หลายคนสงสัยว่าการเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งาน เราควรจะต้องหาข้อมูลหรือจัดการตัวเองอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่และกลุ่ม First jobber ที่อาจยังไม่ค่อยมีประสบการณ์สัมภาษณ์งานมากนัก ทำให้มักจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นประจำ Reeracoen Thailand จะพาทุกคนไปปูพื้นฐานกับแนวทางการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานแบบแน่นๆ ให้เพื่อนๆ ไม่พลาดโอกาสคว้างานไปพร้อมกันเลย
เตรียมความพร้อมก่อนวันสัมภาษณ์
➢ เตรียมตัวศึกษาข้อมูลองค์กรไว้ล่วงหน้า
ก่อนสัมภาษณ์งานเราควรมีความเข้าใจในภาพรวมองค์กรให้ได้มากที่สุด รูปแบบธุรกิจเป็นยังไง มีสินค้าหรือบริการแบบไหนที่โดดเด่น วิสัยทัศน์และพันธกิจ (Vision & Mission) ขององค์กรคืออะไรโดยหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์บริษัท โซเชียลมีเดีย ฯลฯ หรือวิเคราะห์จากรายละเอียดเนื้อหาบน Job description
จัดการตัวเองให้พร้อมในวันสัมภาษณ์
➢ ใส่ใจภาพลักษณ์
สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ความประทับใจแรกเริ่มนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมุมมองการรับรู้และความคิดที่อีกฝ่ายมีต่อเราก็จะมาจากภาพลักษณ์ที่ปรากฎออกไปไม่ว่าจะด้วยท่าทาง สีหน้า การแต่งตัว ดังนั้นจุดเริ่มต้นเล็กๆ อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง แต่งกายให้สุภาพ แต่งหน้า ทำผมให้เรียบร้อย และแสดงความพร้อมต่อผู้สัมภาษณ์ให้มากที่สุดเพื่อที่จะเริ่มต้นทำงานในฐานะ “มืออาชีพ” ที่ดูดีทั้งคุณสมบัติภายใน และการใส่ใจภายนอก
➢ ไปให้ถึงก่อนเวลานัดสัมภาษณ์ 5-10 นาที
ในวันสำคัญแบบการสัมภาษณ์งานสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือการแสดงออกว่าเรา “ไม่พร้อม” เราคงไม่อยากให้บริษัทเห็นเราวิ่งหาห้องสัมภาษณ์หรือมาสายด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าเราหลงทาง ดังนั้นถ้าไม่คุ้นเคยกับสถานที่และคิดว่าต้องใช้เวลาก็อย่าลืมวางแผนให้ดี เดินทางด้วยอะไร ติดต่อกับใคร และเผื่อเวลามาก่อนนัดหมายสัก 5-10 นาที จะได้มีเวลาเตรียมตัวรอบสุดท้ายก่อนสัมภาษณ์จริง
ระหว่างสัมภาษณ์
➢ รักษามารยาทและความประทับใจ
ควรสบตาคู่สนทนาและตั้งใจรับฟังอย่างมีสมาธิ เพราะบางครั้งการหลุดโฟกัสไปในเพียงชั่วขณะอาจทำให้เราไม่สามารถจับประเด็นจากอีกฝ่ายได้
ซึ่งบางครั้งมีโอกาสมาในรูปแบบของ “คำถาม” และหากผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราไม่สนใจในการพูดคุยก็จะถือเป็นการเสียมารยาท และเลือกตัดออกจากลิสต์ไปได้
➢ รายละเอียดที่ต้องพูดคุย
จุดประสงค์ที่บริษัทต้องการก็คือทำความรู้จักกับผู้สมัครในแต่ละแง่มุม พิจารณาว่าโปรไฟล์และความคาดหวังสอดคล้องกันไหม ทำให้อาจมีการโยนคำถามเพื่อดูว่าเรามีบุคลิกเป็นยังไง ทักษะการสื่อสารอยู่ในระดับไหน รวมถึงภาษากายและวิธีการตอบสนอง ดังนั้นเตรียมตัวตอบคำถามในประเด็นที่บริษัทอาจอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
-
- ประวัติการศึกษา
- ประสบการณ์ทำงาน
- กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ความสนใจในองค์กร
- เป้าหมายและความคาดหวังในการทำงาน
อ่านบทความ แนะนำวิธีตอบ 7 คำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิตที่ตอบได้ยากที่สุด
➢ แนะนำคำถามสำหรับผู้สมัคร
นอกจากพรีเซนต์จุดเด่น และให้องค์กรได้ทำความรู้กับตัวเราแล้ว เราเองก็สามารถใช้เวลาในห้องสัมภาษณ์เพื่อทำความรู้จักกับองค์กรได้เช่นกัน และ “คำถามที่ดี” ก็เหมือนกับการเดินสำรวจส่วนต่างๆ ของบริษัทที่หากเข้าไปได้ตรงจุดก็จะยิ่งช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าเหมาะกับเราไหม หากเข้าไปอยู่ด้วยแล้วจะรอดหรือเปล่า รวมถึงเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังเป็นการลองเชิงว่าเราให้ความสนใจมากแค่ไหน ซึ่งคำถามที่ดีก็จะยิ่งช่วยทำแต้มให้เหนือคู่แข่งด้วยเช่นกัน เรามีคำถามแนะนำให้ไปใช้กับการสัมภาษณ์ครั้งต่อไปโดยแบ่งตัวอย่างออกเป็นสองหัวข้อหลักได้แก่
ความคาดหวังและการตั้งเป้าหมาย
-
- ช่วยอธิบายภาพรวมหน้าที่ของตำแหน่งงานนี้ได้ไหม
- ตัวอย่างลักษณะของโปรเจกต์ในอนาคต
- นิยาม “ความสำเร็จ” ของตำแหน่งนี้ควรจะเป็นแบบไหน
- โดยทั่วไปงานในแต่ละสัปดาห์มีอะไรบ้าง
วัฒนธรรมองค์กรและ Career path
-
- วัฒนธรรมของบริษัทนี้เป็นอย่างไร
- โครงสร้างภายในองค์กร – จำนวนสมาชิกภายในทีม
- โปรแกรมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในบริษัท
- คนแบบไหนที่จะก้าวหน้า และไม่ก้าวหน้าที่นี่
- วิธีสนับสนุนให้พนักงานกล้าฟีดแบคเรื่องงานกันตรงๆ
หลังจบการสัมภาษณ์
ก่อนก้าวขาเดินออกจากห้องสัมภาษณ์งาน สามารถทิ้งท้ายด้วยการแสดงความมุ่งมั่นอยากร่วมงานกับองค์กร เช่น คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการติดต่อกลับจากบริษัท หรือสอบถามเพิ่มเติมว่าถ้าตัวเราได้ผ่านการคัดเลือกมีอะไรที่สามารถทำได้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมเริ่มงานตั้งแต่เนิ่นๆ ไหม
อ่านจบแล้วหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ไอเดียและเทคนิคไปปรับใช้กับการสัมภาษณ์งานครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น สามารถติดตามเทคนิคการสัมภาษณ์ และคอนเทนต์ด้านการสมัครงาน หรือฝากโปรไฟล์เพื่อค้นหางานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบพร้อมคำแนะนำจาก Recruiter มืออาชีพมากประสบการณ์ ลงทะเบียนฝากโปรไฟล์หางานฟรีได้ที่นี่
#ReeracoenRecruitment #ReeracoenThailand #Recruitment