คำถามสัมภาษณ์งาน “คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นยังไง” ตอบยังไงให้ได้งานและไม่ดิสเครดิตคู่แข่ง
หนึ่งในคำถามสัมภาษณ์งานที่ผู้สมัครมีโอกาสเจอบ่อยๆ ก็คือ “คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นยังไง” เพราะแน่นอนว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่บริษัทเรียกสัมภาษณ์ และวิธีตอบให้ตรงประเด็นก็คือพยายามพูดถึงข้อดีของตัวเอง เพียงแต่บางครั้งคำตอบเหล่านั้นก็อาจไปดิสเครดิตคู่แข่งซึ่งมีส่วนสร้างความรู้สึกเชิงลบต่อคนที่ได้รับฟัง นอกจากนี้ ถึงแม้จะมั่นใจในความสามารถของตัวเอง แต่ถ้าเราไม่รู้จัก “คู่แข่ง” คนอื่นว่าเป็นแบบไหนก็คงไม่มีทางที่จะสามารถบอกว่าตัวเองดีที่สุดได้เต็มปาก
แต่ความจริงจุดประสงค์ของคำถามนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อพิสูจน์ว่าเราจะเป็นแคนดิเดทหมายเลขหนึ่งที่ดีพร้อมในทุกด้าน เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือเพื่อวัดทัศนคติ รวมถึงมุมมองความคิดที่เรามีต่องานที่สมัครเข้ามาและที่สำคัญที่สุดคือ “เราแตกต่างจากคนอื่น” อย่างไร Reeracoen Thailand มีคำแนะนำวิธีการตอบคำถามเพื่อเพิ่มความโดดเด่น แบบไม่ดิสเครดิตใครและมีโอกาสได้งานมากขึ้น มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้เลย
สิ่งที่องค์กรอยากรู้ผ่านคำถามนี้
นอกจากพิจารณาว่าคุณสมบัติเราเหมาะกับตำแหน่งนี้แค่ไหน อีกมุมหนึ่งบริษัทเองก็อยากเห็นว่าเรามีความเข้าใจในตัวงานที่ดี รู้ว่าองค์กรกำลังคาดหวังอะไรจากการจ้างงานในครั้งนี้แล้วเราสามารถใช้ไหวพริบชิงความได้เปรียบด้วยข้อมูลจาก Job description มาสร้างจุดขายให้ตัวเองโดดเด่นกว่าคนอื่นในการสัมภาษณ์ได้ไหม
อีกหนึ่งเหตุผลคือวัด “ทัศนคติ” ว่าเรามั่นใจในความสามารถไหม เพราะคนที่มีความมั่นใจเวลาอยู่หน้างาน หรือเจอสถานการณ์ยากๆ จะสามารถทำการตัดสินใจด้วยตัวเลือกต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
แนวทางการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน “คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นยังไง”
- ศึกษาตำแหน่งงาน และภาพรวมองค์กร
การจะตอบคำถามที่ต้องอาศัยความเข้าใจในระดับสูงแบบนี้ อันดับแรกคือกำหนดภาพจำลองโปรไฟล์ในหัวว่าคนที่คู่ควรกับงานและบริษัทนี้ต้องมีลักษณะแบบไหนโดยอ่านรายละเอียด Job description แล้ววิเคราะห์ข้อมูลต่อไปนี้ คุณสมบัติที่บริษัทต้องกา ประสบการณ์ที่เหมาะสมกับงาน ทักษะที่จะช่วยให้ทำงานนี้ได้ดี Background การศึกษา มีสไตล์ที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร
- หัวใจสำคัญสำหรับตำแหน่งงานที่สมัคร
เมื่อเราได้ 4 ปัจจัยหลักที่องค์กรจะมองหาจากผู้สมัคร ถัดมาคือหาคำตอบว่าอะไรที่ “สำคัญที่สุด” จากหมวดหมู่นั้นซึ่งสามารถสังเกตได้จาก 2 วิธี หนึ่งคือดูจากสิ่งที่องค์กร “เน้นย้ำ” ใน Job Description ให้สังเกตสิ่งที่องค์กรแอบปักธงไว้เป็นพิเศษ ซึ่งนี่คือคำบอกใบ้ว่าพวกเขามองหาอะไรและคนแบบไหนที่เหมาะสม อันดับต่อมาคือการเรียงลำดับความสำคัญของงานในแต่ละด้าน ซึ่งอันดับแรกๆ มักจะ “สำคัญที่สุด” เสมอ เช่น ลิสต์งาน ก็จะเริ่มต้นจากเป้าหมายที่องค์กรคาดหวังจากนั้นถึงจะเป็นงานปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องตามลำดับ
แมตช์จุดแข็งเข้ากับความคาดหวังของบริษัท
เมื่อเราได้ข้อมูลที่ช่วยให้มั่นใจมากพอว่าบริษัทต้องการอะไร ต่อมาคือดูคุณสมบัติ ประสบการณ์ และผลงานว่ามีความใกล้เคียงกับสิ่งที่องค์กรมองหามากพอไหม ลองจินตนาการว่าถ้าได้เข้าไปร่วมงานที่นี่จริงๆ อะไรที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จกับงานนี้ พร้อมหลีกเลี่ยงคำตอบที่ฟังดู “เป็นเรื่องทั่วไป” สำหรับอีกฝ่าย เช่น เพราะเรามีทักษะที่ดี หรือเพราะเรามีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ เนื่องจากคำพูดในลักษณะนี้ใครๆ ก็พูดได้
ใช้คำตอบที่ผสมผสานระหว่างทักษะเฉพาะทาง ความสำเร็จอย่างผลงานที่เราปั้นขึ้นมาจริงๆ และส่วนที่จะทำให้แตกต่างคือ “แพชชัน” ที่เป็นของเราเอง หรือลองตอบตัวเองให้ได้ด้วยคำถามต่อไปนี้
- สามารถช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรในด้านไหน
- อะไรคือสิ่งที่เรามอบให้ได้เกินความคาดหวังขององค์กร
- เราจะไปได้ดีกับแนวทางและเป้าหมายของบริษัทไหม
เตรียมผลงานสำหรับยกตัวอย่าง
เรามักจะให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่าคำพูดเสมอ ดังนั้นวิธีแสดงออกว่าทำไมเราถึงเป็นตัวเลือกที่ดีก็คงหนีไม่พ้น “ผลงาน” ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผลงานที่นำมาใช้ควรมีวิธีการวัดผลหรือตัวเลขชัดเจนพร้อมอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานนั้นๆ ด้วยโครงสร้างการเล่าเรื่องจากหลักการ S.T.A.R เพื่อให้องค์กรได้เข้าใจตรรกะวิธีคิด แนวทางการทำงานและตัดสินใจได้ว่าเราใช่คือคนที่ใช่สำหรับงานนี้ไหม
หรือถ้าเมื่อไม่อยาก Hard sell ตัวเองจนเกินไป ก็สามารถเล่าถึงมุมมองและความคาดหวังที่คนอื่นมักจะมีต่อตัวเรา เช่น หัวหน้ามักจะฝากให้เราเป็นตัวแทนดูแลงานให้กับทีมหรือเพื่อนร่วมงานชอบเข้ามาขอความช่วยเหลือเป็นประจำ ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำและความสามารถที่ได้รับการยอมรับจากคนในทีม
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: https://shorturl.at/defiS