“ถูกเลิกจ้าง” ต้องได้เงินชดเชยเท่าไร เช็กสิทธิพื้นฐานและเงื่อนไขที่คนทำงานต้องรู้ อัปเดตปี 2024
รู้หรือไม่ หากจู่ๆ เราถูกบริษัทเลิกจ้างโดยไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า มนุษย์เงินเดือนแบบเรามีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราขั้นต่ำเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน (กรณีทำงานยังไม่ครบ 1 ปี) โดยจะยิ่งได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นตาม “อายุงาน” ตั้งแต่ 120 วัน ไปจนถึง 10 ปี
สำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้วการถูกเลิกจ้างทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด คงเป็นเรื่องที่ชวนให้เครียดและสำหรับบางคนอาจถึงขั้นหาทางออกไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่าวันตัวเองจะกลายเป็นคนว่างงาน ไหนจะการหางานใหม่ แถมมีภาระค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้หายไปไหน ดังนั้นแรงงานจึงจำเป็นต้องมี “หลักประกัน” หรือ “ค่าชดเชย” เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีเงื่อนไขในการคุ้มครองหลายรูปแบบ
ในระยะ 2-3 ปีให้หลังเราคงเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกการทำงานกันมาไม่น้อย อาทิ การปลดพนักงานของบริษัทใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ซึ่งมีศักยภาพมากพอจะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ในบางส่วนถือเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤติการณ์ “คนตกงาน” ในปัจจุบัน
นอกจากเก็บข้าวของเดินคอตกออกจากออฟฟิศแล้ว มนุษย์เงินเดือนสามารถทำอะไรได้อีกบ้างหากถูกบริษัทเลิกจ้าง Reeracoen Thailand จะพามารู้จักสิทธิพื้นฐาน รวมถึงเงื่อนไขที่คนทำงานต้องรู้ในกรณีถูกเลิกจ้างเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และรักษาผลประโยชน์ของตัวเองตามที่ควรจะได้รับ
เงื่อนไขการเลิกจ้างที่พนักงานต้องได้รับเงินชดเชย
ตามพรบ. คุ้มครองแรงงานฉบับปี พ.ศ. 2562 ระบุว่าพนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ถูก “เลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม” หมายถึงตัวเราไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า โดยลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชยเท่ากับฐานเงินเดือนล่าสุดและจำแนกเป็นขั้นบันไดตามอายุงานดังนี้
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี : ได้รับเงินชดเชย 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี : ได้รับเงินชดเชย 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี : ได้รับเงินชดเชย 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี : ได้รับเงินชดเชย 240 วัน
- ทำงาน 10 ปีขึ้นไป : ได้รับเงินชดเชย 300 วัน
นอกจากนี้ พรบ. คุ้มครองแรงงาน (พ.ศ.2541) ฉบับเดียวกันนี้ก็ได้มีระบุถึง “เงื่อนไข” ที่นายจ้างไม่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินชดเชยไว้ว่ากรณีปรับปรุงหน่วยงานหรือเปลี่ยนแปลงกิจการ ซึ่งส่งผลให้ต้องลดจำนวนพนักงาน และยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยดังนี้
- ถูกไล่ออกเนื่องจากมีความผิด ซึ่งมีจดหมายตักเตือนแล้ว (หากร้ายแรงไม่จำเป็นต้องตักเตือน)
- ทิ้งงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุจำเป็น
- พนักงานเป็นฝ่ายลาออกเอง
- ทุจริตต่อหน้าที่
- ทำผิดกฎหมายอาญา
- จงใจทำให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง / บริษัท
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุก
- การยกเลิกจ้างตามสัญญาที่มีกำหนดเวลาแน่นอน
- กรณีการเลิกจ้างในช่วงระยะเวลาทดลองงาน (Probation)
มีหลายคนสงสัยและถามเข้ามาว่าถ้าหากบริษัทเลิกจ้างภายในช่วงทดลองงาน พนักงานจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชย หรือเข้าข่ายพรบ. คุ้มครองแรงงานข้างต้นไหม
ต้องเริ่มจากแยกให้เห็นเป็นกรณีชัดเจน เมื่อกฎหมายได้ระบุไว้ว่าต้องมีการ “แจ้งล่วงหน้า” อย่างน้อย 30 วัน หากบริษัททำตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องให้เงินชดเชย แต่ถ้าหากแจ้งวันสุดท้ายของการปฏิบัติงานแล้วให้ออกทันทีก็จำเป็นต้องให้เงินชดเชยในอัตราขั้นต่ำ 30 วันตามฐานเงินเดือนล่าสุด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างที่คนทำงานต้องรู้
นอกจากรูปแบบการจ้างพนักงานประจำ หรือพาร์ทไทม์ ยังมีอีกการจ้างงานอีกหนึ่งประเภทอย่าง “พนักงานสัญญาจ้าง” ที่มีกำหนดระยะเวลาทำงานเป็นหนังสือลงลายลักษณ์อักษรชัดเจนซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้
- บริษัทเลิกจ้างเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ
กรณีการเลิกจ้างที่เป็นธรรมอันเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการเลิกจ้างที่บริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงาน โดยมีหลักการพิจารณาจากสองปัจจัย ได้แก่
- มีความเป็นธรรมทางเนื้อหา (ความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้าง)อย่างสถานการณ์ขาดทุนต่อเนื่อง หนี้สะสม สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ จนเป็นให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
- มีความเป็นธรรมทางกระบวนการ (ไม่มีทางออกอื่นแล้ว)กล่าวคือก่อนที่จะตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน บริษัทต้องพยายามหามาตรการอื่นๆ ที่สามารถทำได้ก่อน
สิทธิประโยชน์ในช่วงที่ยังไม่มีงานใหม่
นอกเหนือจากได้รับเงินชดเชยจากบริษัทกรณีถูกเลิกจ้าง ยังมีสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ม.33 รองรับอยู่ ซึ่งเป็นการจ่ายให้ “ทุกกรณี” ไม่ว่าจะลาออกเอง หรือถูกเลิกจ้าง โดยสามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานได้ตามขั้นตอน ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน หรือจุดบริการสำนักงานประกันสังคม
สำหรับเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ได้แก่
- เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน (ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน)
- ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์ภายใน 30 วันเพื่อรักษาสิทธิ
- รายงานตัวผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
- มีความพร้อม สามารถทำงานที่จัดหาให้ได้
- ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน ไม่ใช่การถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุต่อไปนี้ทุจริต, ทำผิดกฎหมายอาญา, จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย, ฝ่าฝืนระเบียบขาดงาน 7 วันโดยไร้สาเหตุ, ประมาทจนทำให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง, ติดคุก
- ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีแก่ชรา ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
สิทธิประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ม.33 จะแบ่งออกได้เป็นสองกรณี ได้แก่
- ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 180 วัน/ปี
- ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงิน 30% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุด 90 วัน/ปี
โดยสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินรายเดือนผ่านทางบัญชีที่ระบุไว้ตอนขึ้นทะเบียนอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
ในชีวิตเรามักจะเจอกับเหตุไม่คาดฝันอยู่เสมอ งานที่ทำอยู่ดีๆ วันหนึ่งเราก็อาจไม่ได้ไปต่อ ในฐานะคนทำงานเราไม่ควรประมาทและเตรียมความพร้อมแผนสำรองไว้เผื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน รวมถึงศึกษาข้อมูลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเราเองด้วย
ฝากโปรไฟล์กับบริษัท Recruitment Agency เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ที่ใช่มากกว่าเดิม และพร้อมเป็น “เปล” รองรับในวันที่คุณสะดุดล้มเปลี่ยนเรื่องใหญ่ให้เล็กลงด้วยผู้ช่วยที่ใช่
อ้างอิงจาก: