มีประวัติย้ายงานบ่อย พรีเซนต์ตัวเองยังไงให้ไม่ดูเป็น Job Hopper
สาเหตุที่ทำให้คนเราตัดสินใจย้ายงานมีอยู่หลายข้อด้วยกัน ตั้งแต่เหตุผลส่วนตัว อย่างปัญหาในที่ทำงาน ความไม่พึงพอใจในตัวงาน ต้องการเงินเดือนเพิ่ม รวมถึงออกมาเพื่อมองหาโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น แถมยังมีปัจจัยทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมหรือคนรอบข้าง อย่างความจำเป็นทางครอบครัว หรือการย้ายที่อยู่ใหม่
สำหรับการย้ายงานเพื่อตอบโจทย์เหตุผลเหล่านี้นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีหากสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มีประวัติ “ย้ายงานบ่อย” ก็เป็นที่น่ากังวลสำหรับการหางานในอนาคตได้เช่นกัน เนื่องจากบริษัทอาจมองว่าเราจัดอยู่ในกลุ่ม Job Hopper และมีแนวโน้มที่จะไม่รับพิจารณาเข้าทำงาน แล้ว Job Hopper คืออะไร ทำไมการย้ายงานบ่อยถึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เราจะมีวิธีเริ่มต้นพรีเซนต์ตัวเองอย่างไรให้ได้งาน ติดตามอ่านต่อได้ในบทความนี้เลย
Job Hopper คืออะไร
หมายถึงคนที่มีประวัติการย้ายงานบ่อยในระยะเวลาสั้นๆ เช่น เปลี่ยนงานมากกว่า 1 – 2 บริษัทภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่พูดถึงกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ไฟแรง มีความทะเยอทะยาน พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้มีอนาคตที่ดีขึ้น
แม้ว่ามุมมองสมัยก่อนจะมองว่าดูไม่มีความมุ่งมั่น แต่กับปัจจุบันการย้ายงานบ่อยถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งวัฒนธรรมโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงเหตุผลจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เราต้องหาความมั่นคงด้วยงานที่ลงตัวกับเป้าหมายส่วนตัวให้มากที่สุด
ความจริงแล้วการย้ายงานบ่อยแบบ Job Hopping ก็มีข้อดีสำหรับคนทำงานในหลายด้าน อาทิ
- ขึ้นเงินเดือนอย่างรวดเร็ว
- มีการพัฒนาทางอาชีพสูง
- เก็บเกี่ยวทักษะที่หลากหลาย
- ปรับตัวเข้ากับบริษัทใหม่ได้ง่าย
- ได้รับคอนเนกชันอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม แต่ละองค์กรก็มีมุมมองต่อ Job Hopper แตกต่างกัน บางบริษัทอาจเข้าใจว่าการเปลี่ยนงานเพื่อสิ่งที่ดีกว่าคือเรื่องปกติ แต่ในบางองค์กรก็ยังมีมุมมองต่อ Job Hopper ในแง่ลบ และปัจจัยที่ HR มักจะระวังจากผู้สมัครที่มีประวัติย้ายงานบ่อยก็คือแนวโน้มที่จะร่วมงานกันได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเกิด Turnover สูง HR ก็ต้องเตรียมตัวหาคนเข้ามาแทนและส่งผลให้บริษัทไม่พิจารณารับเข้าทำงานตั้งแต่ต้น ซึ่งข้อเสียโดยสรุปของ Job Hopping ได้แก่
- ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
- มีโอกาสหางานใหม่ได้ยากขึ้น
- ขาดความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ไม่คงที่
- ระยะเวลาพิสูจน์ผลงานน้อยเกินไป
- ไม่ได้ฝึกตัวเองให้พยายามแก้ปัญห
วิธีพรีเซนต์ตัวเองสำหรับการสมัครงานใหม่
สำหรับคนย้ายงานบ่อย แต่ไม่อยากให้ประวัติที่ผ่านมาเกิดภาพลักษณ์สุ่มเสี่ยงจะเข้าข่าย Job Hopper อย่างที่กล่าวมา Reeracoen Thailand มีวิธีการปรับวิธีนำเสนอตัวเองในการสมัครงานด้วยการสรุปภาพรวม และชูจุดเด่นของตัวเองให้น่าสนใจดังนี้ครับ
- เน้นโฟกัส “เป้าหมายในการทำงาน” และสรุปภาพรวมที่ผ่านมา
อันดับแรกคือการสรุปที่มาที่ไปของตัวเองให้กระชับ โดยเรียบเรียงเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น “ส่วนสรุป” ด้านบนของเรซูเม่ควรใช้เพื่ออธิบายภาพรวมว่าเราเป็นใครในโลกการทำงาน มีประสบการณ์ในด้านไหน และเป้าหมายคืออะไรสำหรับข้อผิดพลาดที่เจอบ่อยๆ ในการพรีเซนต์ตัวเองก็คือการใส่รายละเอียดประวัติการทำงานมากเกินไป ที่หลายคนมักจะชอบทำขึ้นมาเป็น Bullet list ซึ่งทำให้อ่านรายละเอียดต่างๆ ง่ายก็จริง แต่ก็จะยิ่งย้ำภาพลักษณ์ของการย้ายงานบ่อยและอาจทำให้ HR มองว่าไม่ชัดเจนในเป้าหมาย รวมถึงเลือกที่จะไม่พิจารณารับเข้าทำงานได้เช่นกัน
ทางที่ดีคือพยายามรวบรวมประสบการณ์ในแต่ละจุดมาสรุปเป็น “ประสบการณ์ในภาพรวม” ว่าเคยทำสายงานไหน มีหน้าที่เกี่ยวกับอะไร และที่สำคัญคือ “อิมแพค” ที่สร้างไว้ ซึ่งถ้าองค์กรเริ่มมีความสนใจก็จะพยายามถามมากขึ้นและนั่นคือโอกาสที่เราจะได้ขายของให้เต็มที่ เท่านี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์กับการสมัครงานครั้งต่อไป
- เลือกเฉพาะประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าทุกประสบการณ์จะช่วยหล่อหลอมให้เรามีทุกวันนี้ แต่กับการสมัครงานเราควรมีความเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด รู้จักเป้าหมายของตัวเอง เข้าใจความคาดหวังขององค์กร แล้วเอาประสบการณ์ที่มีไปช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ เนื่องจากการมีประวัติการทำงานที่ดูเยอะมากๆ อาจทำให้เราถูกองค์กรมองว่า Overqualified หรือพูดเป็นภาษาง่ายๆ ว่า “เก่งเกินไปที่จะมาทำงานนี้” อ่านต่อที่ได้ที่บทความ 4 เหตุผลทำไมไม่ควรระบุประสบการณ์ทำงานในเรซูเม่มากเกินไป
การย้ายงานบ่อยไม่ใช่เรื่องที่ผิดหากสามารถช่วยให้เรามีอนาคตที่ดีขึ้นได้ ก่อนจะย้ายงาน ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี – ข้อเสีย ชัดเจนในเป้าหมายการย้ายงานของตัวเองและศึกษาองค์กรว่าตอบโจทย์ในเรื่องนั้นได้ไหมเพื่อให้เราได้เจองานที่ใช่และประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว หางานที่ใช่ ในบริษัทที่ชอบได้กับ Reeracoen Thailand
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: https://shorturl.at/gkvMW