7 วันอันตรายชี้ชะตาพนักงานใหม่ และ 5 เรื่องสำคัญที่หัวหน้าไม่ควรละเลย
หากกล่าวว่าเด็กแรกเกิดเปรียบเสมือนผ้าขาว 7 วันแรกในการทำงานของพนักงานใหม่ก็เช่นกัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาสามารถเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งที่เกิดเหตุการณ์ชนิดที่ว่ามาทำงานวันเดียว “ลาออก” ทั้งนี้อาจเกิดจากหัวหน้า หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลไม่ได้ให้ความใส่ใจ หรือละเลยสิ่งสำคัญไป วันนี้ Reeracoen Thailand จะพาไปดูว่าในช่วงเวลา 7 วันชี้ชะตาพนักงานใหม่ มีอะไรต้องระวังและควรกระทำบ้าง?
ในฐานะหัวหน้าหรือนายจ้างเคยเจอกรณีแบบนี้กันบ้างไหมครับ เช่น พนักงานใหม่เข้ามาทำงานได้สัปดาห์เดียวก็ลาออก ตอนสัมภาษณ์งานก็ดูโอเค แต่พอมาทำจริงกลับเป็นหนังคนละม้วน สาเหตุของปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้ผิดที่ตัวพนักงานใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นตัวเราเองที่ ละเลยสิ่งสำคัญในการดูแลให้คำแนะนำอย่างถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน
เพราะการย้ายงานไปอยู่ในสังคมใหม่ การทำงานแบบใหม่ สภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิมเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และบางบริษัทก็ไม่สามารถให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สมาชิกใหม่ปรับตัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นฝั่งภายในองค์กรเองที่ส่งมอบ “พลังงานลบ” เข้าหาพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยนินทาคนอื่น ตำหนิปัญหาต่างๆ ที่องค์กรกำลังหาทางแก้ไขอยู่
นอกจากพลังงานแง่ลบที่พนักงานใหม่ได้รับ ยังมีปัญหาในด้านการทำงาน หากพนักงานใหม่มีคำถามแต่หัวหน้าไม่สามารถให้คำตอบได้ หรือระบบการสอนงานที่ไม่ชัดเจน ปล่อยให้คนมาใหม่เกิดแต่คำถามก็เป็นจุดที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจหนีได้ไม่ยากเลย
เมื่อเรารู้แล้วว่าสัปดาห์แรกของพนักงานใหม่ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ชะตาของพวกเขาและองค์กร มีเรื่องอะไรบ้างที่หัวหน้าควรจะทำ เพื่อป้องกันการสูญเสียชิ้นส่วนสำคัญที่จะมาเติมเต็มองค์กรให้ดีขึ้น วันนี้ Reeracoen Thailand นำเช็กลิสต์ 5 ขั้นตอนดูแลพนักงานใหม่สำหรับหัวหน้ามาแชร์กันดังนี้ครับ
- Step ที่ 1 “เคลียร์ทุกข้อสงสัย”
ไม่แปลกที่พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มงานในช่วงแรก จะมีคำถามมากมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับงาน เพื่อนร่วมทีม ภาพรวมองค์กร วิถีปฏิบัติไปจนถึงวัฒนธรรม ซึ่งคำถามเหล่านี้ อาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่อยู่มาก่อน แต่แน่นอนว่าสำหรับคนใหม่ สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างที่เขาต้องเผชิญเมื่อมีการตั้งคำถามขึ้นมา แต่ไม่มีใครให้คำอธิบาย หรือแม้แต่ปล่อยให้พนักงานใหม่หาตอบด้วยตัวเอง อาจจะทำให้เค้ามีมุมมองหรือทัศนคติที่ผิดไปได้ หน้าที่ของหัวหน้าคือการสร้างความเข้าใจ และสร้างมุมมองที่มีต่อองค์กรในด้านต่างๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนให้กับเขา
- Step ที่ 2 “สร้างมาตรฐานที่ดีร่วมกันก่อนเริ่มงาน”
แน่นอนว่าช่วงอาทิตย์แรกเป็นช่วงที่มีความสำคัญสำหรับการทำงานของพนักงานใหม่ เพราะเขาจะคอยสังเกตทุกอย่างรอบตัว ซึ่งรวมถึง “มาตรฐานการทำงาน” ที่คนในองค์กรมี เพื่อปรับตัวให้ทำงานร่วมกับทีมได้ และหากปล่อยให้สมาชิกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาร่วมทีมเห็นถึงมาตรฐานหรือพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ดีของคนในทีม ก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเขาลดลงไปด้วยได้
- Step ที่ 3 “เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันพลังงานแง่ลบ”
พลังงานในแง่ลบเป็นอีกหนึ่งตัวอันตรายที่ทำลายภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งแม้จะแก้ยากแต่ก็สามารถป้องกันได้
ในช่วงแรกของการทำงาน พนักงานใหม่มักจะมีคำถามกับสิ่งต่างๆ ในองค์กร รวมถึงคำถามต่อปัญหาต่างๆ ที่อาจได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดถึง ซึ่งในฐานะหัวหน้าการให้คำอธิบายกับปัญหาที่เขาได้ยินมา หรือมุมมองในแง่ลบเหล่านี้ จะช่วยให้เขามีความเข้าใจและเพิ่มภูมิคุ้มกันกับพลังงานแง่ลบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีคือการพาสมาชิกใหม่ไปรู้จักกับพนักงานที่ดี มีความคิดในแง่บวก ก็สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีได้
- Step ที่ 4 “อธิบายความคาดหวังและเป้าสำเร็จให้ชัดเจน”
การปล่อยให้พนักงานใหม่ทำงานอย่างเคว้งคว้าง ไม่รู้เป้าหมาย หรือทำงานด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รวมถึงหากขาดตัวชี้วัดหรือเป้าสำเร็จ ก็มีส่วนให้เขาทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การเข้าใจในความคาดหวัง และเป้าหมายชัดเจนที่สามารถวัดผลได้เป็นรูปธรรม จะช่วยให้พนักงานใหม่สามารถวางแผนการทำงานว่าเขาควรจะทำแบบไหน วิธีการใด เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนตามเป้าหมายขององค์กร
- Step ที่ 5 “วางแผนการสอนงานอย่างรอบคอบ”
“การสอนงานที่ดี” ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าจะต้องอธิบายงานทั้งหมดภายในวันแรกเท่านั้น เพราะการป้อนข้อมูลที่เยอะเกินไป ทั้งๆ ที่พนักงานใหม่ยังตามไม่ทัน หรือไม่เห็นภาพร่วมกัน จะยิ่งทำให้เขาปรับตัวได้ยาก ดังนั้นการสอนงาน หรือให้แนะนำอาจจะเริ่มจากอธิบายภาพรวมของตัวงาน และค่อยๆ เพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็น ตามลำดับความสำคัญไปทีละจุด เพื่อให้เขาได้ใช้เวลาค่อยๆ ปรับตัว หรือถ้าอยากให้พนักงานใหม่ศึกษางานผ่านการสังเกต ก็ควรจะมีการแนะนำหรือไกด์ไลน์ว่าควรดูจุดไหน ก็จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
สรุปสั้นๆ สำหรับคนเป็นหัวหน้า เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับพนักงานใหม่
“อย่าปล่อยให้สงสัย ให้เวลาปรับตัว ตั้งเป้าหมายและมาตรฐานที่ชัดเจน
สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ค่อยๆ ให้คำแนะนำ และวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ”