“คุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า”
ทำไม HR ถึงต้องถาม แล้วคำตอบแบบไหนที่นายจ้างไม่อยากได้ยิน
คุณเคยไปสัมภาษณ์งานแล้วเจอคำถามในลักษณะนี้หรือไม่ ในมุมมองของคุณคิดว่าสาเหตุอะไรที่อีกฝ่ายต้องถาม แล้วตอนนั้นคุณคิดว่าคำตอบของคุณ “ดีพอแล้วหรือยัง” ในบทความนี้ Reeracoen Thailand จะช่วยไขข้อสงสัยถึงสาเหตุที่นายจ้างมักจะเลือกใช้คำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์งานรวมถึงแนวทางที่แม้ว่าเราจะไม่รู้อนาคตก็สามารถตอบได้
สาเหตุที่หลายบริษัทเลือกใช้คำถามนี้
1) เช็กความคาดหวังในการทำงานว่าสอดคล้องกับองค์กรไหม
เราคงได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในคืนเดียว” เช่นเดียวกับเป้าหมายใหญ่ที่ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว การทำงานในฐานะ “องค์กร” จำเป็นต้องอาศัยกำลังคนในหลายส่วนเพื่อสร้างระบบที่ช่วยกันทำหน้าที่พาทุกคนไปถึงเป้าหมายส่วนรวม ซึ่งแน่นอนว่านายจ้างต้องอยากให้ส่วนรวมมีเป้าหมายที่ตรงกันและมั่นใจได้ว่าคนที่จะเข้ามาใหม่นั้นจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ด้วย
ดังนั้นการถามว่า “คุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า” คือการหาคำตอบว่าผู้สมัครต้องการอะไรจากการทำงานและในอนาคตจะยังตอบโจทย์สิ่งที่องค์กรต้องการมากหรือไม่
2) แน่ใจว่าเราจะสามารถร่วมงานกับบริษัทได้ในระยะยาว
จากสถิติพบว่าค่าเฉลี่ยคนมักใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีไปกับงาน 1 ที่ซึ่งเมื่อมีคนลาออกหรือการเกิดเปลี่ยนแปลงพนักงาน องค์กรก็อาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจัดจ้างคนใหม่เข้ามาแทนที่โดยเฉพาะในตำแหน่งงานสำคัญที่ยิ่งสูง ก็อาจจะยิ่งหาคนได้ยาก ทำให้การจะรับใครสักคนเข้าทำงานบริษัทจึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบส่วนใหญ่บริษัทจึงเลือกมองหาคนที่ต้องการทำงานใน “ระยะยาว” มากกว่า
3) มองหา “ความทะเยอทะยาน”
การถามถึงอนาคตเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไกลตัว หากเป็น 1-2 ปีก็พอเห็นภาพตัวเองบ้างเพราะยังถือว่าไม่ห่างจากปัจจุบันจนเกินไป แต่เมื่อคำถามเป็นการพูดถึงระยะเวลาอีก 5 ปี (ซึ่งถือว่านาน) จึงทำให้ตอบได้ยากเพราะหลายคนก็อาจไม่ได้วางแผนไกลขนาดนั้นและด้วยสถานการณ์ต่างๆ ก็ทำให้ยากที่จะคาดเดาอนาคต
แต่ในมุมของนายจ้าง ย่อมอยากได้คนที่มีความชัดเจน มีความทะเยอทะยานและมีสามารถแผนอนาคตได้ด้วยตัวเอง รวมถึงในการสัมภาษณ์งานคือการทำความรู้จักกันระหว่างสองฝ่าย จึงไม่แปลกที่นายจ้างจะอยากรู้จักตัวตนของว่าที่พนักงานให้มากที่สุดซึ่ง “แพชชัน” ในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ
คำตอบแบบไหนที่นายจ้าง “อยากได้ยิน”
เมื่อคำถามดังกล่าวเป็น 1 ในเรื่องที่ตอบได้ยากที่สุดในการสัมภาษณ์งาน ดังนั้นคำตอบควรทำให้อีกฝ่ายมั่นใจได้ว่าเราคือการลงทุนที่ตอบโจทย์ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่ทำให้คิดว่า “คนนี้เข้ามาทำงานอีกแปปเดียวแล้วก็ลาออก” โดยอิงจากหลักการต่อไปนี้
1) กำหนดเป้าหมายในการทำงานโดยสอดคล้องไปกับ Job Description
ก่อนจะตอบอะไร ลองนึกย้อนไปก่อนว่า “บริษัทต้องการอะไร” เพราะหน้าที่ในฐานะคนทำงานคือตอบสนองความต้องการเหล่านั้นให้ดีที่สุด อาจอิงจากหน้าที่รับผิดชอบบน Job Description รวมถึงศึกษาข้อมูลองค์กรเพื่อทำความคุ้นเคยกับตัวธุรกิจ
หากเราสามารถวางแผนอนาคตโดยที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายของบริษัทได้ โดยไม่ลืมที่จะมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาตัวเองและบรรลุเป้าหมายส่วนตัว ก็มีแนวโน้มที่นายจ้างจะพิจารณาเราเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ
2) จินตนาการว่าอีก 5 ปีจากนี้อยากมี “ผลงาน” แบบไหนโชว์บนหน้าเรซูเม่บ้าง
การทำงาน 1 ที่นอกจากเงินและสวัสดิการที่ได้รับเป็นการตอบแทนอีกหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นผลประโยชน์คือ “ความรู้และประสบการณ์ทำงาน” ซึ่งสำหรับบางคนอาจมีเรื่องที่อยาก “เน้น” เป็นพิเศษ ลองนึกภาพว่าอยากออกจากบริษัทนี้ไปด้วยภาพจำแบบไหน มีผลงานอะไรที่ติดตัวไปโชว์บนหน้าเรซูเม่หรือมีพัฒนาการด้านทักษะในแง่ใดบ้าง
ทิ้งท้ายกับสิ่งที่นายจ้าง “ไม่อยากได้ยิน”
- มองว่าการมาทำงานที่นี่เป็น “ทางผ่าน”
- คิดว่าตัวเอง “เก่งเกินงาน” และมีแนวโน้มที่จะเบื่อง่าย
- ยังไม่มีภาพหรือเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต
4 ขั้นตอนและเทคนิคต่อรอง “ปรับฐานเงินเดือน”
HR ถามว่า “ทำไมถึงลาออกจากที่เก่า” เราควรตอบแบบไหน?
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3rpq4ev