6 ข้อสังเกตสำหรับองค์กร เมื่อการทำ Recruitment แบบเดิมๆ ด้วยตัวเองอาจไม่พอ
ความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน การพัฒนาของเทคโนโลยีและความคาดหวังของผู้สมัครที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันระหว่างองค์กรเพื่อดึงดูดคนทำงานระดับแนวหน้า บ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่องค์กรจะเข้าถึงแคนดิเดทที่ตั้งเป้าไว้ได้
ในแต่ละปี บริษัททั่วโลกพัฒนากลยุทธ์การจ้างงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของการทำ Hiring สม่ำเสมอ ทั้งการสร้าง Employer Branding จนเป็นที่ดึงดูด ออกแบบ Journey เพื่อประสบการณ์ของผู้สมัครที่ดีขึ้น ไปจนถึงหาเครื่องมือช่วยพัฒนาการทำงานให้กับทีมหลังบ้าน
ศาสตร์ของกระบวนการสรรหาพนักงาน (Recruitment) นับว่ามีความละเอียดอ่อนและต้องใช้ความรอบคอบในการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่ตอบสนองความคาดหวังขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสามารถวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้สมัครให้ได้ด้วย
ดังนั้นวิธีการทำ Recruitment แบบที่เป็นภาพจำโดยทั่วไป เช่น ลงประกาศรับสมัครงานเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถเข้าถึงแคนดิเดทได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคนี้ นอกจากนั้น หากกระบวนการสรรหาพนักงานไม่แข็งแรงพอก็กลายมาเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างในองค์กรได้เช่นกัน
วิธีสังเกตเมื่อกระบวนการ Recruitment ควรได้รับการปรับปรุง
- มีอัตราการลาออกสูงในช่วงต้น
หากพนักงานที่ถูกจ้างมาใหม่มักลาออกในช่วงแรก หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ อาจบ่งบอกว่าวิธีการคัดสรรบุคลากรในปัจจุบันกำลังล้มเหลวในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับองค์กร - ขาดแคลนผู้สมัครที่มีคุณภาพ
หลังจาก Screen เรซูเม่และใบสมัครที่ส่งเข้ามาแล้วถ้าพบว่าไม่มีผู้สมัครที่จัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีศักยภาพมากพอ หรือใบสมัครส่วนใหญ่ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตามหา อาจหมายความว่าองค์กรไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มแคนดิเดทตามโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ - กระบวนการคัดเลือกใช้เวลานานเกินไป
หากกระบวนการคัดเลือกในองค์กรใช้เวลานานเกินไปอาจส่งผลให้ผู้สมัครที่มีความสามารถหลุดมือไปได้ เนื่องจากได้รับข้อเสนอและตัดสินใจไปกับบริษัทอื่นก่อนทำให้องค์กรพลาดโอกาสที่จะได้บุคลากรที่เหมาะสม - ตำแหน่งงานว่างเปิดรับสมัครเป็นเวลานาน
การมีตำแหน่งว่างเป็นระยะเวลานานบ่งบอกถึงปัญหาในกระบวนการสรรหา ไม่ว่าจะเป็นในด้านการดึงดูดผู้สมัคร หรือการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร รวมถึงการตั้งคุณสมบัติที่ไม่เหมาะกับตลาดผู้สมัครในตำแหน่งนั้นๆ เช่น กำหนด Requirement ที่เฉพาะเจาะจงเกินไป - ผู้สมัครปฏิเสธข้อเสนอ (Offer Rejection)
หากผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกปฏิเสธข้อเสนอขององค์กรอย่างต่อเนื่อง อาจแสดงถึงปัญหาในด้านค่าตอบแทน วัฒนธรรมองค์กร หรือภาพลักษณ์ขององค์กร - พนักงานไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวัง
หากพบว่าพนักงานใหม่มีปัญหาในการปฏิบัติงานหรือไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ บ่งบอกถึงคุณภาพในกระบวนการคัดเลือกที่ไม่สามารถประเมินความสามารถที่แท้จริงของผู้สมัครได้
ถ้าองค์กรของคุณกำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ถึงเวลาที่ควรพิจารณาปรับปรุงกระบวนการ Recruitment เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของตลาดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการหาบุคลากรที่เหมาะสม
แก้ปัญหาการจ้างงานในองค์กรด้วยกลยุทธ์และ HR Solutions ที่ตอบโจทย์
- Employer Branding
หากลองสังเกตจากผลการสำรวจอันดับบริษัทที่น่าทำงานด้วยในแต่ละปีจะเห็นว่าหลายบริษัทที่ติดอันดับก็มักจะมีชื่ออยู่ในสื่ออย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่ในภาพขององค์กรเท่านั้น แต่ Personal Branding ของผู้บริหารเองก็เป็นตัวที่ช่วยดึงดูด Talent จากวิสัยทัศน์ มุมมองต่อการทำงาน และเป้าหมายขององค์กร - ออกแบบ Candidate Journey ที่ดี
ปัจจุบันองค์กรไม่ได้แข่งขันกันในภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังพัฒนาระบบหลังบ้านให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ คุณภาพสูงซึ่งส่งผลต่อ Journey ของผู้สมัครในแต่ละองค์กรโดยตรง หากขั้นตอนใช้เวลานาน กระบวนการดูไม่มีประสิทธิภาพก็มีโอกาสทำให้ผู้สมัครตัดสินใจถอนตัวจากตำแหน่งนั้นๆ ดังนั้นประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการสมัครงานก็นับเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครนำมาใช้ตัดสินใจเลือกองค์กรได้เช่นกัน แถมปัจจุบันหลายธุรกิจเริ่มสร้าง Journey ในรูปแบบใหม่ๆโดยผู้สมัครสามารถเข้าถึงองค์กรได้ตั้งแต่ต้นทาง เช่น การออกบูธรับสมัครเด็กฝึกงานตั้งแต่มหาวิทยาลัย และกลายเป็น Top of mind สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว - เข้าถึง Source และวิธีใหม่ๆ ในการสรรหาผู้สมัคร
จากที่บริษัทจัดหางาน Reeracoen Thailand มีโอกาสติดต่อองค์กรเข้าไปสอบถามองค์กรต่างๆ พบว่า 70% ยังใช้เฉพาะวิธีการหาผู้สมัครผ่านการประกาศงาน ถือเป็นรูปแบบ Passive Recruitment ที่อาจจะได้ผลในบางตำแหน่งแต่ไม่ใช่สำหรับทุกตำแหน่งที่เปิดหาอย่างแน่นอนดังนั้นการเพิ่มช่องทาง รวมถึงปรับมุมมองต่อการพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ ควรถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนตาม เพราะรูปแบบปัญหาที่เจอในปัจจุบันก็อาจจะไม่สามารถถูกแก้ด้วยวิธีการเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เช่น ลดความสำคัญของปัจจัยด้านอายุ และเน้นทักษะที่ใช้ได้จริงให้มากขึ้น
- การใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา
สุดท้ายแล้วเมื่อโลกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างความแตกต่างในโลกการทำงาน องค์กรก็ต้องปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมใหม่เหล่านั้นด้วยเช่นกัน สำหรับการจ้างงาน ปัจจุบันหลายองค์กรมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ระบบ ATS ใช้จัดระเบียบข้อมูลที่มีความกระจัดกระจาย ช่วยยกระดับกระบวนการทำงานหลังบ้านของทีมงานอย่างเป็นระบบนวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงลดโอกาสผิดพลาดของทีมงานหลังบ้าน แต่ยังมีส่วนพัฒนาประสบการณ์ที่ผู้สมัครได้รับจากองค์กรให้ดีขึ้น กระบวนการต่างๆ มีความทันสมัย รวดเร็ว และแม่นยำ