เรซูเม่สมัครงานทำแบบไหนดี สำรวจข้อผิดพลาดที่จะทำให้เราไม่ได้งาน
ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหนไม่เข้าใจเลยสักครั้ง สมัครงานไปตั้งหลายที่อัดประวัติการทำงานแน่นๆ ลงในเรซูเม่ก็ยังไม่ได้งานสักที ปัญหาเป็นเพราะเราดวงไม่ดี ไม่มีความสามารถ เอ๊ะหรือว่ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับ “เรซูเม่” ของเรากันแน่
ทุกคนคงรู้กันดีว่าเรซูเม่คือใบเบิกทางให้องค์กรสนใจเวลาที่เราต้องการสมัครงานสักแห่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นด่านแรกที่ชี้ชะตาได้เลยว่าเราจะมีโอกาสคว้างานนั้นไว้หรือต้องอกหักแล้วมองหางานใหม่ในอนาคตต่อไป เชื่อไหมจากประสบการณ์ที่ Reeracoen Thailand เป็นตัวกลางระหว่างองค์กรกับผู้สมัครมากว่า 10 ปีจนได้เห็นข้อผิดพลาดที่ผู้สมัคร “เข้าใจว่าดี” แต่ไม่ใช่กับสายตาของ HR หรือคนอ่านใบสมัคร
ดังนั้นเราจึงรวมจุดบอดยอดฮิตที่ผู้สมัครมองข้ามและคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ (ทั้งๆ ที่ความจริงสำคัญมาก)
1) รูปถ่าย
แม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายคนเริ่มเลิกใส่รูปภาพลงในเรซูเม่ด้วยเหตุผลว่า “รูปลักษณ์ภายนอก” ไม่ได้มีผลต่อการทำงาน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ข้อดีของการใส่รูปในเรซูเม่คือการ “แสดงตัวตน” ให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักในเบื้องต้นว่าเราคือใครก่อนเข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์
โดยข้อผิดพลาดที่พบเจอบ่อยก็คือการเลือกใช้รูปที่ผู้สมัครมองว่า “ดูดี” แต่ความจริงอาจไม่เหมาะสมในสายตาของ HR ซึ่งบางครั้งอาจถึงขั้น ไม่พิจารณาอ่านใบสมัครไปเลยก็มี ดังนั้นในกรณีที่ใส่รูปภาพลงในเรซูเม่ควรใช้เป็นรูปถ่ายหน้าตรง ชุดสภาพ ฉากหลังเรียบ แสดงออกถึงความพร้อมในการทำงานแทนที่ของการใช้รูปอะไรก็ได้ตามใจชอบ (ปล. อย่าลืมตรวจสอบความเหมาะกับงานที่สมัครด้วยนะ)
2) ภาพรวม Profile
ข้อนี้สำคัญมากโดยเฉพาะกับปัจจุบันที่การแข่งขันสูง การสมัครงาน 1 ตำแหน่งอาจมีคู่แข่งมากถึง 10 – 100 คนทำให้ HR ต้องสแกนอ่านแบบเร็วๆ ซึ่งจุดที่จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดก็คือภาพรวม Profile (Professional Summary) เพื่อทำการคัดกรองคุณลักษณะเบื้องต้นและอาจชี้ชะตาได้เลยว่าเราใช่หรือไม่ใช่
ข้อมูลที่ควรจะต้องมีก็คือความชัดเจนและความโดดเด่น ตอบให้ได้ตั้งแต่ 1 ย่อหน้าว่าทำไมเราถึงเหมาะกับตำแหน่งงาน วางเป้าหมายที่ต้องการสำเร็จ รวมถึงเลือกใช้ Keywords ชุดทักษะที่ตรงกับการทำงานตาม Job Description เพื่อง่ายต่อการทำงานของ HR มากที่สุดโดยเฉพาะบริษัทที่มีระบบ AI คอยช่วยตรวจจับคีย์เวิร์ดเหล่านี้ด้วย
3) รายละเอียดทักษะ (Skills)
จุดที่บ่งบอกถึงความสามารถของตัวเองและควรอธิบายให้เข้าใจมากที่สุดแต่หลายคนเลือกใส่ “ค่าพลัง” มาเป็นแท่ง ทำให้ฝ่ายคนอ่านไม่สามารถรับรู้ได้ว่าค่าพลังมาก-น้อยที่ว่ามาใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด เราสามารถใช้การอธิบายชุดทักษะด้วยลักษณะของเนื้องานว่าทำอะไรได้บ้างเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจมากขึ้น แต่ข้อควรระวังก็คือไม่จำเป็นต้องระบุถึงทักษะทุกอย่างที่มีเลือกที่จำเป็นต้องมีหรือเกี่ยวข้องกับงานที่สมัครก็เพียงพอ
4) ประวัติการทำงาน
เป็นที่เข้าใจกันว่ายิ่งใส่เยอะๆ ยิ่งดี รวมถึงทำแบบกลางๆ ไว้เผื่อสมัครได้หลายที่ แต่ความจริงควรเน้นเฉพาะเรื่องที่ตรงจุดถึงจะยิ่งน่าสนใจในสายตาขององค์กร นอกจากนี้แทนที่จะอธิบายถึงเนื้องานที่รับผิดชอบเปลี่ยนเป็นระบุถึง “ความสำเร็จ” จากงานที่ทำ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมองเห็นภาพปลายทางของสิ่งที่จะได้จากตัวเรา และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
5) การใช้ Keywords ที่สำคัญ
เมื่อต้องพิจารณารับสมัครพนักงานสิ่งที่ HR หรือ Recruiter จะมองหาเป็นอันดับแรกก็คือ Keywords ต่างๆ ที่สอดคล้องกับหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ทั้งชุดทักษะที่จำเป็นและชื่อตำแหน่งงาน เพื่อง่ายต่อการมองเห็นของผู้อ่าน เช่น เราต้องการสมัครงานในตำแหน่ง Content Writer ก็ควรใส่ทักษะอย่างการเขียน การอ่าน การสื่อสารหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและสำคัญกับหน้าที่หลักลงไปด้วย โดยเราสามารถระบุให้ชัดเจน ยังตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ อาทิ คำอธิบายใต้ชื่อ ประวัติการทำงาน หรือภาพรวมโปรไฟล์ที่ HR หรือ Recruiter จะต้องอ่านอยู่ตลอด
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ไม่ควรทำในเรซูเม่ ได้แก่
- ทำ Resume แบบกลางๆ เผื่อสมัครหลายที่
- ข้อมูลที่ “ไม่เกี่ยวข้อง” เยอะเกินไป
- ใช้ “ค่าพลัง” กับระดับ Skill ที่มี
และสิ่งที่ควรทำ ได้แก่
- กำหนดเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน
- ตรวจสอบความถูกต้องและการสะกดคำ
- บ่งบอกถึง “ความสำเร็จ” ที่โดดเด่น
นอกจากเทคนิคที่เราได้นำมาฝากกันข้างต้นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำเป็นประจำก็คือการ “อัปเดต” เรซูเม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเวลายังใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 6 เหตุผลทำไมเราควร “อัปเดตเรซูเม่” เป็นประจำ