วิธีแนะนำตัวตอนสัมภาษณ์งาน เทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้องค์กรสนใจเรามากขึ้น
ก่อนเริ่มต้นการสัมภาษณ์งานทุกครั้ง สิ่งที่ HR จะให้เราทำเป็นอันดับแรกก็คือ “พูดแนะนำตัว” ให้ฟังเพื่อทำความรู้จัก Background เบื้องต้นก่อนลงรายละเอียดในส่วนอื่นๆ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย แค่แนะนำชื่อ ประวัติการศึกษา งานที่ทำในปัจจุบันและประสบการณ์ที่ผ่านมาพอสังเขป
ถ้าเราเริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยการแนะนำตัวที่ดี ก็จะสามารถคลายข้อสงสัยที่องค์กรอาจมีต่อตัวเราไปได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เรารับมือกับคำถามที่ยากขึ้นในข้อถัดๆ ไปได้ง่ายและมีโอกาสที่จะโดดเด่นในสายตาองค์กรมากกว่าคนอื่นๆ
รู้ว่าควรพูดเรื่องอะไรบ้าง
ระยะเวลานับเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งในการสัมภาษณ์งาน ดังนั้นถ้าสามารถสรุปจบทุกประเด็นที่น่าสนใจได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมก็จะเสริมความโดดเด่นด้าน “ทักษะการสื่อสาร” ให้องค์กรได้เห็นไปในตัว
เทคนิคที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนลองไปปรับใช้ก็คือการวาง “โครงสร้างเนื้อหา” ทำอย่างไรให้อีกฝ่ายอยากรู้จักเราในแต่ละแง่มุมมากขึ้น เช่น ทักษะที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ประสบการณ์ที่น่าสนใจ เหตุผลที่ตัดสินใจย้ายงาน รวมถึงเป้าหมายไว้ ณ ตอนนี้
นอกจากชื่อ ประวัติการศึกษา งานอดิเรกและเรื่องพื้นฐานทั่วไป ส่วนที่เราควรจะตอบตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงองค์กรเองก็ให้ความสำคัญ ได้แก่
- ประสบการณ์และผลงานที่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน
สังเกตได้จาก Job description ว่าตำแหน่งนี้ต้องการคนแบบไหน คุณสมบัติอะไรที่จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษโดยมี “ผลงาน” ที่มีวิธีการวัดผลได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าหากสอดคล้องหรือใกล้เคียงกับจุดประสงค์หลักของตัวงานนั้นๆ ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้โปรไฟล์ของเราด้วย - งานล่าสุดมีความคล้ายหรือแตกต่างกับตำแหน่งนี้อย่างไร
อธิบายภาพรวมการทำงานในปัจจุบัน หน้าที่หลัก หน้าที่เสริม สรุปส่วนสำคัญของแต่ละงาน ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการทำงาน และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะบางเคสในอดีตที่เรานำมาแชร์ให้กับบริษัทใหม่ได้ฟังก็อาจถูกมองว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีและนำมาปรับใช้กับที่ใหม่ได้เช่นกัน - อะไรที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานที่นี่
การทำงานในแต่ละตำแหน่งย่อมอาศัยทักษะต่างกัน เช่น ตำแหน่งผู้จัดการก็อาจชูจุดเด่นเรื่อง “การบริหาร” ทั้งงานและคนเป็นหลัก ดังนั้นเราต้องวิเคราะห์ Requirement ขององค์กรให้ดีก่อนว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ คืออะไร เราจึงจะสามารถตอบได้ว่าคุณสมบัติของเราส่วนไหนที่แมตช์บ้างและจัดวาง “ลำดับความสำคัญ” จากส่วนที่ตอบโจทย์องค์กรมากที่สุด
แนวทางกำหนดเส้นเรื่องแต่ละรูปแบบ
- ปัจจุบัน – อดีต – อนาคต
เริ่มจากแนะนำตัว ชื่อ-นามสกุล ประวัติการศึกษาและอธิบายตัวงานที่ทำอยู่ล่าสุด (หรือ ณ ปัจจุบัน) หน้าที่คืออะไร วัตถุประสงค์แบบไหน ช่วยเหลือบริษัทยังไง มีประสบการณ์งานที่เคยผ่านมาในด้านไหนบ้างแล้วมีเป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างไร
- อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต
ต่างจากแบบแรกที่เราจะสรุปตั้งแต่ “อดีต” ว่าผ่านงานอะไรมาบ้าง อุตสาหกรรมแบบไหน ธุรกิจประเภทอะไร ไล่มาจนถึงปัจจุบันว่า ณ ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แล้วสรุปความคาดหวังต่ออนาคต หรือเหตุผลที่ตัดสินใจมองหางานใหม่
ทั้งสองแบบมีรูปแบบการเล่าเรื่องแตกต่างกัน วิธีการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าจุดไหนที่ “โดดเด่น” และมีแนวโน้มว่าน่าจะดึงดูดความสนใจได้มากกว่ากัน
สรุป
การเริ่มต้นแนะนำตัวที่มีประสิทธิภาพช่วยสร้างความแตกต่างให้เรากับผู้สมัครคนอื่นๆ สะท้อนถึงความสามารถในการสื่อสาร และทักษะการนำเสนอที่ดี รวมถึงช่วยทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับตัวเราได้โดยง่าย ที่สำคัญคือการเป็นเครื่องมือเปิดประเด็นให้บริษัทมีหัวข้อในการถามต่อ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอจุดเด่นของตัวเองในแต่ละด้านได้มากขึ้นด้วย
อยากรู้ว่างานใหม่จะพาเราไปได้ไกลแค่ไหน แนะนำให้ถามเกี่ยวกับการพัฒนาคนในองค์กรนั้นๆ
แปลและเรียบเรียงจาก: