Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

4 วิธีสังเกตและป้องกันอนาคตเมื่อบริษัทคุณอาจมีแผน Layoff พนักงาน

  • Home
  • General Topic
  • 4 วิธีสังเกตและป้องกันอนาคตเมื่อบริษัทคุณอาจมีแผน Layoff พนักงาน

Select Category

4 วิธีสังเกตและป้องกันอนาคตเมื่อบริษัทคุณอาจมีแผน Layoff พนักงาน

ช่วงปลายปี – ต้นปีเป็นเวลาที่ดีของการมองหางานก็จริง แต่ในอีกมุมสำหรับองค์กรก็อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เลวหากต้องการจะ “เปลี่ยนแปลงทีมงาน” ด้วยสถิติในปี 2023 พบว่า เดือนมกราคมครองตัวเลขจำนวน “คนตกงาน” มากที่สุดที่เกือบๆ 60,000 คนเมื่อเทียบกับแต่ละเดือนในปี 2022 ทั้งหมดที่ผ่านมา (อ้างอิงข้อมูลจากสำนัก Layoffs.fyi) ทำให้อนาคตกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเราได้เห็นการปลดพนักงานในหลายบริษัทใหญ่กันมาตลอดทั้งปี รวมถึงการเข้ามาของ AI ที่ก่อให้เกิดคำถามมากมาย คนทำงานจึงยากที่จะเชื่อมั่นในความมั่นคงของตัวเอง วันดีคืนดีอาจตื่นขึ้นมากลายเป็นคนตกงานได้ทุกเมื่อ

ถึงแม้อนาคตจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่การรู้จักสังเกตสถานการณ์ปัจจุบันก็ทำให้เราสามารถเตรียมรับมือได้อย่างทันเวลา คุณ Mark Murphy ผู้ก่อตั้ง Leadership IQ ได้พูดถึง 4 สัญญาณเตือนภัยที่อยู่นอกเหนือจากปัจจัยหลักๆ อย่างงบการเงิน ผู้นำทยอยลาออก มีการปรับโครงสร้างองค์กรว่ามีข้อสังเกตอะไรอีกบ้างก่อนที่หายนะครั้งใหญ่จะมาเยือน

สถานการณ์ภาพรวมขององค์กร

เมื่ออ้างอิงผลสำรวจโดย Leadership IQ พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าองค์กรสื่อสารกับพวกเขาแบบตรงไปตรงมาในทุกๆ เรื่อง (โดยมีเพียง 15% จาก 27,000 คนเท่านั้นที่เชื่อ) ดังนั้นหากมีสถานการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นภายในองค์กร เช่น รายได้ไม่ตามเป้า บัญชีเริ่มติดลบ ฯลฯ พนักงานก็จะไม่ค่อยมีสิทธิได้รับรู้และเมื่อเรื่องร้ายๆ กลายเป็น “ความลับ” จึงหมดสิทธิที่จะเตรียมตัวรับแรงกระแทก

อย่างไรก็ตามแม้มนุษย์เงินเดือนทั่วไปอย่างเราๆ จะไม่ค่อยมีสิทธิได้เข้าถึงความลับสำคัญชิ้นใหญ่ แต่ก็มีอีกหนึ่งวิธีจับสังเกตจาก “การสื่อสาร” และ “การจัดการ” จากบรรดาทีมผู้บริหารข้างบนที่มีข้อมูลในมือเยอะกว่า เช่น เปลี่ยนแนวทางไปรัดเข็มขัดมากขึ้น ประหยัดเงิน ตัดงบ ลดต้นทุน หรืออื่นๆ ที่บ่งบอกถึงสภาพคล่องที่ไม่สู้ดี

ท่าทีของหัวหน้าที่เปลี่ยนไป

โดยทั่วไป หัวหน้าราวๆ 50% มักมีวิธีการทำงานที่เน้นไปกับการสร้างสัมพันธ์ในทีมให้ใกล้ชิดกันทั้งด้านการทำงานและความสนิทสนม ดังนั้นสังเกตได้ง่ายๆ หากเมื่อก่อนหัวหน้าของเราเคยสนุกสนาน แต่ปัจจุบันดูเงียบๆ และเฉยชาโดยที่ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าได้รับรู้บางอย่างแต่บอกใครไม่ได้

เมื่อก่อนทำแล้วดี แต่ตอนนี้กลับแย่

จากสิ่งที่เมื่อก่อนทำแล้วได้รับคำชมสม่ำเสมอแต่ปัจจุบันผลลัพธ์กลับกลายเป็นตรงกันข้ามแม้จะทำเหมือนเดิม นี่อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณว่ามีบางอย่างในกอไผ่เกิดขึ้นซึ่งเป็นการ “ปูทาง” ไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อผลงานเราไม่ดี ได้รับแต่ Feedback แย่ๆ ก็หมายความว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้สร้างประโยชน์ให้องค์กรอีกต่อไป

เปลี่ยน “หัวเรือ” และรูปแบบการบริหาร

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ก็เปรียบเสมือนการผ่าตัดใหญ่ขององค์กร เนื่องจากผู้นำคนใหม่อาจเข้ามาทำให้ทิศทางของธุรกิจเปลี่ยนไป แนวทางการทำงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วยเช่นกัน ซึ่งบางครั้งอาจรวมไปถึง “ทีมงาน” ที่ต้องถูกรีเซตใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานในอนาคตมากที่สุด

เมื่อรู้จักสัญญาณแล้วต่อมาคือ “วิธีป้องกัน” รวมถึงแก้ไข

หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นจริงๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล

  • อัปเดตชุดทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเอง

    หนึ่งในสาเหตุที่พนักงานจำนวนมากไม่ได้ไปต่อกับองค์กร นอกเหนือจากปัญหาด้านโครงสร้างเงินเดือน (เงินไม่พอจ้าง) คือการถูกพิจารณาว่าคุณสมบัติเข้าข่าย “ไปต่อไม่ได้” กับทิศทางใหม่ ไม่คุ้มเสี่ยงที่องค์กรจะแบกรับและให้เวลาเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือการหมั่นพัฒนาตัวเอง ศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ และทิศทางของบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกเพื่อจับจุดให้เจอว่าหากจะไปต่อในอนาคต เรายังขาดส่วนไหนอยู่ มีทักษะอะไรที่จำเป็นต้องเรียนรู้ รวมถึงกล้าที่จะบอกลาทักษะที่ “ตกยุค” ไปแล้วด้วย

  • จับมือกับคอนเนกชันของตัวเองไว้ให้แน่น

    คอนเนกชันเบื้องต้นที่ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกลก็คือ “เพื่อนร่วมงาน” ณ ตอนนี้ ซึ่งนอกจากทำงานร่วมกัน มิตรภาพที่ดียังอาจสามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ในอนาคต เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีอดีตเพื่อนร่วมงาน ที่ติดต่อมาเชิญชวนให้ไปทำงานร่วมกันบ้างไม่มากก็น้อยเนื่องจากรู้มือกันดี ทำงานด้วยกันได้ ไม่ต้องเสียเวลาปรับตัว หากได้มาร่วมงานกันอีกครั้งก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ซึ่งนี่แหละคือพลังของคำว่า “คอนเนกชัน”

    นอกจากเพื่อนร่วมงานแล้วอีกหนึ่งวิธีก็คือ “บริษัทจัดหางาน” ที่มักจะเป็นผู้เล่นอันดับแรกๆ ที่องค์กรมองหาหากต้องการจ้างงาน ดังนั้นการมีคอนเนกชันที่ดีกับบริษัทจัดหางานชั้นนำก็สามารถดึงโอกาสเหล่านั้นเข้ามาหาตัวได้เร็วกว่าคนอื่นๆ

  • รักษาทัศนคติที่เป็นบวก

    นอกจากทักษะการทำงาน สิ่งที่องค์กรไม่เคยลดลำดับความสำคัญคือ “ทัศนคติที่ดี” ของพนักงาน ซึ่งเป็นรากฐานของความสำเร็จ ตลอดจนผลงานที่ดีและวัฒนธรรมที่เป็นมิตร นอกจากนี้แม้ว่าการ layoff จะเป็นสถานการณ์ที่ใครๆ ก็ต้องเครียด แต่ทัศนคติที่ดีนี่แหละที่จะคอยทำให้เรามองเห็นด้านดี หาลู่ทางอื่นๆ เพื่อไปต่อให้ได้แบบคนที่ไม่ยอมแพ้และพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

  • คว้าโอกาสจากช่วงเวลาวิกฤติ

    ในทุกช่วงเวลาวิกฤติ เรามักจะต้องการแสงสว่างมาชี้ทาง ซึ่งองค์กรเองก็ต้องการผู้นำมาฝ่าช่วงเวลาร้ายๆ นี้เช่นกัน และดีที่สุดก็คือทำให้คนคนนั้นคือ “ตัวเราเอง” ดังนั้นคนทำงานที่มีคุณสมบัติผู้นำ สามารถชักจูงคนรอบข้างให้เดินตามได้ รวมถึงวางวิสัยทัศน์ในทิศทางใหม่ๆ ที่เป็นผลดีต่อองค์กร ก็มักจะได้รับการมองว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและยากที่จะสูญเสียอาชีพการงานไปในช่วงเวลาดังกล่าว

สรุป

จากสถานการณ์ปัจจุบันเราจะพบการ layoffs ที่เกิดบ่อยขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากการ “ปรับตัว” ขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นในฐานะคนทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เราเองก็ต้องรู้จักเรียนรู้และปรับตัวตามเช่นกัน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ความยืดหยุ่น” ประกอบกับทัศนคติที่ดีและกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เรามีเส้นทางให้ไปต่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
ฝากโปรไฟล์พร้อมมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์และตรงใจมากขึ้น

ฝากโปรไฟล์สมัครงานผ่าน Reeracoen Thailand

แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/3TlPup3

https://bit.ly/3TlLy7P

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:

http://bit.ly/3zYts14

https://bit.ly/3zW9PqH

https://bit.ly/41kNcsv

Related Posts