4 ขั้นตอนต่อรองเงินเดือนเมื่อถึงเวลาปรับฐานเงินเดือนกลางปี
เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปีที่บริษัทหลายแห่งมีการจ่ายโบนัสรวมถึงปรับฐานเงินเดือนให้กับพนักงานตามผลงานที่ปรากฏ และยังเป็นรางวัลตอบแทนในความทุ่มเทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตามหลักทั่วไปการปรับขึ้นอัตราฐานเงินเดือนมักมีพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 5% (แล้วแต่บริษัท) แต่บางกรณีก็อาจไปไกลได้มากกว่านั้นขึ้นอยู่กับผลงานและการต่อรอง
แน่นอนว่าเราอาจมีจำนวนตัวเลขที่แอบหวังไว้ในใจอยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อเราอยากได้บางสิ่งจากนายจ้าง ก็จำเป็นต้องแลกมาด้วยบางอย่าง เช่น ผลงานที่มากขึ้น ดังนั้นเราไม่สามารถพูดขึ้นมาลอยๆ ได้ว่า “ขอเงินเดือนเพิ่มหน่อย” โดยบริษัทจะไม่ตั้งคำถามกลับว่า “ให้ไปแล้วได้อะไร” ดังนั้นการขอปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่เกินกว่าระดับพื้นฐานจะต้องเกิดจากการ “แลกเปลี่ยนผลประโยชน์” ระหว่างสองฝ่าย
บทความจาก Business News Daily ได้อธิบายถึงวิธีการต่อรองปรับขึ้นฐานเงินเดือนโดยอาศัยเทคนิคการต่อรองเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ดังนี้
1) รวบรวมผลงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
การที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานคนใดคนหนึ่งนอกเหนือจากข้อกำหนดตามกฎหมายแล้วอีกส่วนต้องเกิดจากผลงาน หรือการสร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถสร้าง “คุณค่า” ให้แก่บริษัทได้
ในการพูดคุยต่อรองปรับฐานเงินเดือนครั้งต่อไปที่กำลังจะถึงนี้จุดสำคัญคือการรวบรวม “ผลงานที่จับต้องได้” ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยข้อมูลที่นำมาเสนอควรเป็น “ตัวเลข” หรือสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทำยอดขาย 200,000.- ต่อเดือน ถือว่าสำเร็จเกินเป้าที่กำหนดไว้ถึง 200%
หากเรามีหลักฐานผลงานที่ชัดเจนมากพอการที่อีกฝ่ายจะปิดหูปิดตาและปฏิเสธความต้องการก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะบริษัทเองก็ไม่อยากที่จะเสียพนักงานที่มีทั้งคุณค่าและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้มหาศาลไปง่ายๆ อย่างแน่นอน
2) สำรวจฐานเงินเดือนในสายงานเดียวกัน
การสำรวจฐานเงินเดือนในตำแหน่งงานเดียวกันหรือสายอาชีพที่ใกล้เคียงจะทำให้เรารู้ว่าปกติแล้วอัตราเงินเดือนควรได้รับอยู่ที่เท่าไร ปัจจุบันเราได้รับมาก-น้อย กว่าที่อื่นขนาดไหน ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจขอ “ตัวเลข” ที่ต้องการได้เหมาะสมมากขึ้นโดยไม่ลืมว่าแม้จะเป็นตำแหน่งงานเดียวกันแต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันในแต่ละบริษัทด้วย
หากพบว่าปัจจุบันเราได้ “เกินกว่าค่าเฉลี่ย” ก็อาจไม่จำเป็นต้องขอปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากจนบริษัทให้ไม่ไหว แต่ถ้าได้ “น้อยกว่าค่าเฉลี่ย” ก็ควรพิจารณาว่าสามารถต่อรองได้ขนาดไหน เกินกำลังจ่ายของบริษัทหรือไม่ ทางออกไหนถึงจะวิน – วินทั้งสองฝ่าย
3) ตอบให้ได้ว่าบริษัทจะได้อะไรมากขึ้น
อย่างที่บอกว่ากลไกการปรับขึ้นเงินเดือนคือการแลกเปลี่ยนจากสองฝ่ายเมื่อเรามองหา “เงิน” หรือคิดว่าควรได้รับผลตอบแทนมากขึ้น บริษัทเองก็ต้องคาดหวัง “งาน” ที่มากขึ้นจากลูกจ้างเช่นเดียวกัน
เราควรวางแผนงานระยะยาวในองค์กรโดยมีวิธีการวัดผลที่ชัดเจนซึ่งจะทำให้นายจ้างมองว่าเราคือ “การลงทุนระยะยาว” ที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้องค์กรได้มากขึ้นในอนาคต
4) เชื่อมั่นว่าตัวเองคู่ควรกับการปรับขึ้นฐานเงินเดือน
เมื่อเราทำการบ้านศึกษาข้อมูลฐานเงินเดือนมาเป็นอย่างดีแถมยังมีทั้ง “ผลงาน” และ “แผนงาน” ที่ได้เตรียมไว้ประกอบการต่อรอง อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือ “ใจ” ที่ต้องเชื่อมั่นว่ากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดโดยที่รู้คุณค่าของความสามารถของตัวเอง ซึ่งความมั่นใจนี้จะทำให้บริษัทกล้าตัดสินใจลงทุนกับเรามากขึ้น
สุดท้ายแล้วการปรับฐานเงินเดือนแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับการตกลงแลกเปลี่ยนเงื่อนไขกันทั้งสองฝ่าย ยิ่งเราต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองได้ว่าคู่ควรและสร้างผลประโยชน์กลับคืนสู่องค์กรได้ดีไม่แพ้กัน
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม:
4 บทเรียนด้านการสมัครงานจากบุคลากรในบริษัทชั้นนำระดับโลก
นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจ “เปลี่ยนงานกลางปี”
แหล่งข้อมูลจาก: Business News Daily, How to Ask Your Boss for a Raise: 5 Tips for Success