รู้สึกตันแล้วจะหันไปทางไหนดี?
ค้นหาตัวเองผ่าน Career navigator “เข็มทิศไกด์ชีวิตการทำงาน”
ถ้าหากเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน การ Shift เป้าหมายและสายงานของตัวเองก็นับว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นเยอะแล้วในปัจจุบัน ทั้งมุมมองการจ้างงานที่เน้น “ทักษะ” มากขึ้น (Skill-based hiring) ประกอบกับช่องทางการศึกษาพัฒนาตัวเองที่เข้าถึงง่าย ทำให้ทางเลือกของคนทำงานในยุคนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง
นอกเหนือจาก “งานประจำ” ที่ทำจนเชี่ยวชาญ เคยตั้งคำถามกับตัวเองกันไหมว่าถ้าไม่ได้ทำงานนี้หรือจู่ๆ มีเหตุให้จำเป็นต้องออกจากงานเร่งด่วน “สถานีถัดไปของชีวิตจะมีอะไรให้เลือกทำบ้าง” และการเป็นคนทำงานที่มีคุณสมบัติพร้อมก่อนจะหันไปเดินในทางเลือกที่ 2 หรือ 3 นับว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เราไม่สามารถมั่นใจได้ 100% ว่าอาชีพการงานจะถึงจุดที่มั่นคงตอนไหน ดังนั้นถ้าเรามี Skill set ที่กว้างกว่าเฉพาะในสายงานก็มีโอกาสโยกย้ายตัวเองไปในเส้นทางอื่นได้ง่าย
แต่ปัญหาคือหลายคนตอบไม่ได้ว่าตัวเองเก่งอะไร เชี่ยวชาญเรื่องไหน สามารถทำอะไรบ้าง หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าเป้าหมายจริงๆ อยากทำอะไร ซึ่งอาจเป็นเพราะ “ไม่รู้จักตัวเองมากพอ” สำหรับใครที่กำลังหลงทาง สับสนว่าเอาอย่างไรต่อดี เรามาเริ่มต้นค้นหาตัวเองไปพร้อมกันกับ Career navigator เข็มทิศไกด์ชีวิตการทำงานสู่วันพรุ่งนี้ที่ (อาจจะ) ดีกว่า
1) ทำ Self reflection
เริ่มต้นจากสำรวจตัวเองให้ครอบคลุมในทุกแง่มุมเพื่อสร้างลิสต์คุณสมบัติไว้ประเมินจุดอ่อน – จุดแข็ง สรุปภาพรวมตั้งแต่อดีตทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความเชื่อ ความชอบ แล้วพิจารณาว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ต่อในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
2) ศึกษาโอกาสความเป็นไปได้
เมื่อได้ลิสต์คุณสมบัติที่คิดว่ามี Value สำหรับปัจจุบันและในอนาคต ลองนำชุดข้อมูลที่ได้ไปแมตช์กับตำแหน่งงานอื่นๆ ที่กำลังสนใจไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งโตกว่าแต่อยู่ในสายงานเดิมหรือประเภทธุรกิจ / งานอื่นๆ ที่มีลักษณะงานคล้ายกัน แล้วนำลิสต์คุณสมบัติที่ทำไว้ก่อนหน้านี้มาเปรียบเทียบพิจารณาดูว่ามีความใกล้เคียงกี่เปอร์เซ็นต์ มีอะไรที่ยังขาดอยู่ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้แค่ไหน
3) กำหนด Action Plan
พอได้กลุ่มงานที่ตรงใจและมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ขั้นตอนถัดไปคือจัดความสำคัญของเป้าหมายเหล่านั้นตามลำดับ โดยระบุ “กรอบเวลา” ที่จะใช้ไปกับการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น งานที่ 1: SEO Specialist เป็นเป้าหมายอันดับแรก แต่ยังขาดทักษะด้านการจับ keyword ก็อาจกำหนดระยะเวลาเพื่อเรียนรู้ในส่วนดังกล่าวให้ตอบรับกับ Requirement มากขึ้น
สุดท้ายอย่าลืมติดตาม Process การเติบโตตามลิสต์ที่เราได้ทำไว้เพื่อประเมินว่าทักษะแต่ละด้านมีการพัฒนาขึ้นมาเพียงพอไหม แล้วเก็บรายละเอียดในจุดที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมให้ครบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ทั้งรู้จักตัวเองมากขึ้นและที่สำคัญคือมีความพร้อมสำหรับ “เส้นทางใหม่” อย่างมั่นใจ