Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

แนะนำ 9 คำถามสำหรับผู้สมัครถ้าไม่อยากเข้าไปเฟลกับงานใหม่

  • Home
  • Interview Guideline
  • แนะนำ 9 คำถามสำหรับผู้สมัครถ้าไม่อยากเข้าไปเฟลกับงานใหม่

Select Category

แนะนำ 9 คำถามสำหรับผู้สมัครถ้าไม่อยากเข้าไปเฟลกับงานใหม่

รอมาตั้งนานในที่สุดก็มี HR โทรมานัดเข้าสัมภาษณ์ แต่จะให้เราเข้าไปเป็นฝ่ายคอยตอบอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะหัวใจสำคัญของการสัมภาษณ์งานก็คือการ ‘แลกเปลี่ยนข้อมูล’ ระหว่างสองฝ่ายเพื่อทำความรู้จักกันทั้งบริษัทนายจ้างและฝั่งผู้สมัคร ดังนั้นนอกจากจะเข้าไปให้ HR ได้รู้จักเรามากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งเราก็ควรได้ทำความรู้จักกับองค์กรด้วยเช่นกันและการเตรียม ‘คำถามที่ดี’ เข้าห้องสัมภาษณ์ไปด้วยก็จะทำให้เราได้ข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก-ใหญ่ หรืออะไรที่ยังค้างคาใจอยู่ รวมถึงเป็นการ ‘ต่อเวลาพิเศษ’ ให้ได้พรีเซนต์ตัวเองอีกด้วย Reeracoen Thailand ขอแนะนำ 9 คำถามสำหรับผู้สมัครถ้าไม่อยากเข้าไปเฟลกับงานใหม่

1) ลักษณะของทีมที่จะไปร่วมงานเป็นอย่างไร

ในการทำงานเราไม่สามารถเป็นฮีโร่ฉายเดี่ยวที่จะสำเร็จงานโปรเจกต์ใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าคนที่เราจะต้องใกล้ชิดนั้นเป็นอย่างไรมีวิธีการทำงานหรือมีวัฒนธรรมเป็นแบบไหนเพื่อปรับตัวเบื้องต้นก่อนจะเข้าไปร่วมงานจริง นอกจากนี้การแสดงออกว่าให้ความสำคัญต่อ ‘ทีม’ สื่อถึงการเป็น Team player ที่จะทำงานกับคนอื่นได้ดี รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำที่รู้จักการบริหารคนหมู่มากให้ทุกส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

2) เป้าหมายสำคัญที่วางไว้ในปีนี้คืออะไร

ในฐานะพนักงานใหม่ เรามีโอกาสที่จะย้ายงานไปเจอกับความเปลี่ยนแปลงแบบพอดิบพอดี เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่การเปิดรับสมัครงานนี้อาจเกิดขึ้นบน ‘แผนงานใหม่’ ขององค์กร ดังนั้นการรู้ถึงเป้าหมายอันชัดเจนภายในปีนั้นๆ จะทำให้เรามองสถานการณ์ ตลอดจนเป้าหมายและอุปสรรคที่ตำแหน่งงานนี้อาจจะต้องรับมือได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

3) เห็นภาพองค์กรนี้เป็นอย่างไรในอีก 3 ปี

ปกติเรามักจะเป็นฝ่ายถูกถามด้วยคำถามดังกล่าว ซึ่งสำหรับบางคนเป็นอะไรที่ตอบยากมากๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้อนาคตเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ แต่สำหรับองค์กร ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องตอบได้เพราะเป็นหลักประกัน ‘ความมั่นคง’ ของพนักงานดังนั้นองค์กรที่ดีจึงต้องเตรียมแผนงานไว้รองรับ นอกจากนี้ การสอบถามถึงอนาคตที่มากกว่าแค่ 1-2 ปี ยังเป็นการสื่อสารว่าเรามองหาที่ทำงาน ‘ระยะยาว’ สอดคล้องกับเป้าหมายของนายจ้างที่ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนคนทำงานบ่อยๆ ด้วย

4) มีความคาดหวังต่อเราภายใน 120 วันแรกยังไงบ้าง

ส่วนใหญ่ 120 วันแรกคือช่วงเวลา ‘ระยะทดลองงาน (probation)’ ซึ่งถ้าทำผลได้งานน่าประทับใจก็สามารถไปต่อได้ยาวๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากทำได้ไม่ตรงกับความคาดหวัง ก็เก็บกระเป๋าแล้วเริ่มสมัครงานใหม่ได้ทันที ดังนั้นการรู้ถึงความคาดหวังในช่วง 120 วันนี้จึงสำคัญต่อจุดเริ่มต้นของพนักงานใหม่ทุกคนและทางที่ดีคือขอความชัดเจนจากองค์กรตรงๆ เพื่อวางแผนงานให้เหมาะกับเป้าหมายมากที่สุด

5) สิ่งแรกที่อยากให้สำเร็จภายใน 6 เดือนคืออะไร

หลังจากผ่านช่วงทดลองงาน 120 วันแรก อีกหนึ่งจุดปักธงก็คือระยะเวลา 6 เดือนต่อมาซึ่งถือว่าได้ ‘ทำงานจริง’ มาเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อคุ้นชินกับงานตามหน้าที่ก็ควรเริ่มมีผลงานอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาด้วย เช่นเดียวกับความคาดหวังในช่วง 120 วันแรก สิ่งองค์กรคาดหวังไว้นั่นแหละคือเป้าหมายอันดับหนึ่งหรือถ้างานที่ได้รับเริ่มเข้ามืออย่างเต็มที่แล้วก็อาจเสนอตัวเลือกอื่นๆ จากมุมมองใหม่ๆ ได้เช่นกัน

6) มีวิธีชี้วัดความสำเร็จจากอะไร

บริษัทแต่ละที่ย่อมมีมุมมองและวิธีการวัดผลที่ต่างกัน บางบริษัทอาจใช้ ‘ตัวเลข’ ชี้วัดผลงาน บางแห่งอาจพิจารณาจาก ‘อิมแพค’ ต่อองค์กร ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ก่อนเข้าไปเริ่มงานเพื่อวางแผนทำผลงานให้สอดคล้องกับแนวทางนั้นๆ รวมถึงช่วยให้ปรับตัวเข้ากับระบบได้ง่ายขึ้นด้วย

7) มีวิธีการพัฒนาผู้นำองค์กรอย่างไร

นอกเหนือจากเงินและผลตอบแทนอื่นๆ สิ่งที่เราจะได้จากการทำงานคือ ‘การเติบโต’ ดังนั้นเราต้องพยายามเลี่ยง dead-end job ซึ่งดูออกได้จากแนวทางการพัฒนาบุคคลในบริษัทนั้นๆ ว่าให้ความสำคัญหรือมีพื้นที่ให้ได้ก้าวหน้าหรือไม่ ถือเป็นหน้าที่ที่องค์กรต้องสร้างคนให้มีคุณภาพ ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรต่อไปได้ในอนาคตเราจึงควรถามถึง ‘อัตราการโปรโมตพนักงาน’ วิธีการสืบทอดตำแหน่ง (succession planning) รวมถึงโปรแกรมเทรนนิ่งพนักงาน เพื่อดูว่าเราจะได้เติบโตแบบไหน อย่างไร เมื่อไร

8) บริษัทช่วยบริหาร work-life balance ให้พนักงานยังไง

แน่นอนว่าไม่มีบริษัทไหนไม่ทำงานหนัก เพียงแต่องค์กรที่น่าอยู่จะรู้วิธีบริหารจัดการภาระงานที่ดี นอกจากถามถึง ‘วิธีการ’ ที่เป็นคอนเซปต์ของการบริหาร อาจขอตัวอย่างสถานการณ์ที่ได้นำวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้ให้รู้ว่านอกจากจะมีแนวทางแล้ว ยังสามารถใช้ได้จริงด้วย เช่น บริษัทเลือกใช้นโยบาย hybrid working เพื่อให้พนักงานมีเวลาได้จัดการตัวเองมากขึ้น

9) ตำแหน่งงานนี้เปิดรับสมัครมานานหรือยัง

ถ้ายัง มีอะไรที่อยากให้สานต่อหรือเปลี่ยนแปลงจากคนก่อนไหม เพราะข้อมูลที่แชร์จากการทำงานจริงที่ผ่านมาเช่นนี้มีประโยชน์โดยตรงต่อการวางแผนก่อนเริ่มงานจริงจะได้กำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับความคาดหวังให้ดีที่สุด

แต่ถ้าผ่านมาสักพักแล้ว อะไรคือเหตุผลที่ยังไม่ได้คนใหม่ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราได้รู้ถึงสาเหตุเบื้องหลังที่ทำไมงานนี้เปิดรับมานานก็ยังไม่ได้คนใหม่สักที เช่น เพราะเนื้องานมีความท้าทายที่ค่อนข้างยากหรือเหตุผลอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของเราต่อจากนี้

เพื่อคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนถึงวันนัดหมายสัมภาษณ์งานควรมีการศึกษาข้อมูลองค์กรอย่างละเอียดแล้วหาว่าจุดไหนบ้างที่อยากได้ข้อมูลมากกว่านี้ แต่ละคำถามจะได้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนข้อควรระวังคือไม่ควรถามนายจ้างซ้ำอีกครั้งในกรณีที่เรื่องนั้นๆ มีข้อมูลชัดเจนหรือเคยแจ้งไว้แล้วเพราะจะเป็นการบ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจได้เช่นกัน

อ่านบทความเพิ่มเติม:

สถิติการเลือกใช้ ‘คำพูด’ ที่แยกระหว่างผู้สมัครที่ดี และคนที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์

Bonus and Bounce! คิดย้ายงานหลังได้โบนัส เป็นไอเดียที่ดีหรือมีอะไรต้องระวังบ้าง?

ฝากโปรไฟล์สมัครงานผ่าน Reeracoen Thailand

แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3ScrG53

Related Posts