สัมภาษณ์งานควรเป็นตัวเอง
หรือพยายามทำตัวให้ถูกใจผู้สัมภาษณ์
การสัมภาษณ์งานมาพร้อมกับโอกาสแค่ครั้งเดียวที่จะตัดสินทุกอย่าง เหมือนเสี่ยงดวงกับเหรียญที่มีสองด้าน ซึ่งสามารถออกหน้าไหนก็ได้
แถมผลลัพธ์ของการสมัครงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราแค่คนเดียว แต่ยังต้องลุ้นว่าคู่แข่งแต่ละคนเขาทำได้ดีแค่ไหนด้วย จึงไม่แปลกถ้าเราจะต้องทำทุกทางเพื่อ “ผลลัพธ์” ที่ต้องการทั้งสวมภาพลักษณ์ใหม่ หรือใส่หน้ากากให้ดูสมบูรณ์แบบ แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวเองก็ตาม
แต่ในอีกมุม การแสดงความเป็นตัวเองในการสัมภาษณ์งานก็เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับกระบวนการคัดเลือกพนักงาน เพราะผู้สมัครจะสามารถแสดงออกถึงบุคลิก ทัศนคติ จุดแข็งจุดอ่อนให้ผู้สัมภาษณ์วิเคราะห์ว่าจะปรับเข้ากับองค์กรได้หรือไม่ นอกจากจะเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกสำหรับฝั่งองค์กรแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะไปไม่รอดกับงานใหม่ให้กับผู้สมัครด้วย
สำหรับคนที่สงสัยว่าสรุปแล้วสัมภาษณ์งานควรเป็นตัวเองหรือปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อทำคะแนนได้มากขึ้น Reeracoen Thailand มีคำแนะนำและเทคนิคมาฝาก บอกเลยว่าการเป็นตัวเองก็พิชิตใจผู้สัมภาษณ์ได้เหมือนกัน!
ทำไมหลายคนเลือกที่จะไม่เป็นตัวเองระหว่างสัมภาษณ์
- กลัวถูกปฏิเสธ ยิ่งคาดหวังไว้มากเท่าไร ก็จะยิ่งกลัวความล้มเหลวมากเท่านั้น จึงพยายามทำให้นายจ้างประทับใจจาก “บทบาท” ที่สวมอยู่ เพราะกลัวว่าตัวตนที่เป็นจะไม่ตรงกับคนที่องค์กรตามหา
- พยายามทำตามความคาดหวังของบริษัท ผู้สมัครหลายคนเชื่อว่าการมีโปรไฟล์ตรงกับความต้องการองค์กรก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการสมัครงาน เลยพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังเหล่านั้นจนกลายเป็นว่าดูขาดความเป็นตัวเอง ไม่มีความโดดเด่น
- ยังไม่มั่นใจในตัวเอง อาจเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีจุดอ่อนในหลายๆ เรื่อง หรือแม้กระทั่งกังวลว่าจุดแข็งที่มีก็ยังไม่น่าประทับใจมากพอทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่กล้าแสดงสิ่งเหล่านั้นออกมา
- ไม่ชินกับกระบวนการสัมภาษณ์ สำหรับคนที่เคยสัมภาษณ์งานบ่อยๆ ก็อาจมีภูมิคุ้มกัน แต่กับคนที่จบใหม่ หรือไม่ค่อยได้สัมผัสการย้ายงานมากนักก็มักจะเกร็งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคำถามยากๆ จากคนแปลกหน้า เลยไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกไปได้อย่างเต็มที่
- มีประสบการณ์ที่ไม่ดี บางคนอาจเคยเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต เช่น ถูกวิจารณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเองโดยตรง จึงต้องพยายามปิดบังมุมนั้นไว้ไม่ให้โดนซ้ำอีก
การเป็นตัวเองระหว่างสัมภาษณ์งานดีอย่างไร
- ทำให้องค์กรประทับใจในความจริงใจ หัวใจหลักของการสัมภาษณ์งานไม่ใช่เวทีแสดงความเก่งส่วนตัว แต่เป็นช่วงเวลา “แลกเปลี่ยนข้อมูล” ระหว่างผู้สมัครกับองค์กร การแสดงความเป็นตัวเองจึงช่วยให้ทั้งฝ่ายได้ข้อมูลชัดเจน สามารถเข้าใจถึงตัวตน แนวคิด เป้าหมายของทั้งคู่ ซึ่งช่วยให้เลือกได้ง่ายและลดโอกาสตัดสินใจผิดพลาด
- บ่งบอกถึงความมั่นใจในตัวเอง เพราะการไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก หรือตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา สื่อถึงบุคลิกภาพที่ “ขาดความมั่นใจ” ไม่มีภาวะผู้นำซึ่งอาจส่งผลให้เราดูด้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างชัดเจน
- คลายความกดดัน การพยายามสร้างภาพลักษณ์แบบอื่นที่ต่างออกไป หรือแม้แต่คอยจำบทพูดเวลาตอบคำถามจากผู้สัมภาษณ์อาจทำให้เราเครียด กลัวทำผิด จนกดดันได้แบบไม่รู้ตัว ดังนั้นการรู้จักปล่อยวางแล้วใช้ความเป็นตัวเองจริงๆ ก็จะช่วยให้สื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติและทำได้ดีมากขึ้น
- ได้เข้าไปทำงานที่เหมาะสมกับเราจริงๆ การได้งานจากการแสดงความเป็นตัวเองคือการชนะรางวัลที่มีค่าที่สุด เพราะนั่นหมายถึงองค์กรให้การยอมรับในตัวตนของเราจริงๆ และส่งผลให้ทำงานได้อย่างมั่นใจและมีความสุข
ปรับนิดจูนหน่อย เพิ่มโอกาสคว้างานให้มากขึ้น
- ใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
ฝึกตอบคำถามพื้นฐาน เช่น การแนะนำตัวก่อนเริ่มสัมภาษณ์หรือ สาเหตุที่สนใจอยากสมัครงานตำแหน่งนี้
เพื่อลดความกังวล และเพิ่มความมั่นใจ - นำเสนอจุดเด่นที่ตอบโจทย์การจ้างงานขององค์กร
ควรทำความเข้าใจลักษณะองค์กร ธุรกิจ เนื้องานและความคาดหวัง เราจะได้ดึงมาแมตช์กับจุดเด่นในส่วนของทักษะและประสบการณ์
แล้วใช้นำเสนอกลับไปในระหว่างการสัมภาษณ์อย่างตรงจุด - แสดงความอยากรู้จักกลับไปหาองค์กรบ้าง
การตั้งคำถามเพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทในแง่มุมอื่น ไม่เพียงช่วยให้เห็นภาพอนาคตในองค์กรนั้นๆ มากขึ้น แต่ยังสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับอนาคต เป็นคนมีแบบแผน รู้จักกำหนดเป้าหมายในใจชัดเจน สามารถคัดเลือกได้ว่าอะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะกับตัวเอง - อย่าพยายามปิดบังจุดอ่อนของตัวเองมากเกินไป
หนึ่งในข้อผิดพลาดที่ทำให้หลายคนสัมภาษณ์งานไม่ผ่านอยู่บ่อยๆ ก็คือการปกปิดข้อเสียของตัวเอง เพราะเชื่อว่ายิ่ง “ไร้ที่ติ” ก็จะยิ่งมีโอกาสได้งาน เพราะในโลกความเป็นจริงนั้นไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบในทุกเรื่องและการยอมรับในจุดอ่อนยังสะท้อนถึง Growth mindset ที่องค์กรให้ความสำคัญด้วย แต่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อรู้จักจุดอ่อนของตัวเองแล้ว เราเองก็ควรมีแผนที่จะก้าวข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นให้องค์กรมั่นใจที่จะจ้างงานมากขึ้นด้วย
หลักการสำคัญไม่ใช่แค่การพูดถึงสิ่งที่ตัวเราชอบอย่างเดียว แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงวิธีคิดและมุมมองที่เรามีต่องาน วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนความสัมพันธ์ในองค์กร เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างพิจารณาได้ว่าเราเหมาะกับงานนั้นหรือไม่
การแสดงความเป็นตัวเองอย่างมั่นใจและมีความจริงใจจะทำให้นายจ้างเห็นถึงตัวตน คุณค่า และศักยภาพที่แท้จริงและเพิ่มโอกาสให้เราได้งานที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
ฝากโปรไฟล์สร้าง Passive Job Opportunity และให้โอกาสงานเป็นฝ่ายเข้าหาคุณ