การออกจากงาน ไม่เพียงแต่ทำให้เราขาดรายได้ สูญเสียความมั่นคง และทำลายความมั่นใจ แต่ยังสามารถเป็นอุปสรรคกับการหางานในอนาคตได้อีกด้วย
เนื่องจากเวลาไปสัมภาษณ์งานใหม่ HR จะต้องมีการสอบถามถึงสาเหตุในการย้ายงาน ซึ่งคำตอบอย่างเช่น “ถูกเลิกจ้าง” หรือ “โดนไล่ออก” ก็คงจะเป็นเหตุผลที่บริษัทใหม่ไม่ต้องการจะได้ยินเท่าไร แล้วในกรณีที่ถ้าเราถูกเลิกจ้าง หรือโดนไล่ออกจริงๆ แต่มั่นใจว่าตัวเองดีพอสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ควรตอบยังไงให้บริษัทใหม่ก็ “มั่นใจ” ในตัวเราได้เช่นกัน Reeracoen Thailand มีแนวทางมาฝากกันครับ
ทำอย่างไรให้บริษัทมั่นใจในตัวเราและกล้ารับเข้าทำงาน
ก่อนอื่นขอย้ำเตือนตรงนี้ว่าการโกหกไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะแม้เราจะปั้นสตอรี่ด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความจริง สุดท้ายก็อาจจะไปหลุดโป๊ะแตกเมื่อบริษัทตรวจสอบประวัติจากการทำ Reference check กับที่ทำงานเก่าของเราในภายหลัง ถ้าพบว่าข้อมูลที่เราอธิบายไปตอนต้นไม่ตรงกับความจริงที่ได้ก็จะกลายเป็นว่ามีสิทธิที่จะเสี่ยงโดนขึ้นบัญชี Blacklist แถมเรื่องอาจไม่ได้จบแค่กับบริษัทนี้เพียงบริษัทเดียว เพราะถ้าหากว่า HR มีการแชร์ข้อมูลกันกับบริษัทอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้หางานยากขึ้นในระยะยาวด้วย
เราสามารถให้เหตุผลด้วย “ความจริง” ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีได้แก่
-
- กรณีที่ 1 เลิกจ้างเพราะ Layoffs
หากเป็นการเลิกจ้างเพราะบริษัทต้องการปรับโครงสร้างองค์กร ก็สามารถอธิบายเหตุผลนี้ตรงๆ ได้เลย เพราะเป็นเหตุผลที่นายจ้างส่วนใหญ่เข้าใจได้
เนื่องจากเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม รวมถึงมีหลายคนได้รับผลกระทบและที่สำคัญคือไม่ได้เกิดจาก “ความผิดพลาด” ส่วนตัว โดยสามารถให้เหตุผลเกี่ยวกับการตัดสินใจของบริษัทเก่าให้ไม่เกิดมุมมองแง่ลบต่อตัวเราระหว่างกระบวนการพิจารณา
สำหรับคนที่รอดจากการเลิกถูกจ้างมาแล้วหลายรอบ ก็ยิ่งควรอธิบายกับบริษัทใหม่ในประเด็นนี้ด้วยว่าความจริงแล้วกรณีของเราถือเป็นการเลิกจ้างรอบท้ายๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญว่าทำไมบริษัทถึงเลือกรักษาเราไว้ให้นานที่สุด
-
- กรณีที่ 2 ถูกเชิญออก
ในเคสที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงชนิดที่ให้อภัยไม่ได้ เช่น ความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน ไม่มีใครยอมใคร สิ่งแรกที่ควรทำก็คือพยายามต่อรองกับนายจ้างคนเดิมว่าถ้าบริษัทใหม่ติดต่อเข้ามา Reference check จะให้ข้อมูลว่าอะไร หรือสร้างข้อตกลงว่าเป็น “การตัดสินใจจากทั้งสองฝ่าย”
สำหรับการอธิบายเหตุผลถ้าหากว่า HR อยากรู้เพิ่มเติม ทางที่ดีคือสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นให้กระชับ เคลียร์ชัดๆ ไม่ต้องลงรายละเอียดให้เกิดคำถามต่อเนื่องไปมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ “เหตุผลที่ทำให้เราสมัครเข้ามา” ดังนั้นเป้าหมายคือพยายามดึงความสนใจกลับมาที่ปัจจุบัน ตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมบริษัทถึงเลือกให้เรามาสัมภาษณ์
แสดงให้บริษัทเห็นว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ “เป้าหมาย” ในปัจจุบัน
-
- เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ความล้มเหลว 1 ครั้งไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเดินมาถึงจุดจบ แต่ยังเป็นโอกาสให้เราได้ “เริ่มต้น” การเติบโตในเวอร์ชันใหม่ หลังจากที่เกิดเรื่องผิดพลาดไปแล้ว เราถอดบทเรียนออกมาแบบไหน บทเรียนนั้นช่วยให้เราเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร
-
- สามารถสร้างอะไรให้กับบริษัทใหม่ได้บ้าง
เมื่อเคลียร์ข้อสงสัยต่างๆ ที่บริษัทใหม่มีต่อเราได้แล้วก็ต้องย้อนกลับมาที่ปัจจุบันคือทำอย่างไรให้อีกฝ่ายมั่นใจในตัวเรา เพราะการที่ได้นัดเข้ามาสัมภาษณ์ถือเป็นสัญญาณที่ดี หมายความว่าโปรไฟล์ของเราได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพ
โจทย์สุดท้ายจึงอยู่ที่ว่าเราจะพรีเซนต์ตัวเองได้ดีแค่ไหน ประสบการณ์ที่อยู่มีช่วยเหลือบริษัทได้อย่างไร ผลงานโดดเด่นชิ้นไหนที่จะทำให้ HR สนใจในตัวเรามากขึ้น อย่างที่บริษัทมักจะใช้คำถามว่า “ทำไมเราต้องจ้างคุณ” ถ้าเราสามารถตอบตัวเองในคำถามข้อนี้ได้ตั้งแต่ต้นก็จะทำให้ข้อดีของเรามีราคามากพอที่จะลบรอยด่างให้จางลงไปได้
ลงทะเบียนฝากโปรไฟล์หางานที่ใช่ ในบริษัทที่ชอบได้กับ Reeracoen Thailand
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment