Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

พนักงานใหม่เข้ามาแล้วก็ลาออกไว ทำไมต้องย้อนกลับไปดูที่กระบวนการจ้างงาน

  • Home
  • General Topic
  • พนักงานใหม่เข้ามาแล้วก็ลาออกไว ทำไมต้องย้อนกลับไปดูที่กระบวนการจ้างงาน

Select Category

พนักงานใหม่เข้ามาแล้วก็ลาออกไว
ทำไมต้องย้อนกลับไปดูที่กระบวนการจ้างงาน

เคยเจอไหมกับปัญหาพนักงานใหม่เข้ามาเริ่มงานได้ไม่ทันไรกลายเป็นว่าวันถัดไปก็ไม่มาแล้ว แจ้งลาออกแบบไม่รู้สาเหตุ จากจุดนี้ HR หรือผู้บริหารบางส่วนอาจคิดว่าเป็นเพราะคนสมัยนี้ไม่สู้งาน เจออะไรไม่ถูกใจหน่อยก็คิดแต่จะลาออก – เปลี่ยนงานอยู่เรื่อย

แต่สำหรับกรณีดังกล่าวอาจไม่เหมาะที่จะรีบด่วนสรุปแบบนั้น เนื่องจากการที่พนักงานใหม่ตัดสินใจออกแม้ว่าเพิ่งเข้ามาได้แปปเดียวอาจเป็นเพราะเจอปัญหาบางอย่างที่ “ร้ายแรง” จนถึงขั้นอยู่ไม่ได้

หรือความจริงสาเหตุอาจลึกลงไปถึง “กระบวนการจ้างงาน” เคยตั้งคำถามไหมว่าก่อนที่ผู้สมัครจะตอบตกลงเริ่มงาน องค์กรได้เตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาไว้มากพอหรือยัง มีการแชร์ข้อมูลอย่างข้อจำกัด และอุปสรรคที่ต้องเจอเพื่อให้มีเวลาได้วางแผนรับมือก่อนต้องทำงานจริงบ้างไหม

ดังนั้นถ้าอยากลดโอกาสเกิดปัญหาในลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกบ่อยๆ นอกจากวิเคราะห์ปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ในองค์กรอย่างรอบคอบก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูที่ “ต้นทาง” อย่างกระบวนการจ้างงานด้วยซึ่ง Reeracoen มีคำแนะนำให้ทีมนายจ้างนำไปปรับใช้กันตามนี้

กำหนดคุณสมบัติ รายละเอียดงาน และความต้องการที่ชัดเจน

การอธิบายลักษณะงานที่ละเอียดตั้งแต่ในประกาศรับสมัครงานทั้งหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความคาดหวังจากตำแหน่งนั้นๆ จะช่วยคัดกรองให้เหลือเฉพาะผู้สมัครที่สนใจในตัวงานจริงๆ

ประกอบกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่นอกจากจะพูดถึงทักษะการทำงานแล้วองค์กรยังสามารถระบุ “ลักษณะนิสัย” หรือลักษณะของประสบการณ์ จะได้เห็นภาพว่าคนแบบไหนที่เหมาะเข้ามาทำงานในบริษัทด้วย

สัมภาษณ์งานโดยให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบ

นอกจากประเมินความสามารถเชิงการทำงานอาจมีการนำวิธีสัมภาษณ์รูปแบบอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับองค์กรในภาพรวม เช่น สร้างสถานการณ์จำลองไว้ดูวิธีจัดการปัญหาเฉพาะหน้า หรือมีการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมเพื่อวิเคราะห์ประสบการณ์ ทำความเข้าใจแนวคิด การตัดสินใจจากการทำงานที่ผ่านมา ก็พอจะช่วยให้มองออกว่าผู้สมัครเข้ากับการทำงานจริงในองค์กรได้ไหม

สื่อสารข้อมูลให้ครบถ้วน ไม่ปกปิดปัญหา

ปกติองค์กรจะพยายามป้อนข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการต่างๆ หรือโครงสร้างเงินเดือนที่ดูปฏิเสธยาก เพื่อสร้างแรงดึงดูด และกระตุ้นให้ผู้สมัครตัดสินใจเข้ามาร่วมงานโดยไม่ได้สื่อสารถึง “อุปสรรค” ที่อาจจะต้องรับมือไว้ล่วงหน้า ซึ่งนับว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในการจ้างงาน

หากผู้สมัครตัดสินใจมาร่วมงานด้วย “ด้านดี” ขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่พอมาทำงานจริงแล้วกลับเจอปัญหาต่างๆ มากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็จะทำให้เกิดสภาวะ Shift shock เพราะงานใหม่ไม่ได้ดีแบบที่คิด และเมื่อ “งานไม่ตรงปก” การตัดสินใจออกก็เพื่อเซฟอนาคตของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อแล้วรอเจอกับเซอร์ไพรซ์ที่หนักกว่าเดิม

สำหรับวิธีแก้ปัญหา องค์กรควรสื่อสารข้อมูลอย่างรอบด้านตั้งแต่ความคาดหวังที่มีต่อพนักงาน เป้าหมายในการทำงาน โดยไม่ลืมอธิบายข้อจำกัดในการทำงาน หรือปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้สมัครมีภูมิคุ้มกันและได้ใช้เวลาหาวิธีรับมือไว้ก่อนก็จะช่วยลดโอกาสเกิด Shift shock เพราะเป็นข้อมูลที่รับรู้อยู่แล้ว

ปรับปรุงคุณภาพการ Onboarding พนักงานใหม่

ในช่วงแรกที่พนักงานใหม่เข้ามาก็จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดให้พวกเขาได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ในองค์กร โดยทยอยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสมได้แก่

  • 1 – เคลียร์ทุกข้อสงสัย
    ไม่แปลกถ้าพนักงานใหม่จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับที่ทำงานใหม่ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับงาน เพื่อนร่วมทีม สภาพแวดล้อม หรือวัฒนธรรม และถ้าองค์กรปล่อยให้พวกเขาหาตอบด้วยตัวเองก็อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ เราต้องช่วยเคลียร์ข้อสงสัย สร้างมุมมองที่ดีต่อบริษัทให้ได้ 
  • 2 – สร้างมาตรฐานที่ดีก่อนเริ่มงาน
    พนักงานใหม่จะคอยสังเกตทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อปรับตัวเข้าหาซึ่งรวมถึง “มาตรฐานการทำงาน” ของเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นหากปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจรักษาระดับคุณภาพก็อาจทำให้สมาชิกที่เพิ่งเข้ามาไม่ประทับใจและตัดสินใจลาออกไป 
  • 3 – ป้องกันทัศนคติแง่ลบจากคนในบริษัท
    ไม่มีใครอยากเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ไม่มีความสุข วัฒนธรรมและพื้นฐานความคิดของคนในองค์กรจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดทิศทางของพนักงานใหม่ เมื่อได้รับรู้ปัญหาต่างๆ แต่ไม่มีคำอธิบายตามหลังก็จะทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อบริษัทได้ง่าย 
  • 4- วางแผนสอนงานแบบค่อยเป็นค่อยไป
    บางครั้งเวลาองค์กรอยากให้พนักงานใหม่เป็นงานเร็วๆ ก็จะพยายามป้อนข้อมูลทุกอย่างให้จบตั้งแต่วันแรกซึ่งทำให้พวกเขาปรับตัวได้ยากเพราะไม่มีเวลาทำความเข้าใจ ควรสอนงานแบบค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับความสำคัญจะได้มีพื้นที่ของให้เรียนรู้ เกิดการถามแล้วต่อยอดพัฒนา

การจ้างงานที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้วัดกันที่ว่าได้ผู้สมัครเข้ามาเริ่มงานหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเข้ามาทำงานแล้วจะสามารถปรับตัว สร้างคุณค่าให้กับองค์กร และเข้าใจเป้าหมายร่วมกันเพื่อต่อยอดความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ลดความกังวลใจในทุกการจ้างงานด้วยพาร์ทเนอร์ที่รู้ใจ “คน” และเข้าใจ “เป้าหมายองค์กร”
ค้นหาคนที่ใช่ให้ทุกตำแหน่งที่ว่าง จ้างงานผ่านมืออาชีพที่รู้ใจ
เริ่มต้นค้นหาคนทำงานผ่านผู้ช่วยมืออาชีพที่ Reeracoen Thailand

หรือยกระดับคุณภาพการจ้างงานภายในองค์กร ลดภาระงานซ้ำซ้อน
ด้วยเครื่องมือจัดเก็บ ติดตาม และจัดการข้อมูลผู้สมัคร
ลงทะเบียนรับสิทธิใช้งาน ATS ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ลงทะเบียนเริ่มต้นใช้งาน ATS ฟรี

Related Posts