Reeracoen Thailand Regional Blog

  • Job Seekers
  • Employers

เช็กลิสต์ 5 ข้อควรระวังก่อนสมัครงาน องค์กรแบบไหนที่ควร “เลี่ยง”

  • Home
  • General Topic
  • เช็กลิสต์ 5 ข้อควรระวังก่อนสมัครงาน องค์กรแบบไหนที่ควร “เลี่ยง”

Select Category

สมัครงาน ย้ายงาน จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่สามารถพาไปทั้งอนาคตที่สดใส และฝันร้ายบนโลกแห่งความเป็นจริง

เพราะเลือกผิด = ชีวิตเปลี่ยน แล้วคนทำงานควรรู้อะไรบ้างเพื่อป้องกันความผิดพลาดในอนาคต

วันนี้ Reeracoen Thailand นำ 5 ข้อควรพิจารณาที่คนทำงานคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจสมัครงานมาฝากกันครับ

เคยไหม ที่สมัครงานหรือย้ายงานไปด้วย “ความหวัง” แต่พอได้เข้าไปทำงานจริงๆ กลับเจอแต่ “ความพัง”

ทั้งปัญหาวัฒนธรรมองค์กร เนื้องาน เพื่อนร่วมทีม หรือแม้กระทั่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพาเสียทั้งเวลา สุขภาพจิต และ “โอกาส” ที่เราอาจได้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เพราะถูกดึงดูดด้วย “ด้านดี” ที่องค์กรเสนอให้

จนหลงลืมที่จะเช็กข้อมูลสำคัญให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงาน หรือย้ายงาน

5 ข้อสำคัญที่ควรรู้และพิจารณาก่อนตัดสินใจสมัครงาน

1. ข้อมูลและชื่อเสียงองค์กร

ก่อนสมัครงาน หรือเริ่มงานในบริษัทใดก็ตาม เราก็ควรทำความรู้จักกับบริษัท หรือตัวงานก่อน เพื่อศึกษาทำความคุ้นเคยล่วงหน้า

ไม่ว่าจะเป็นจากโซเชียลมีเดียขององค์กร เว็บไซต์หรือมุมมองของคนที่เคยมีประสบการณ์ว่าพูดถึงบริษัทนี้อย่างไร

แต่ถ้าหากองค์กรนั้น “ไม่มีข้อมูล” หรือ “ถูกพูดถึงในแง่ลบเป็นประจำ” ก็เป็นจุดที่ควรระวังและให้ความสนใจ

เพราะอาจเกิดปัญหากับตัวเราได้ในอนาคต ไม่ว่าจะในทางการทำงาน หรือร้ายแรงกว่านั้น

เราสามารถตรวจสอบและศึกษาประวัติองค์กร ลักษณะงาน ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และช่องทางต่างๆ ว่าเป็นธุรกิจแบบไหน

ดำเนินการอย่างไร รวมถึงชื่อเสียงของบริษัทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อความถูกต้อง ของข้อมูลและความชัดเจนก่อนตัดสินใจเริ่มงาน พร้อมป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

2. วัฒนธรรม และการปฏิบัติต่อพนักงาน

ชีวิตการทำงาน นอกจากงานและค่าตอบแทน อีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนๆ มักจะให้ความสำคัญ

และคนทำงานควรพิจารณาก่อนสมัครงานและเริ่มงานก็คือ “วัฒนธรรมองค์กร”

เคยไหม เมื่อถึงวันนัดสัมภาษณ์แต่จู่ๆ นายจ้างก็แจ้งว่าไม่ว่างเข้าสัมภาษณ์ หรือกำลังสัมภาษณ์อยู่ดีๆ จู่ๆ ก็ลุกออกไปคุยโทรศัพท์

ปล่อยเรานั่งอยู่ในห้องแบบงงๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “ความเคารพ” และการให้ความสำคัญที่นายจ้างมีต่อพนักงาน

ซึ่งในอนาคตก็คงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้อีกเช่นกัน

แน่นอนว่าถ้าหากงานดี เงินดี แต่วัฒนธรรม Toxic ก็ย่อมส่งผลต่อความสุขในการทำงาน และเมื่อนานไปสุขภาพจิตก็ยิ่งทรุดโทรม

ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมลดน้อยถอยลงทั้งทางตรงและทางอ้อม จนสุดท้ายความ Toxic ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราอย่างไม่ทันตั้งตัว

ลองสังเกตพฤติกรรมทั้งคำพูด น้ำเสียง หรือการปฏิบัติของคนในองค์กรนั้นๆ ที่มีต่อกัน และการให้ความสำคัญของวัน เวลา

ความชัดเจนในการประสานงานเพื่อนัดสัมภาษณ์ ว่าองค์กรนั้นๆ ให้ความสำคัญกับเรามากน้อยแค่ไหน

3. ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องสำคัญ

ในการสัมภาษณ์หรือการพูดคุยก่อนที่จะตกลงสมัครงาน และทำงานร่วมกัน เราควรที่จะสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานและตัวเราให้ชัดเจน

และหากองค์กรมีทีท่าว่าไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลสำคัญทั้งที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือกระทบต่อตัวเรา

อาจหมายความว่าพวกเขาต้องการ “ปกปิดปัญหาบางอย่าง” ซึ่งมันจะกระทบต่อเราในอนาคต

ยกตัวอย่างกรณีผู้สมัครถามว่า “ไม่ทราบว่าทำไมตำแหน่งนี้ถึงเปิดรับเพิ่ม?” องค์กรทั่วไปก็น่าจะสามารถตอบได้ทันที

เช่น “มีงานเข้ามาเยอะขึ้น เลยต้องการขยายทีม” หรือ “เพราะคนเก่าย้ายออกไป จึงต้องหาคนมาแทน”

เพื่อให้ผู้สมัครหรือพนักงานใหม่ ได้ทำความเข้าใจเหตุผล รวมถึงวางแผนการทำงานของตัวเองให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น

ซึ่งในฐานะที่กำลังจะร่วมงานกัน ทั้งองค์กรและพนักงานควรเปิดกว้าง และแสดงความจริงใจแก่กันมากที่สุด

เพื่อความชัดเจนและประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะหากเปิดมาด้วยความคลุมเครือ

อนาคตข้างหน้าทั้งหน้าที่การงาน ความก้าวหน้า และความเข้าใจในด้านต่างๆ ก็ย่อมไม่ชัดเจนไปด้วย

4. พยายาม “ขายฝัน” แบบเกินจริง

เป็นธรรมดาที่นายจ้างที่อยากได้พนักงานที่มีความสามารถเข้ามาสมัครงาน จึงต้องพยายามผลักดัน ดึงดูดคนทำงานด้วยข้อดีของบริษัทตัวเอง

แต่ในฐานะคนทำงาน สิ่งที่เราควรตระหนักคือการนึกถึง “ความเป็นจริง” ว่านอกเหนือจากสิ่งที่องค์กรพยายาม “ขาย”

ยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกบ้างที่เราควรรู้ อาทิ ความกดดัน วัฒนธรรมองค์กร เพื่อนร่วมงาน หน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน

โดยเราอาจหาคำตอบด้วย “คำถามเจาะจง” เพื่อให้ได้ความชัดเจนจากองค์กรมากที่สุด เช่น

“ปริมาณงานต่อสัปดาห์ที่ต้องรับผิดชอบ”

“ชี้วัดประสิทธิภาพ หรือผลการทำงานด้วยอะไร”

“แผนในการขยายทีมเป็นอย่างไร” เป็นต้น

5. ไม่สามารถช่วยให้พนักงานมีโอกาสเติบโต

ก่อนตัดสินใจย้ายงาน หรือเซ็นสัญญากับองค์กร ควรศึกษาและสอบถามให้แน่ชัดถึงการภาพรวมของการทำงานจริง

และโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองควบคู่ไปกับเป้าหมายขององค์กร อาทิ

[] ลักษณะงาน

[] ความท้าทาย

[] แผนงานในอนาคต

[] โอกาสในการเติบโต

คงไม่ดีแน่ถ้าเราจะต้องทำงานไปวันๆ โดยที่ไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น หรือพาองค์กรประสบความสำเร็จ

เพราะหากสุดท้ายทั้งเราและองค์กรไม่พัฒนา วันหนึ่งก็จะกลายเป็นผู้แพ้ในตลาดการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้นทุกวินาที

สุดท้าย ลองสำรวจตัวเองกันก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงาน ย้ายงาน หรือเซ็นสัญญาเริ่มงานกับบริษัทใดก็แล้วแต่ วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย

และนึกถึง “โอกาส” ที่จะเสียไปหากไม่คิดอย่างรอบคอบและมองอย่างรอบด้านอย่างที่ควรจะเป็น เพราะโอกาสไม่ได้มีบ่อยๆ

และเราควรพิจารณาให้ดีที่สุดก่อนจะตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง

Related Posts