วิธีเล่าเรื่องความล้มเหลวให้ HR ฟังระหว่างสัมภาษณ์งาน
ในการสัมภาษณ์งานที่ชี้วัดอนาคต แน่นอนว่าเราอยากสร้างความประทับใจให้ได้มากๆ และทุกอย่างก็กำลังดำเนินไปตามแผนแบบสวยๆ จนกระทั่งอีกฝ่ายให้เล่าเกี่ยวกับ “ความล้มเหลว” ให้ฟัง กลายเป็นว่าความมั่นใจตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเริ่มสั่นคลอน เมื่อต้องนึกย้อนไปถึง “ข้อผิดพลาด” ที่เคยประสบพบเจอกับความล้มเหลวในอดีต
บางคนนึกไม่ออกหรือแม้แต่ไม่กล้าพูดแบบเปิดอก คิดหาทางว่าจะพูดถึง “ด้านไม่ดี” ของตัวเองอย่างไรให้ไม่ฟังดูแย่เกินไป ยิ่งไปกว่านั้นคือกลัวว่าเหตุการณ์นั้นจะกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดท้ายแล้วทำให้บริษัทไม่อยากรับเข้าทำงาน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากขุดหลุมฝังตัวเองไปเสียอย่างนั้น
แม้ว่าความล้มเหลว ผิดพลาด ไม่สมบูรณ์แบบคือธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับทุกคนบนโลก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ค่อยมีใครอยาก “จดจำ” สักเท่าไร หรือแม้กระทั่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ “เกลียด” ความรู้สึกแย่ๆ อันเกิดขึ้นมาจากความล้มเหลวเหล่านั้นจนอยากลบมันออกไปจากสมองให้ได้เร็วๆ
แต่แล้วเมื่อสถานการณ์คับขันของการสัมภาษณ์งาน นายจ้างเกิดถามถึง “ความล้มเหลว” ที่ผ่านมา เราควรจะตอบอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในบทความนี้ Reeracoen Thailand มีเทคนิคมาฝากกันครับ
อับดับแรกคือวิธีเลือก “เรื่อง” มาเล่าโดยพยายามหลีกเลี่ยงสองกรณีต่อไปนี้
- สิ่งที่ทำแล้วสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งคือการหยิบยกเอาประสบการณ์ล้มเหลวจาก “หน้าที่หลัก” ที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานในตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์ เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความกังวลได้ง่ายๆ
- อย่าเลือกพูดถึงเรื่องที่ “เล็กน้อย” จนเกินไป เส้นกั้นบางๆ ระหว่าง “ความผิดพลาด” ที่อาจเกิดขึ้นได้บ้างซึ่งไม่ได้มีผลหรือนัยยะสำคัญอะไรให้ต้องพูดถึงเป็นพิเศษ กับ “ความล้มเหลว” ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลถึงความสำเร็จโดยตรงคือแรงกระแทกต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะภายในทีมหรือระดับองค์กร
Tips สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้จากคำถามนี้ไม่ใช่เราทำผิดอะไร แต่เป็นได้ “เรียนรู้อะไร” จากเหตุการณ์นั้นแล้วมีทัศนคติ วิธีคิด แนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร เทคนิคก็คือภายในเรื่องที่เลือกมาอาจไม่จำเป็นต้องเล่าทั้งหมด แต่ให้หยิบเอาเฉพาะ “บางจุด” ที่สำคัญมาพูดถึงก็เพียงพอ
ต่อมาคือการนิยามคำว่า “ล้มเหลว” ในแบบตัวเอง
สืบเนื่องจากก่อนหน้าที่บอกว่าไม่ต้องเล่าทั้งหมดก็ได้ เนื่องจากเราต้องอธิบายต่อว่าเพราะอะไรถึงคิดว่าเหตุการณ์ที่นำมาเล่าคือความล้มเหลวสำหรับตัวเราเอง เช่น สำหรับผมความล้มเหลวคือการไม่สามารถทำได้ตามคาดหวังของตัวเองและคนรอบข้าง (และจากนั้นก็หยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเล่า)
เมื่อเราได้เรื่องที่ “กำลังดี” ประกอบกับนิยามเหตุผลได้แล้ว คำว่าความล้มเหลวก็ไม่จำเป็นจะต้อง “ใหญ่” อีกต่อไป ดังนั้นเหตุการณ์ที่เล่าจะดูไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งช่วยลดความกังวลว่าจะถูกคัดออกเนื่องจากคำตอบนั้นฟังดูแย่จนเกินจะรับได้
สิ่งที่เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้น
ความล้มเหลวไม่ได้นิยามว่าเราเป็นคนแบบไหนแต่เป็นวิธีการมองและจัดการตัวเองหลังจากนั้น สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เราทำอะไรผิด แต่เป็นการดึงตัวเองกลับมาจากความผิดหวังแล้วเรียนรู้จากมันเพื่อพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก
อย่างที่บอกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ บริษัทไม่ได้คาดหวังว่าเราต้องไม่มีจุดด่างพร้อย แต่ทัศนคติของคนที่ “ไม่ยอมแพ้” และกล้ายอมรับความผิดพลาดเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เติบโตต่างหากคือสิ่งที่นายจ้างมองหา ดังนั้นความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบ โลกไม่ได้แตกทันที แต่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางของการเรียนรู้และเรายังมีวันพรุ่งนี้ที่จะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเสมอ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
ผลสำรวจ 8 เหตุผลยอดฮิตที่ทำให้คนลาออกจากงานในปี 2023
6 ขั้นของการเติบโตในอาชีพการงาน ปัจจุบันคุณอยู่ระดับไหน?
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/47tRQGJ
แหล่งที่มาเพิ่มเติม: https://bit.ly/3uBB4qB