จริง
จากปัจจัยเหล่านี้ที่ทำให้การสัมภาษณ์ดูยากขึ้น จึงมีโอกาสที่เราจะทำพลาดได้ง่ายกว่ารูปแบบออนไลน์ สำหรับใครที่มีคิวนัดหมายสัมภาษณ์งานที่บริษัทเร็วๆ นี้ Reeracoen Thailand มี 6 ข้อผิดพลาดให้ระวังไว้เป็นแนวทางเตรียมความพร้อมในยุค onsite มาฝากกัน
1) ไม่ได้ใช้เวลาพรีเซนต์ตัวเองดีๆ ในช่วงต้น
ด่านแรกที่เราจะต้องทำตอนสัมภาษณ์งานก็คือ “แนะนำตัว” ซึ่งการวางแผนกำหนดประเด็นที่ดีก่อนเริ่ม ก็จะช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างให้เรากับผู้สมัครคนอื่นโดยเพิ่มความน่าสนใจ ทำให้บริษัทอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ช่วยคลายข้อสงสัยที่องค์กรอาจจะมีในตอนต้น ตลอดจนรับมือกับคำถามในข้อถัดๆ ไปได้ง่ายขึ้น
ประเด็นที่ควรหยิบยกมากล่าวถึงระหว่างแนะนำตัว
- ประสบการณ์และผลงานที่เกี่ยวกับตำแหน่งที่สมัคร
- ความใกล้เคียงของงานเทียบกับที่ทำก่อนหน้านี้
- อะไรที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จกับที่นี่
2) ตอบคำถามเชิง “ยกตัวอย่าง” ไม่ได้
มีหลายคำถามสัมภาษณ์งานที่องค์กรนำมาใช้ทำความเข้าใจวิธีทำงานของผู้สมัคร และมักจะอยู่ในลักษณะของการให้ “ยกตัวอย่างสถานการณ์” เช่น อะไรคือผลงานที่คุณภูมิใจมากที่สุด ซึ่งการจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ผู้ฟังเข้าใจ ผู้เล่าจำเป็นต้องมีวิธีการลำดับเนื้อหา ประกอบกับทักษะการเล่าเรื่องที่ดีในระดับหนึ่ง
วิธีแก้ไขปัญหาแบบครบจบในประเด็นและไม่ออกทะเล คือเทคนิคการตอบคำถามด้วยหลักการ S.T.A.R ที่เป็นการกำหนดโครงสร้างคำตอบโดยเริ่มเลือกจากสถานการณ์ที่น่าสนใจ ลำดับหน้าที่ที่เรามีส่วนในสถานการณ์นั้นๆ และปิดท้ายด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง
3) ไม่ลงรายละเอียดการทำงานให้เห็นภาพ
นอกเหนือจากระบุทักษะที่มีลงไปในหน้าเรซูเม่ เราจะแสดงให้บริษัทเห็นด้วยวิธีการอื่นๆ แบบไหนได้อีกบ้าง?
มีคนไม่น้อยเข้าไปในห้องสัมภาษณ์นั่งตอบคำถาม โดยที่ไม่สามารถแสดงให้องค์กรเห็นได้เลยว่าพวกเขามีทักษะอะไรจะนำมาใช้กับการทำงานไม่มีการขาย “ผลงาน” ที่เคยสร้างให้กับบริษัทก่อนหน้านี้ ไม่ได้ลงรายละเอียดให้องค์กรเข้าใจว่าเรามีวิธีการตั้งเป้าหมาย และทำงานอย่างไร
ดังนั้นอยากแนะนำให้ผู้สมัครเลี่ยงการตอบแบบกว้างๆ และพยายามพูดถึงผลงานที่เคยทำให้มากขึ้น โดยลงรายละเอียดให้บริษัทได้รู้ว่าเราทำงานยังไง มีสกิลแบบไหนที่นำมาใช้ในการทำงานเป็นประจำ จะได้มีข้อมูลไว้พิจารณาต่อว่าจากทักษะที่เรามีนั้นสามารถใช้กับการทำงานในองค์กรในส่วนไหนได้บ้าง
4) ไม่รู้จักองค์กรให้มากพอก่อนมาสัมภาษณ์
ผู้สมัครหลายคนพลาดเพราะไม่ทำการบ้านศึกษาข้อมูลจึงไม่เข้าใจ “ความคาดหวัง” ที่มีต่อผู้สมัคร และกลายเป็นตัวเลือกที่ไม่แมตช์กับเป้าหมายของบริษัท ยิ่งผู้สมัครมีข้อมูลเชิงลึกไว้ในมือมากเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้า/บริการ เป้าหมายองค์กร จุดยืนของบริษัท ภาพรวมตลาด ตลอดจนคู่แข่งธุรกิจ ก็จะยิ่งทำให้เข้าใจสถานการณ์และความต้องการของบริษัทและนำเสนอสิ่งที่องค์กรมองหาได้ตรงอย่างจุด
อีกหนึ่งเหตุผลที่ควรศึกษาองค์กรให้มากๆ ก่อนสัมภาษณ์ก็เพื่อเซฟอนาคตของตัวเองด้วยในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งเราอาจเข้าไปในช่วงกำลัง Layoffs การหาข้อมูลล่วงหน้าก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
5) ภาพลักษณ์ดูไม่น่าประทับใจ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมเราพยายามรณรงค์ให้หยุดตัดสินกันด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ก็อยากให้ใส่ใจเรื่อง “ความประทับใจแรก” กันสักหน่อย เพราะสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและในมุมมองในแง่ของความเป็น “มืออาชีพ” ก็เริ่มต้นจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ปรากฎออกมาเสมอ
เมื่อโอกาสมาถึงก็แสดงความพร้อมให้มากที่สุด ทำให้องค์กรเกิดภาพจำว่าเราเป็นผู้สมัครที่ดูดีทั้งคุณสมบัติการทำภายในและยังใส่ใจภายนอก
6) ขาดความมั่นใจ
ถ้าแม้แต่ตัวเรายังไม่มั่นใจในตัวเองมากพอ ก็ไม่แปลกถ้านายจ้างจะไม่แน่ใจว่าตกลงสามารถฝากงานสำคัญให้คนคนนี้ดูแลได้จริงไหม
อยากฝากทุกคนให้มั่นใจในความสามารถของกันมากขึ้นเพราะผลงานที่ผ่านมาคือเครื่องพิสูจน์ว่า “เราทำได้” จากผู้สมัครเป็นสิบหรือเป็นร้อยคนที่มีอยู่ในลิสต์รายชื่อทำไมองค์กรถึงเลือกให้เราได้เข้ามาสัมภาษณ์ ออกไปแสดงตัวตนให้องค์กรได้เห็น เพราะสุดท้ายแล้วงานที่ใช่ย่อมอยู่ในมือของคนที่คู่ควร อย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมบริษัทถึงต้องจ้างเรา” และที่สำคัญ “ทำไมเราถึงอยากทำงานที่บริษัทนี้
สำรวจความพร้อมวิธีเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์งานฉบับปี 2024
แหล่งข้อมูล: https://shorturl.at/ZsnNa