สัมภาษณ์งานไม่ผ่าน เพราะพยายาม “ปิดบังข้อเสีย” ของตัวเองมากเกินไป
ในมุมมองทั่วไปการสัมภาษณ์งานคือการที่องค์กร (นายจ้าง) และผู้สมัคร (ลูกจ้าง) มานั่งพูดคุยทำความรู้จัก พร้อมหาข้อสรุปในแต่ละประเด็น ทั้งหน้าที่ ความคาดหวัง เป้าหมาย ตลอดจนผลตอบแทนก่อนจะตัดสินใจ “ไปต่อ” หรือควรพอแค่นี้
สำหรับข้อมูลที่ผู้สมัครต้องการจากการสัมภาษณ์หลักๆ คือ
- ตำแหน่งงานนี้ “ต้องทำอะไรบ้าง”
- รูปแบบการทำงานที่นี่เป็นอย่างไร
- คุณภาพชีวิตที่จะดีขึ้นหลังจากนั้น
- มี Career path รองรับในระดับไหน
ในส่วนขององค์กรอาจต่างไปเล็กน้อยซึ่งมีเนื้อหาสาระหลักๆ อยู่ 4 ด้านด้วยกัน
- ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่
- “บุคลิกนิสัย” สไตล์เข้ากับองค์กรได้
- มีความมุ่งมั่นและแพชชันที่น่าสนใจ
- จะเป็นการตัดสินใจที่ “คุ้มค่า” ในอนาคต
เมื่อเข้าใจเป้าหมายที่องค์กรมองหาแล้วผู้สมัครก็จะใช้เวลาเตรียมตัวได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหนึ่งในข้อผิดพลาดที่ทำให้หลายคนสัมภาษณ์งานไม่ผ่านอยู่บ่อยๆ ก็คือการตั้งเป้าเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะพยายามปิดบังตำหนิหรือข้อเสียของตัวเองเพราะเชื่อว่ายิ่ง “ไร้ที่ติ” ก็จะยิ่งมีโอกาสได้งานสูง
ยกตัวอย่าง
เมื่อองค์กรอยากรู้จักผู้สมัครมากขึ้นก็อาจใช้คำถามที่ให้บอกเล่าเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น กลุ่มที่มีทัศนคติว่าตัวเราต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น ก็จะพยายามเลี่ยงการเปิดเผยจุดอ่อนและเบี่ยงประเด็นไปพูดถึงเรื่องอื่นแทน เช่น “ไม่เคยมีประวัติทำงานแล้วผิดพลาด” เพราะหมั่นเช็กความเรียบร้อยก่อนเสมอ
ถ้าลองเอาตัวเองไปนั่งอยู่ในสถานการณ์นั้นก็จะพบว่ามันดูจะเกินจริงไปสักหน่อย เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไม่เคยทำพลาดเลย ดังนั้นแทนที่คำตอบนี้จะช่วย “สร้างเครดิต” กลับกลายเป็นการ “ดิสเครดิต” ให้ตัวเองดูไม่น่าเชื่อถือแทนเสียอย่างนั้น นอกจากนี้หากย้อนกลับไปที่เป้าหมายการสัมภาษณ์ขององค์กรข้อที่ 4 คือการพิจารณาว่า “คุ้มค่า” ต่ออนาคตหรือไม่ แสดงว่าเกณฑ์การคัดเลือกจะไม่ใช่แค่ทำงานตอนนี้ได้ดี แต่ยังต้องมีพื้นที่ให้พัฒนาสำหรับอนาคตขององค์กรด้วย
ดังนั้นการพยายามปกปิดข้อผิดพลาดในอดีต จึงเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่องค์กรมองหาอย่าง Growth Mindset ที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ทำให้เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ กล้าออกนอกกรอบและมอง “ความล้มเหลว” เป็นขั้นบันไดของความสำเร็จ การที่ใครสักคนจะมีตำหนิบ้าง ไม่ใช่อาชญากรรมเลวร้าย เพราะองค์กรเองก็อยากทำความเข้าใจตัวตนของผู้สมัครให้มากขึ้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการมีข้อเสียหรือความผิดพลาดคือความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามกำแพงเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าทุกปัญหาควรถูกขุดขึ้นมาพูดถึง กุญแจสำคัญอันดับแรกคือเลือกจากสิ่งที่กำลังพัฒนาหรือแก้ไขแล้ว โดยไม่ใช่จุดอ่อนที่ “แก้ยาก” จนมองไม่เห็นหนทางและถ้าให้ดีที่สุดคือใช้สิ่งที่เคยเป็นปัญหาจริงๆ แต่ปัจจุบันสามารถเอาชนะได้จนกลายเป็น “จุดเด่น” ในที่สุด
อ่านบทความเสริมทักษะการสัมภาษณ์งาน:
รู้จักสไตล์และจุดเด่นตัวเองให้มากขึ้น ผ่าน 4 รูปแบบหลักของการสัมภาษณ์งาน
กฎ 3 ข้อในการแสดงทักษะ “การทำงานเป็นทีม” ระหว่างสัมภาษณ์งาน
แปลและเรียบเรียงจาก: https://shorturl.at/dijT6