Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

7 เรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยในทุกๆ ครั้งที่จะไปสัมภาษณ์งาน

  • Home
  • Interview Guideline
  • 7 เรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยในทุกๆ ครั้งที่จะไปสัมภาษณ์งาน

Select Category

7 เรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยในทุกๆ ครั้งที่จะไปสัมภาษณ์งาน

ส่วนหนึ่งที่จะต้องพบเจอในการสัมภาษณ์งานคือการถูก “ตัดสิน” จากบุคคลภายนอกในทุกแง่มุม ทั้งความเป็นตัวเอง บุคลิภาพ ทัศนคติ รวมถึงความเชื่อ และหากเราตัดสินใจว่าอยากได้งานนี้จริงๆ ก็ถือเป็นหน้าที่ที่เราต้อง “สู้” เพื่อทำให้อีกฝ่ายตัดสินใจเลือกเราเช่นกัน ดังนั้นการมีพื้นฐานทักษะการสัมภาษณ์งานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย 7 เรื่องต่อไปนี้ถือได้ว่าเป็นแนวทางปฏิบัติและไม่ควรละเลย

1) เตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งาน

หนึ่งในส่วนสำคัญของความสำเร็จเกิดจากการเตรียมตัวที่ดี ในทางกลับกันถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการเตรียมตัว เรามักพบว่าตัวเองจะ “ขาดความมั่นใจ” จนแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งผู้สัมภาษณ์สามารถรับรู้ได้ทันทีผ่านคำพูดและภาษากาย สิ่งที่ทำได้ทันทีคือทำความเข้าใจ “รายละเอียดของงาน” เพื่อที่จะสามารถพูดคุยถึงเป้าหมายและแนวทางการทำงานให้ตรงกับความคาดหวังใน Job Description มากที่สุด

นอกจากนี้อีกหนึ่งอย่างที่สามารถทำได้คือศึกษารูปแบบของคำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งานเพื่อเตรียมคำตอบที่ดีที่สุดโดยไม่เกิดอาการประหม่าหรือก่อความผิดพลาดเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์กดดัน

2) ศึกษาทำความรู้จักองค์กร

นอกจากต้องรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีแล้วเราควรรู้จักองค์กรที่จะเข้าไปร่วมงานด้วย เพราะหนึ่งในคำถามที่มักจะต้องเจอในการสัมภาษณ์ก็คือ “ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่”

หากเราไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับองค์กร ไม่รู้จักรูปแบบธุรกิจ ไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ เราก็คงไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ ซึ่งส่งผลต่อความประทับใจและอาจทำให้อีกฝ่ายต้องพิจารณาใหม่ว่าเราอยากเข้ามาทำงานที่นี่จริงๆ หรือไม่

เราสามารถทำการบ้านทำความรู้จักองค์กรก่อนสัมภาษณ์งานได้ผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์องค์กร หรือการพูดถึงบนอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่าบริษัทอะไร ทำเกี่ยวกับเรื่องไหนแล้วมีชื่อเสียงเป็นอย่างไรบ้าง

3) ฝึกทักษะการสื่อสาร

การสัมภาษณ์งานเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่กดดันสำหรับหลายคน โดยเฉพาะคนที่ประสบการณ์น้อย หรือขาดเวลาเตรียมตัวจึงมักมีปัญหาเรื่อง “การสื่อสาร” บ่อยครั้ง อาทิ เรียบเรียงเนื้อหาได้ไม่ดี ถามตอบกันคนละประเด็น รวมถึงการใช้ภาษาที่บางตำแหน่งงานอาจจะมีการชี้วัดในส่วนนี้

สำหรับคนที่ขาดความมั่นใจในการพูดคุยกับคนแปลกหน้า ไปจนถึงคนที่กังวลว่าอาจประหม่าจนตอบคำถามได้ไม่ดีสามารถใช้เทคนิค S.T.A.R เป็นโครงสร้างของคำตอบอันได้แก่

S: Situation (สถานการณ์)

T: Task (หน้าที่ที่รับผิดชอบ)

A: Action (ทำวิธีไหน อย่างไร)

R: Result (ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น)

เนื่องจากส่วนมากผู้สัมภาษณ์มักถามถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์จากประสบการณ์ของเรา เช่น “งานไหนที่คุณทำแล้วภูมิใจมากที่สุด” ซึ่งเราก็ควรตอบได้ทุกมิติตั้งแต่งานไหน-ทำอะไร-ทำไม-ผลลัพธ์ และจะทำให้ได้คำตอบที่ครบถ้วน ตรงประเด็นรวมถึงมองเห็นชัดขึ้นว่าเราเหมาะกับงานแค่ไหน คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมที่: S.T.A.R เทคนิคตอบคำถามยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย

4) คิดก่อนพูดในทุกครั้ง

บางครั้งเราอาจคิดว่าการรีบตอบคำถามจะทำให้เราดูเป็น “ผู้รู้” หรือเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งการได้ใช้เวลารวบรวมความคิด

ก่อนที่จะพูดหรือตอบอะไรไปในการสัมภาษณ์งาน ซึ่งนอกจากจะป้องกันข้อผิดพลาดในคำตอบแล้วยังช่วยรวบรวมสมาธิไม่ให้ “ฟุ้งซ่าน” ในบรรยากาศที่กดดันด้วย

5) เป็นผู้ฟังที่ดี

ทักษะการฟังที่ดีบ่งบอกถึง “ความรอบคอบ” และความสามารถในการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้หากเราขาดทักษะการฟังที่ดีเรามักมีโอกาสที่จะหลุดไปจากวงสนทนาหรือพลาดประเด็นสำคัญที่อีกฝ่ายต้องการนำเสนอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและนำไปสู่ความผิดพลาดในการสื่อสาร

เราควรจดจ่ออยู่กับบทสนทนา ให้เกียรติผู้พูดด้วยการแสดงความสนใจตลอดการสัมภาษณ์ ที่สำคัญคือต้องแน่ใจว่า “เข้าใจ” ในสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารออกมาจริงๆ โดยไม่ต้องอายที่จะถามคำถามซ้ำหรือขอให้อธิบายเพิ่มเติมเพราะนั่นถือเป็นการแสดงออกว่าเราสนใจในบทสนทนานั้นๆ

6) แสดงออกถึงพลังบวก

เมื่อเจอกับความผิดหวังจากการสมัครงานบ่อยๆ เราก็มีโอกาสที่จะสูญเสียความมั่นใจไปได้ จนบางครั้งอาจแสดงออกในการสัมภาษณ์ครั้งถัดๆ ไป รวมถึงบางคนที่กำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากและจำเป็นต้องได้งานก็อาจเกิด “พลังด้านลบ” ทั้งความหดหู่ เศร้าหมอง ไม่เชื่อมั่นในตัวเองซึ่งแน่นอนว่านายจ้างคงไม่ต้องการอะไรแบบนั้น

ดังนั้นการประสบความสำเร็จในการสัมภาษณ์งานจึงเกิดจากการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ตั้งแต่แสดงความกระตือรือร้น สนใจที่จะทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ โดยพิสูจน์ว่าความสามารถที่มีนั้นเหมาะสมและคู่ควร เพราะนายจ้างต้องการจ้างคนที่ “เหมาะที่สุด” ไม่ใช่คนที่ “น่าสงสาร” มากที่สุด

7) รู้จักแสดงความขอบคุณ

นอกเหนือจากความสามารถที่เหมาะสมอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ “ความประทับใจ” ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยทัศนคติที่ดีทั้งคำพูด ความคิด การแสดงออกใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มการแสดงความขอบคุณสำหรับการสละเวลารวมถึงโอกาสที่อีกฝ่ายมอบให้ และทุกครั้งที่จบสัมภาษณ์งาน เราต้องสัมผัสได้ว่าอีกฝ่ายจะจดจำ ไปจนถึงมองว่าเราเป็นคนที่น่ารับเข้ามาทำงานเป็นอันดับต้นๆ

อ่านบทความเพิ่มเติมที่:

สังเกต 7 สัญญาณเมื่อเรามีแนวโน้มที่จะผ่านการสัมภาษณ์งาน

5 คำถามสัมภาษณ์งาน รู้ทันทีว่าองค์กรไหนที่เราควร “หนีไป”

ฝากโปรไฟล์สมัครงานผ่าน Reeracoen Thailand

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3r1Bx3r

Related Posts