วิธีตอบคำถามสัมภาษณ์งาน อะไรคือผลงานที่ดีที่สุดของคุณ
ที่ผ่านมาเคยมีใครถามเกี่ยวกับ “เพลงโปรด” หรือ “หนังเรื่องโปรด” ในดวงใจไหม ตอนนั้นคุณให้คำตอบไปแบบเด็ดขาดในทันที หรือว่าต้องใช้เวลาตัดสินใจสักพักถึงจะเลือกได้
“ความลังเล” ถือเป็นธรรมชาติที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่แรกและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวินาทีที่ใช้ชีวิตในแต่ละวัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการตัดสินใจว่า “มื้อนี้กินอะไรดี” ซึ่งเราจะลังเลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและพื้นฐานนิสัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน
กับการสัมภาษณ์งาน มีโอกาสสูงที่เราจะเจอคำถามในลักษณะเช่น “ผลงานที่ดีที่สุดของคุณคืออะไร” ซึ่งหน้าที่ของเราคือตัดสินใจเลือกแค่หนึ่งอย่างจากคลังประสบการณ์ที่มีผลงานอยู่มากมาย ถ้ามองผิวเผินอาจรู้สึกว่าคำถามนี้ก็ไม่น่าจะตอบยากอะไร ก็แค่เลือกผลงานสักชิ้นที่เรารู้สึกว่านี่แหละเจ๋งที่สุดแล้ว
แต่ถ้าลองวิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้นจะเกิดคำถามตัวโตๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ที่สุด” ของเรา จะเป็นคำตอบที่ “เข้าเป้า” และน่าประทับใจมากที่สุดสำหรับนายจ้าง ในบทความนี้ Reeracoen Thailand จึงมีแนวทางช่วยพัฒนาคำตอบให้เข้าเป้าและเพิ่มโอกาสได้งานมาฝากกันครับ
ทำไมนายจ้างถึงถามคำถามนี้
ทุกคำถามสัมภาษณ์งานที่บริษัทเลือกนำมาใช้ ล้วนมีความหมายและวัตถุประสงค์ในตัวของมันเองเสมอ เวลาที่องค์กรจะตัดสินใจจ้างใครสักคน
พวกเขาต้องมั่นใจว่าผู้สมัครคนนั้น “เข้ากันได้” ทั้งกับตัวงาน และในระดับภาพรวมขององค์กรด้วย ทำให้ “ผลงาน” ที่เราเลือกนำมาตอบจะแสดงออกว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และวิธีการที่ทำให้ผลงานชิ้นนั้นๆ สำเร็จขึ้นมาได้จะตอบถึงสไตล์การทำงาน วิธีการตั้งเป้าหมาย รวมถึงเรานิยามคำว่า “ความสำเร็จ” ไว้แบบไหน
เลือกผลงานอย่างไรให้คู่ควรกับคำว่า “ที่สุด”
- วิเคราะห์เป้าหมายขององค์กร
วิธีเลือกควรเป็นผลงานที่เจาะไปยังความคาดหวังขององค์กร สอดคล้องกับเป้าหมายที่บริษัทกำลังต้องการ โดยอิงจากการวิเคราะห์เหตุผลในการจ้างงานตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งสามารถถอดรหัสได้ตั้งแต่ Job description รวมถึงทำการบ้านหาข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์องค์กร ไม่ว่าจะด้วยเว็บไซต์บริษัท บทสัมภาษณ์ผู้บริหารในคลิปวิดีโอในกรณีที่หางานผ่านตัวแทนอย่างเอเจนซีจัดหางาน เราสามารถสอบถามกับทาง Recruiter ที่มักจะมีข้อมูล Insight เป็นคำแนะนำให้กับผู้สมัครเพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายขององค์กรได้โดยตรง
- ผลงานที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกับองค์กรมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใน Job description หรือข้อมูลที่ไปทำการบ้านมาระบุว่าองค์กรให้ความสำคัญกับ “การมีภาวะผู้นำ” ผลงานที่นำมาตอบ ก็ควรมีเราเป็นคนริเริ่มให้เกิดโปรเจกต์นั้นๆ หรือถ้ามีประสบการณ์ในลักษณะของผลงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง สามารถวัดผลได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้ชัดเจนก็นับว่าเป็นคะแนนโบนัสเพิ่มความน่าสนใจได้อย่างดี
ในกรณีผู้สมัครที่อาจไม่มีผลงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง สามารถใช้วิธีทดแทนด้วยผลงานที่น่าสนใจ
- ผลงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
เลือกความสำเร็จที่มีอิมแพคต่อองค์กรในเชิงบวก สามารถจับต้องได้ หรือมีเกณฑ์ชี้วัดในเชิงตัวเลข - บทบาทการมีส่วนร่วมกับทีม
ถ้ามีประสบการณ์ช่วยให้คำแนะนำกับเพื่อนร่วมงาน หรือเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล onboard พนักงานใหม่ก็เป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจในสายตาขององค์กรเช่นกัน - ช่วยพัฒนาระบบในองค์กรให้ดีขึ้น
อาจฟังดูเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เรากำลังพูดถึงไม่มากแต่ถือว่ามีคุณค่าสำหรับองค์กรอย่างยิ่ง เพราะการมองเห็นปัญหาและพยายามที่จะแก้ไขแสดงออกถึงคุณสมบัติการทำงานเชิงรุก (Proactive) ที่ไม่ได้เป็นแค่พนักงานที่ “รอคำสั่ง” อย่างเดียว แต่เป็นคนที่มองหาวิธีการพัฒนางานให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นทัศนคติเชิงบวกที่บริษัทไหนก็ต้องการ
เล่าให้เรื่องทัชใจด้วยหลักการ S.T.A.R
หลังจากที่เราเลือก “หัวข้อ” ของเรื่องที่ดีได้เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อมาคือการเรียบเรียงด้วยทักษะการสื่อสาร เนื่องจากบรรยากาศที่กดดันอาจทำให้หลายคนเกร็งและเมื่อเราคุมสติไม่อยู่ ก็จะลำดับความคิดออกมาได้ไม่ดี ดังนั้นการถ่ายทอดเรื่องราวที่มีใจความครบถ้วนสมบูรณ์จะต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้น และไล่เรียงปัญหา รวมถึงวิธีแก้และผลลัพธ์ ซึ่งเคล็ดลับคือในทุกๆ เรื่องราวควรจะมี “จุดต่ำสุด” และ “จุดสูงสุด” เพื่อทำให้เรื่องราวของเราน่าติดตามไปจนถึงตอนจบ
โดยหลักการ S.T.A.R คือการกำหนด “โครงสร้างการตอบคำถาม” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่พูดไม่เก่ง สามารถตอบคำถามสัมภาษณ์งานได้ดีขึ้น มาจาก 4 ตัวอักษรได้แก่
- S: Situation (สถานการณ์)
- T: Task (หน้าที่ที่รับผิดชอบ)
- A: Action (ทำวิธีไหน อย่างไร)
- R: Result (ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น)
ติดตามอ่านเทคนิคการตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้กระชับ ตรงประเด็น ไม่ออกทะเลด้วยหลักการ S.T.A.R ต่อได้ที่นี่
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: https://shorturl.at/evDNO