12 คำถามสัมภาษณ์งานสำหรับชี้วัดคุณภาพผู้สมัคร
หลังจากคัดกรองโปรไฟล์และได้ทำ Shortlist ผู้สมัครที่จะเข้ามาสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่หลายองค์กรมักจะเจอปัญหาและปรึกษากับ Reeracoen Thailand เสมอก็คือการ “วัดคุณภาพ” ของแคนดิเดทที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นเหล่านี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครบ้างที่สามารถทำงานได้จริงตามความคาดหวัง หรือมีความสามารถตรงตามหน้าเรซูเม่ที่ยื่นเข้ามาบ้าง
ปกติแล้วการสัมภาษณ์งานโดยทั่วไปก็อาจจะช่วยชี้วัดคุณสมบัติได้ “ส่วนหนึ่ง” แต่เคล็ดลับที่จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เบื้องลึกของผู้สมัครได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจะขึ้นอยู่กับวิธีการกำหนดรูปแบบคำถามที่ใช้ในแต่ละประเด็น ทั้งเกี่ยวกับการทำงาน การมีส่วนร่วมกับองค์กร ทัศนคติ และเป้าหมาย
ซึ่ง Reeracoen Thailand มี 12 คำถามสัมภาษณ์งานเพื่อวัดคุณภาพผู้สมัคร
มาเป็นเช็กลิสต์ให้เพื่อนๆ HR นำไปปรับใช้กับการคัดเลือกพนักงานเข้าองค์กร
เกี่ยวกับประสบการณ์และประวัติการทำงาน
1. เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองที่คนมักจะไม่ค่อยรู้
นอกจากจะช่วยละลายพฤติกรรมให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น คำถามนี้ยังเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวตนของผู้สมัครเพิ่มเติมซึ่งอยู่นอกเหนือจากเนื้อหาในการสัมภาษณ์งานทั่วไป
2. ถ้าย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้หนึ่งเรื่อง จะเลือกทำอะไร
ช่วยทำความเข้าใจเบื้องลึกของปมในใจที่แต่ละคนให้ความสำคัญ บทเรียนชีวิตที่พวกเขาเคยได้รับ รวมถึงวิธีรับมือกับเหตุการณ์นั้นๆ และจะเป็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับการทำงานร่วมกันต่อไป
3. มาทำงานในตำแหน่งปัจจุบันได้อย่างไร
คำถามนี้จะฉายภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Career path ของผู้สมัคร ทั้งระยะเวลาประสบการณ์ และลักษณะงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ รวมถึงแรงจูงใจที่ชี้นำให้เขากลายเป็นตัวเองในเวอร์ชันปัจจุบัน
4. เคยมีปัญหาติดขัดเพื่อนร่วมงานไหม
เพื่อดูความสามารถในการปรับตัวเข้าสังคมของผู้สมัครและวิธีรับมือสถานการณ์หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในกลุ่ม โดยประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยชี้ให้เห็นภาพการอยู่ร่วมกัน
5. ถ้าอยากจะก้าวหน้า คิดว่าตัวเองต้องพัฒนาส่วนไหน
การใช้คำถามนี้ช่วยให้องค์กรได้ประเมินความตระหนักรู้ในตนเอง และจุดที่ยังต้องพัฒนาเพื่อการเติบโตในอาชีพสำหรับผู้สมัคร นอกจากนี้ยังสะท้อนว่าผู้สมัครสามารถยอมรับข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาตนเองต่อไปอนาคต
6. ผลงานสองอย่างที่คุณรู้สึกภูมิใจกับมันมากที่สุด
คำถามปลายเปิดที่ชวนให้ผู้สมัครทบทวนเหตุการณ์สำในชีวิตที่จะทำให้องค์กรได้รู้จัก “คุณค่า” ที่แต่ละคนให้ความสำคัญ หากสอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรก็เป็นสัญญาณบวกที่ดี
7. ลักษณะของ “หัวหน้างาน” ที่คุณชอบมากที่สุด
ทำให้ได้ข้อมูลทัศนคติของผู้สมัครต่อการทำงานร่วมกับผู้นำ แต่ละคนมีความคาดหวังต่อสไตล์การบริหารอย่างไร เช่น ชอบความเป็นระเบียบ ต้องการมีอิสระ หรือมองหาการสนับสนุนและประเมินว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้หรือไม่
เกี่ยวกับทักษะความสามารถ
1. ทักษะอะไรที่สำคัญกับการทำงานของคุณมากที่สุด
เป็นคำถามชี้วัดประสบการณ์ทำงานของผู้สมัคร เนื่องจากคนที่ผ่านทำงานมาในหลากหลายรูปแบบจะรู้ดีว่าทักษะไหนที่มีผลต่อความสำเร็จในบทบาทนั้นๆ ทั้งในแง่ของงานส่วนตัว และการสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กร แถมยังชี้ให้เห็นว่าเชี่ยวชาญทักษะด้านไหนเป็นพิเศษด้วย
2. (ต่อจากข้อแรก) ความสำเร็จที่ได้รับจากงานนั้นคืออะไร
หากผู้สมัครไม่สามารถยกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างจากตำแหน่งงานที่ทำล่าสุด ก็ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับการพิจารณารับเข้าทำงาน
3. (ต่อจากข้อที่สอง) ตัวอย่างความผิดพลาดจากการทำงาน
การรู้จักข้อบกพร่องของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ความสำเร็จ เพราะถ้าไม่รู้จักล้มเหลว ก็จะไม่รู้วิธีก้าวข้ามจุดอ่อนเหล่านั้นและสิ่งที่สำคัญกว่าคือบทเรียนที่ได้รับกับวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เกี่ยวกับแรงผลักดันและเป้าหมายในอนาคต
1. อนาคตอยากเติบโตไปเป็นตำแหน่งอะไร
จุดประสงค์ของคำถามนี้มีหลายสาเหตุด้วยกัน อันดับแรก เช็กความคาดหวังในการทำงาน อันดับที่สอง สร้างความมั่นใจในระยะยาว และข้อสุดท้าย มองหาแพชชันของผู้สมัคร หากผู้สมัครมีความคาดหวังสอดคล้องกับองค์กร รวมถึงองค์กรสามารถรองรับเป้าหมายของเขาได้ก็มั่นใจได้มากขึ้นว่าการจ้างงานนี้จะมีโอกาสสำเร็จแบบยั่งยืน
2. มีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรไหม
ผู้สัมภาษณ์สามารถวัดความสนใจที่ผู้สมัครมีต่อองค์กรได้ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาตั้งคำถามกลับมาบ้าง เพราะถ้าผู้สมัครสนใจโอกาสงานครั้งนี้อย่างจริงจังก็จะเริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบริษัทในหลายๆ เรื่อง เช่น ทีมเป็นอย่างไร ความคาดหวังต่องานเป็นแบบไหน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนตอบตกลงเริ่มงาน
สร้างจุดเริ่มต้นของทีม Talent ที่แข็งแรง เพื่อพาธุรกิจไปต่อในอนาคตอย่างยั่งยืนด้วยบริการสรรหาพนักงานมืออาชีพ
หรือ เร่งสปีดการจ้างงานที่ทุกองค์กรสามารถเข้าถึงได้ ด้วยเครือข่าย Recruiter กว่า 1,000 คน
เครื่องมือจัดเก็บ ติดตาม และจัดการข้อมูลผู้สมัคร ยกระดับกระบวนการจ้างงานภายในองค์กรด้วยระบบ ATS ฟรี
แปลและเรียบเรียงจาก: glassdoor.com