8 ข้อควรทำก่อนที่จะขอขึ้นเงินเดือน
ผลสำรวจของ Payscale ในปีค.ศ. 2015 พบว่าจากตัวอย่าง 30,000 คน มีเพียง 43% ที่กล้าขอขึ้นเงินเดือน โดยสำเร็จแค่ 5,600 คนหรือคิดเป็น 18.6% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด แล้วทำไมมนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องลำบากใจและผิดหวังเสมอเมื่อต้องพูดคุยเรื่องเงินเดือน ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการครองชีพ?
การขอขึ้นเงินเดือนคงเป็นสิ่งที่คนทำงานแทบทุกคนคงจะรู้สึกคล้ายๆ กันว่าพูดยาก ขอยากและมีโอกาสสูงมากที่จะถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งจะเป็นปมฝังใจว่า “ตัวเราไม่ดีพอ” แต่ความจริงบริษัทควรมีการหมั่นปรับฐานเงินเดือนให้กับพนักงาน โดยอิงจากเรทเงินเดือนสายอาชีพ อายุงาน ผลประกอบการและผลงานที่ได้ทำ เพื่อรักษาประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พนักงานไม่หนีหายและองค์กรอาจได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น
เมื่อลูกจ้างอยากได้แต่ก็ไม่กล้าขอ ส่วนนายจ้างก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องให้ อัตราเงินเดือนจึงกลายเป็นประเด็นที่หาตรงกลางได้ยาก มนุษย์เงินเดือนหลายคนเลยตกอยู่ในสถานะ ‘ดอง’ ตัวงานดี สังคมโอเค เลยอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่เงินไม่ขยับ (หรือขยับนิดหน่อย)
เมื่อใจไม่ได้อยากย้ายงาน แค่ต้องการผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น เราจึงต้องอุดช่องโหว่ระหว่างพนักงาน-นายจ้างด้วยเหตุผลที่ดีทำให้นายจ้างเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกที่ ‘วิน-วิน’ ทั้งสองฝ่าย รวมเทคนิค 8 ข้อควรทำก่อนที่จะขอขึ้นเงินเดือน
สิ่งที่ควรทำ
1) สำรวจฐานเงินเดือน
การสำรวจฐานเงินเดือนจะทำให้เรารู้ว่าในอาชีพเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกันนี้ได้แค่ไหน ซึ่งต้องดูความสมน้ำสมเนื้อของเงินและงานด้วย ความยาก ความท้าทายต่างกันยังไงเพื่อกำหนดตัวเลขในใจไว้ก่อน
2) มีตัวเลขในใจ
การมีตัวเลขในใจจะทำให้เรามี ‘เป้า’ ที่ชัดเจนโดยที่ต้องไม่เยอะจนเกินไป แต่ก็ควรตอบสนองความพึงพอใจมากที่สุดเพราะไม่สามารถขอได้บ่อยๆ
3) รวบรวมผลงาน
ตั้งแต่ทำงานที่นี่อะไรที่เป็นผลงานชัดๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทีมหรือองค์กรในทางที่ดีขึ้นบ้างเพื่อประเมินตัวเองว่า ‘ดีพอ’ จะไปขอผลตอบแทนที่มากขึ้นหรือยัง
4) รู้คุณค่าตัวเอง
จุดเด่นของเราคืออะไร สามารถทำอะไรให้ทีมและองค์กรซึ่งคนอื่นทำไม่ได้ การรู้ข้อนี้จะทำให้เรามีน้ำหนักมากพอที่จะให้องค์กรจะกล้าลงทุนเพิ่มขึ้น
5) วางแผนอนาคต การเติบโตในระยะยาว
เมื่อเรากล้าที่จะขอผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมีอะไรให้องค์กรกลับไปเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน วางแผนให้ดีทั้งโปรเจกต์ใหม่ๆ โอกาสเติบโตในอนาคต
6) มองไกลกว่าตัวเงิน
หากสุดท้ายไม่ได้สิ่งที่คาดหวังแต่ก็ไม่ได้อยากย้ายไปไหน ลองนึกถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากเงิน เช่น งบสำหรับลงเรียนคอร์ส วันหยุดพิเศษหรืออื่นๆ ที่องค์กรมอบให้ได้และเป็นผลดีกับองค์กรด้วย
7) นัดคุยจริงจัง
เมื่อเรื่องเงินนั้นสำคัญเราจึงต้องทำให้หนักแน่น ควรนัดหมายอย่างชัดเจน แสดงความจริงจังให้หัวหน้ารับรู้มากกว่าพูดคุยตอนกินข้าวหรือเดินผ่านไปมา
8) มั่นใจในตัวเอง
เมื่อรู้สิ่งที่ควรเตรียมตัวเราก็สามารถปรับใช้ตามความถนัดด้วยหลัก G.I.M.M.E
Give Background: ประวัติการทำงาน ผลงาน
Introduce: คุณสมบัติความสามารถ
Make Your Case Research-based: ชี้ให้เห็นฐานงานเดือนในตลาด
Make the ask: ขอผลตอบแทนในฐานะรางวัลและแรงกระตุ้น
Ending: จบด้วยความจริงจังและมั่นใจ
สรุปขั้นตอนเตรียมตัวแบบง่ายๆ
สเต็ปที่ 1 “การเตรียมตัว”
- สำรวจฐานเงินเดือนในตลาดเพื่อหาตัวเลขในใจ
- รวบรวมผลงาน ความสำเร็จ
- ดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม (อารมณ์ สถานการณ์ เวลา)
- นัดหมายอย่างจริงจัง (เช่นคุย One on one)
สเต็ปที่ 2 “พูดคุย”
- พูดถึงความสำเร็จและผลงานที่ผ่านมา
- เกริ่นถึงคุณค่าและความโดดเด่นของตัวเอง
- นำเสนอแผนในอนาคต ความท้าทายใหม่ๆ และความต้องการที่ต้องการเติบโตในองค์กร
- ขอขึ้นเงินเดือน เพื่อเป็นกำลังใจให้ความทุ่มเทและกระตุ้นสู่เป้าหมายที่วางไว้
สเต็ปที่ 3 “รอผล”
เมื่ออธิบายหมดแล้วเราควรหยุดพูดเพื่อแสดงความหนักแน่นและมั่นใจ โดยทั่วไปหัวหน้ามักขอเวลาคิด และจะนัดมาพูดคุยอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป หากคำตอบคือไม่ แต่เราต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นจริงๆ อาจลองมองหาในรูปแบบอื่น เช่นวันหยุดพิเศษ สวัสดิการที่เพิ่มขึ้นหรืองบสำหรับลงเรียนคอร์สต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ง่ายกว่า
5 กลุ่มทักษะและอาชีพที่จะไม่มีวันถูกยึดครองด้วยเทคโนโลยี AI
8 ข้อดีสุดเหลือเชื่อจากความขี้เกียจ (อย่างพอดี)
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: