Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

สัมภาษณ์งานยังไงให้ได้งาน? ง่ายๆ เพียงเข้าใจ 3 หัวใจสำคัญนี้

  • Home
  • Interview Guideline
  • สัมภาษณ์งานยังไงให้ได้งาน? ง่ายๆ เพียงเข้าใจ 3 หัวใจสำคัญนี้

Select Category

เราจะฉายแววเด่นในการสัมภาษณ์งานได้อย่างไร เมื่อความสามารถก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร แถมประสบการณ์ที่ติดตัวมาก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่สุดท้ายก็เป็นผู้ถูกเลือกให้ “ผิดหวัง” ทุกครั้งไป หลังจากผ่านด่านแรกของการพิจารณาเรซูเม่และได้เข้าสู่การสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการยืนยันขั้นต้นว่าเรามีทั้งคุณภาพ ประกอบกับความสามารถที่ดีพอจะทำงานที่นี่ได้ เหลือแค่ต้องเอาชนะคู่แข่งและมัดใจกรรมการเท่านั้น เพียงแต่คำถามสำคัญก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ก็คือ “ในเมื่อทุกคนดีพอแล้วทำไมบริษัทต้องเลือกเรา” ถ้าความสามารถใกล้เคียงกัน ประสบการณ์เยอะพอกัน แล้วบริษัทตัดสินใจเลือกรับคนเข้าทำงานจากอะไร?

บทความจาก Forbes โดยคุณ Caroline Ceniza-Levine กล่าวถึงหัวใจสำคัญ 3 ข้อที่จะทำให้เราคว้าโอกาสได้ก่อนใครๆ เริ่มจาก

1) เข้าใจโจทย์ที่อยู่นอกเหนือ Job description

วัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์งานคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่าง 2 ฝ่าย ในขณะที่นายจ้างชั่งใจว่าเราเหมาะกับงานแค่ไหน เราเองก็เรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่รวมถึงภาพรวมองค์กรไปพร้อมๆ กัน และจากประสบการณ์ทำงานของหลายๆ คนคงพอเข้าใจว่า Job description คือหน้าที่โดยรวมแต่อาจไม่ครอบคลุมถึงข้อจำกัดหรือ “โจทย์ที่แท้จริง” ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องไปพูดคุยกันในขั้นตอนสัมภาษณ์

เช่น Job description อาจระบุแค่ “หน้าที่” ที่ต้องรับผิดชอบ จากนั้นเราอาจได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ว่างานเหล่านี้มีข้อจำกัดด้านเวลาที่เร่งด่วนหรือกำลังติดปัญหาเรื่องใดก็แล้วแต่ ข้อมูลเหล่านี้ที่ได้รับจากการสัมภาษณ์คือวัตถุดิบชั้นดีที่ช่วยให้เราสามารถนำมาคิดต่อยอดจากความรู้ที่มี เพื่อหา “วิธีการ” ที่ช่วยตีโจทย์ขององค์กรให้สำเร็จได้

จะว่าไปก็อาจคล้ายกับภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street ที่ตัวเอกอย่าง Jordan Belfort ทดลองให้คนรอบข้าง “ขายปากกา” ให้กับตัวเขาเองจะทำด้วยวิธีการอะไรก็ได้ แต่ต้องขายให้ได้ 1 ด้าม จนมีคนทำสำเร็จเมื่อขอให้เขา “เขียนชื่อลงกระดาษ” ซึ่งแน่นอนว่าเขาทำไม่ได้เพราะไม่มีปากกาเขาจึงจำเป็นต้องซื้อปากกาจากคนคนนั้น ดังนั้นหัวใจสำคัญจากเรื่องนี้ก็คือการตีโจทย์ให้แตกเพื่อนำเสนอสิ่งที่อีกฝ่ายไม่สามารถปฏิเสธได้

2) กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งไปกับองค์กร

การจะพิจารณารับคนเข้าทำงานในแต่ละครั้งถ้าตัดเรื่องความสามารถที่แน่นอนว่าสำคัญอยู่แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยก็คือ “ความเข้ากัน” ต่อส่วนรวม พนักงานใหม่จำเป็นต้องมีความสามารถที่จะปรับตัวทั้งเรื่องเรียนรู้งานและอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งจะมาคัดกันที่ขั้นตอน “สัมภาษณ์งาน” อันดับแรกต้องคิดเสมอว่าเราไม่ใช่แค่เข้าไปเพื่อทำงาน แต่ต้องการเข้าไปเป็น “ส่วนหนึ่งขององค์กร” ซึ่งนั่นรวมไปถึงหลักการ ความเชื่อ แนวทางการทำงานหรือทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในที่ทำงานนั้นๆ

เทคนิคง่ายๆ เช่น หากบริษัทเน้นทำงานอิงจากตัวเลขสถิติก็ควรใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในแต่ละคำถาม สิ่งสำคัญคือต้องทำให้นายจ้างมั่นใจว่าเราจะเข้ากันกับที่นี่ได้โดยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวมาก หรือดีมากๆ ก็ไม่ต้องปรับตัวเลย (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้)

3) อยากได้งานจริงจัง ไม่จริงโจ้

เมื่อต้องเลือกระหว่างกลุ่มคนที่มีความสามารถคล้ายๆ กัน ตัวตัดสินจึงต้องไปชี้วัดกันที่เรื่องของ “แพชชัน” และแน่นอนใครๆ ก็อยากได้คนที่มีความกระตือรือร้น คนที่ตื่นเต้นที่จะได้เข้ามาทำงานร่วมกับเพื่อนใหม่ คนที่แสดงความสนใจในบริษัทอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้แปลว่าให้ไปประจบผู้สัมภาษณ์แต่มันมาจากการแสดงออกถึงความกระหายและถ้าหากคิดว่าการประกาศว่า “ฉันรักบริษัท” จะทำให้เราสูญเสียอำนาจต่อรองก่อนเริ่มงาน เช่น เพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ วันหยุด วันลา ต้องบอกเลยว่าคิดผิดถนัด!

เพราะยิ่งนายจ้างเล็งเห็นว่าเรามีใจให้กับบริษัทแค่ไหนก็ยิ่งเพิ่มความต้องการที่จะ “ลงทุน” กับตัวเรามากขึ้น สิ่งสำคัญคือการพยายามรักษา “ระดับพลังงาน” เนื่องจากกระบวนการสมัครงานมักกินเวลานานและเราอาจเสียแรงจูงใจหรือเริ่มเหนื่อยระหว่างทางไปได้
ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหาโอกาสใหม่ที่ช่วยให้ความมั่นคงมากขึ้น: คลิก

อ่านบทความเพิ่มเติม:

เริ่มงานให้ปังกับการตั้งเป้าหมายด้วยหลัก 30-60-90

5 คำถามเช็กลิสต์ระหว่างสัมภาษณ์ รู้ได้ทันทีว่าองค์กรไหนที่เราควร “หนีไป”

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/40IZpqz 

#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment

Related Posts